xs
xsm
sm
md
lg

ปากแฉะทุกปี! แบงก์ชาติแจงอย่าตกใจ ขาดทุนสะสม 1 ล้านล้าน ตัวเลขทางบัญชีไม่ใช่หนี้สาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดรามาราชกิจจานุเบกษาประจำปี รายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร สื่อหยิบตัวเลขไปเล่นทำชาวเน็ตตกใจตื่น ขาดทุนสะสม 1 ล้านล้านบาทนึกว่าชาติจะล่มจม แบงก์ชาติแจงจนปากแฉะอีกรอบ ยืนยันไม่ใช่หนี้สาธารณะ แต่เป็นการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน และดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถือเป็นเรื่องปกติที่เห็นตัวเลขแบบนี้

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตรเพื่ออนุวัติตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศรายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร รวมจำนวน 3 สัปดาห์

ได้แก่ งวดประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564 งวดประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564 และงวดประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยขาดทุนสะสม 1,069,366,246,596 บาท แนบท้ายประกาศนี้ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564 ลงชื่อ กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งผลทำให้เกิดความเข้าใจผิดในโซเชียลมีเดีย

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า จากที่มีการเผยแพร่เรื่องขาดทุนสะสมของแบงก์ชาติ มูลค่า 1.069 ล้านล้านบาท และนำมารวมเป็นหนี้สาธารณะของประเทศโดยอ้างถึงผลกระทบต่อผู้เสียภาษีอากรนั้น ขอเรียนว่ารายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงินของแบงก์ชาติและเป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลางในการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ เช่น การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนมากจนกระทบต่อการดำเนินงานภาคเอกชนและเศรษฐกิจ การดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนั้น กำไรหรือขาดทุนที่จะปรากฏในงบดุลของธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องปกติของการทำหน้าที่ตามพันธกิจ

โดยฐานะการเงินของธนาคารกลางเป็นผลจากการทำหน้าที่ตามพันธกิจ ซึ่งในแต่ละปีอาจเกิดกำไรและขาดทุน เช่น จากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นเงินบาท และจากต้นทุนการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง เป็นต้น ซึ่งตัวเลข 1.069 ล้านล้านบาทเป็นผลการขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นหลายปีไม่ใช่ของปีนี้ปีเดียว หนี้สินในงบการเงินของแบงก์ชาติไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วโลก ตามนิยามของ IMF ที่กำหนดมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินเพื่อการเปรียบเทียบและติดตามการทำนโยบายของสมาชิก


นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังเผยแพร่วีดีโอคลิปอินโฟกราฟฟิก "รู้จริงเศรษฐกิจไทย" เพื่ออธิบายถึงเรื่องนี้อีกด้วย โดยมีเนื้อหาก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่หลักคือ รักษาเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ และพิมพ์ธนบัตรให้พอกับความต้องการของคน การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็คือ ไม่ให้ราคาสินค้าผันผวน เกิดเงินเฟ้อ กระทบต่อการใช้จ่ายของคน และไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน จนกระทบต่อการนำเข้าและส่งออก เช่น เมื่อมีชาวต่างชาติต้องการลงทุนหรือซื้อสินค้าในไทย จะมีความต้องการใช้เงินบาทมากขึ้น ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเข้ามาดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งเร็วเกินไป ด้วยการขายเงินบาทและซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เข้ามา

และหากมีเงินบาทในระบบมากไป จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ เงินบาทมีมูลค่าน้อยลง เพราะใช้ซื้อของได้น้อยลง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องรักษากำลังซื้อของคน ด้วยการออกพันธบัตรเพื่อดูดเงินบาทออกจากระบบ และการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นนั้น ไม่สามารถพิมพ์เท่าไหร่ตามใจชอบได้ ต้องให้พอดีกับความต้องการในระบบเศรษฐกิจ และต้องใช้ทรัพย์สินที่มีมูลค่าเท่ากัน เช่น เงินดอลลาร์เก็บสำรองเอาไว้ เพื่อรับประกันมูลค่าของเงินบาท

บัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย แยกเป็นสองบัญชีก็คือ บัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย และบัญชีทุนสำรองเงินตรา ซึ่งการที่ทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ ที่อยู่ในรูปเงินต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ ในทุกๆ ปี ต้องจัดทำงบการเงิน ซึ่งต้องตีราคาให้เปินเงินบาท เสมือนว่าถ้าขายเงินดอลลาร์ทั้งหมดออกไป จะได้เงินกลับมากี่บาท

สมมติว่าอัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้อยู่ที่ 30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้ามีทรัพย์สินอยู่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะขายได้เงินกลับมา 3 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเกิดเงินบาทอ่อนค่าลงแค่ 1 บาท ทรัพย์สิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เดิม จะขายเพิ่มได้เป็น 3 ล้าน 1 แสนล้านบาท แต่ตรงกันข้าม ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแค่ 1 บาท 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เดิมนั้นจะขายได้แค่ 2 ล้าน 9 แสนล้านบาท

ทำให้ 1 แสนล้านบาทที่หายไปดูเหมือนจะขาดทุน แต่เป็นแค่การขาดทุนทางบัญชี จากการตีราคาเท่านั้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เอาทรัพย์สินดอลลาร์สหรัฐไปขายจริงๆ เงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐก้อนเดิมก็ยังเก็บเอาไว้อยู่ ดังนั้น การขาดทุนหรือว่ากำไรของแบงก์ชาติไม่ได้เกี่ยวกับว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ดีอย่างไร


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ที่ผ่านมามักจะมีสำนักข่าวบางแห่งมักจะนำราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานฐานะทางการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการพันธบัตร โดยสื่อมวลชนบางสำนักลงข่าวว่า ฐานะการเงินไทยล่าสุดขาดทุนสะสม 1 ล้านล้านบาท สร้างความสับสนให้แก่สังคมเป็นจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ น.ส.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี เคยอธิบายว่า รายงานฐานะทางการเงินดังกล่าวไม่ใช่หนี้สาธารณะ ซึ่งรายงานฐานะทางการเงินประจำสัปดาห์ใส่แค่หนี้สินอื่น แต่ความจริงคือผลรวมของหลายประเภท ได้แก่ ยอดขายพันธบัตรแบบมีเงื่อนไขรับซื้อคืน, พันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย, หนี้สินอื่นๆ และเงินสำรองอันเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งเวลาดูตัวเลขงบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเห็นว่าได้แยกงบเงินทุนสำรองเงินตรา และกิจการพันธบัตรออกมา ซึ่งต้องดูประกอบด้วย อย่าเลือกแต่จะดูแค่บางส่วน เรื่องนี้อธิบายเคสนี้ทุกปีที่ข่าวออกมาบอกตัวเลข โดยที่ไม่เข้าใจหน้าที่และการลงบัญชีขององค์กรที่ไม่ใช่องค์กรเอกชน

อ่านประกอบ : แปะใส่ข้างฝา! งบการเงินแบงก์ชาติมีแต่หนี้พันธบัตร ไม่ใช่หนี้สาธารณะอย่างที่เขาหลอกลวง


กำลังโหลดความคิดเห็น