หมอนิว ซึ่งกลายเป็น “ว่าที่คุณหมอ” คนแรกในประวัติศาสตร์ของ ยูซี ซานฟรานซิสโก ที่สำเร็จการศึกษาทั้งที่อยู่ในสถานภาพโรบินฮูด ได้เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เพื่อร่วมหารือและผลักดันกฎหมายให้คนที่อยู่ในสถานะ DACA หรือ ดรีมเมอร์ ที่เดินทางตามผู้ปกครองมาตั้งแต่เด็ก ได้มีสถานะเป็นพลเมืองอเมริกันอย่างสมบูรณ์
วันนี้ (20 พ.ค.) เพจ “SiamTownUS” ได้โพสต์เรื่องราวของโรบินฮูดคนไทย นายจิรายุทธ ลัทธิวงศกร หรือ “นิว” ซึ่งกลายเป็น “ว่าที่คุณหมอ” คนแรกในประวัติศาสตร์ 155 ปีของ ยูซี ซานฟรานซิสโก ที่สำเร็จการศึกษาทั้งที่อยู่ในสถานภาพ “โรบินฮูด” โดยระบุข้อความว่า “หมอนิว หรือ นายจิรายุทธ ลัทธิวงศกร (สองจากขวา) คนไทยคนแรกที่อยู่ในสถานะโรบินฮูด ที่จบการศึกษาแพทย์ จากมหาวิทยาลัย ยูซี ซานฟรานซิสโก ได้รับเชิญเข้าพบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว เพื่อร่วมหารือและผลักดันกฎหมายให้คนที่อยู่ในสถานะ DACA หรือ ดรีมเมอร์ ที่เดินทางตามผู้ปกครองมาตั้งแต่เด็ก ได้มีสถานะเป็นพลเมืองอเมริกัน อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มดรีมเมอร์อีก 5 คน ที่มีอาชีพต่างๆ ในภาคการศึกษา เกษตร และสาธารณสุข เข้าพบด้วยเช่นกัน ซึ่งล่าสุดผู้นำสหรัฐฯ กำลังพยายามผลักดันที่จะให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายราว 11 ล้านคน ได้เป็นพลเมืองสหรัฐฯ จากการผ่านกฎหมายให้เร็วที่สุด โดยมีขั้นตอนเงื่อนไขการให้สถานะแตกต่างกัน
ทั้งนี้ นายจิรายุทธ ลัทธิวงศกร เป็นหนึ่งใน “โรบินฮูด” เชื้อสายไทยที่มีอยู่มากมายในสหรัฐฯ โดยเขาอยู่เกินวีซ่า (ท่องเที่ยว) มาตั้งแต่อายุเก้าขวบ หลังจากที่ติดตามพ่อแม่ คือ นายกำพล และ นางยุวดี ลัทธิวงศกร มาอยู่ที่แคลิฟอร์เนียภาคเหนือเมื่อหลายปีก่อน และระหว่างเรียนปริญญาตรีอยู่ที่ยูซีเบิร์คเลย์ เขาได้ทำงานเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มอิมมิแกรนท์ มีผลงานเป็นที่ยอมรับมากมาย รวมถึงการร่วมก่อตั้งองค์กรไม่หวังผลกำไรชื่อ Pre-Health Dreamers (PHD) ทำงานช่วยเหลือกลุ่ม “ดรีมเมอร์” ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในสายการแพทย์และสาธารณสุขศาสตร์ รวมถึงทำงานในลักษณะเป็นล็อบบียิสต์ กับบรรดานักการเมือง ทั้งระดับรัฐและระดับประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม หมอนิวนั้นมีเรื่องน่าทึงมากมาย เช่น เป็นศิษย์เก่าสถาบันที่มีชื่อเสียง ทั้ง ยูซี เบิร์คเลย์ และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, เป็นหนึ่งใน 30 คนหนุ่ม (ต่ำกว่า 30 ปี) ที่นิตยสารฟอร์บส์ ยกย่อง (30 under 30) ประจำปี 2017, เป็นผู้ก่อตั้งองค์กรช่วยเหลือผู้อพยพ ฯลฯ และหมอนิวยังเรียนแพทย์ที่ยูซีซานฟรานฯ ตลอดห้าปี ภายใต้โปรแกรมชื่อ Medical Education for the Urban Underserved (แพทย์ศาสตร์สำหรับนักศึกษาด้อยโอกาส) ซึ่งเป็นโครงการของยูซี ซานฟรานฯ ที่เน้นให้โอกาสทางการศึกษากับชุมชนผู้อพยพเป็นหลัก และว่าหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาจะเข้ารับการฝึก (residency training) สาขาการแพทย์สำหรับครอบครัวและชุมชน ที่โรงพยาบาล ซัคเกอร์เบิร์ค ซานฟรานซิสโก เจนเนอรัล ฮอสปิตอล ในเดือนมิถุนายนนี้