“วราวิทย์ ฉิมมณี” ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส น้อมรับความผิดพลาด รายงานข่าวประสิทธิภาพวัคซีนกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แจงแปลผิด การติดเชื้อแบบมีอาการ กลายเป็นป้องกันการป่วยหนัก แถมยอมรับนำตัวเลขที่ใช้จริง กับตัวเลขอนุมานปนกันในตาราง ประกาศขอพักหน้าจอ 2 สัปดาห์ แสดงความรับผิดชอบ
วันนี้ (10 พ.ค.) จากกรณีที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ออกมาระบุว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำเสนอรายงานข่าวประสิทธิภาพวัคซีนในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบว่า รายงานตัวเลขในตารางประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่ผิดพลาดหลายจุด โดยเฉพาะวัคซีนซิโนแวค ป้องกันป่วยหนักเพียง 38% ป้องกันติดเชื้อเพียง 25% และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันป่วยหนักเพียง 10% ป้องกันติดเชื้อเพียง 6% ซึ่งมีที่มาจากเว็บไซต์ www.healthdata.org
แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า ไทยพีบีเอสนำข้อมูลที่มีทั้งข้อมูลจริงจากผลการวิจัยในประเทศที่มีการแพร่ระบาด และตัวเลขคาดการณ์ โดยใช้อัตราส่วนการติดเชื้อของสายพันธุ์อื่นมาเทียบเคียง ทำให้ผู้ชมเกิดความสับสนว่าตัวเลขตัวไหน เป็นตัวเลขจริง ตัวเลขไหนเป็นตัวเลขคาดการณ์ เช่น ตัวเลขการป้องกันการติดเชื้อของแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็เป็นตัวเลขคาดการณ์ และตัวเลขทั้งหมดของซิโนแวค ไฟเซอร์ โมเดอร์นา สปุตนิก เป็นตัวเลขคาดการณ์ทั้งสิ้น อีกทั้งยังแปลคำว่า Preventing Disease โดยระบุว่าเป็น “ป้องกันป่วยหนัก” ทั้งที่แท้จริงแล้วในตารางนี้หมายถึงการป้องกันการเกิดอาการ ตั้งแต่น้อยจนถึงปานกลาง (symptomatic disease) แต่หากอาการป่วยหนัก จะใช้คำว่า severe disease
โดยในตารางของไทยพีบีเอส แปลข้อมูลของแอสตร้าเซนเนก้า กับจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ในช่องป่วยหนักผิดทั้งหมด เพราะเป็นตัวเลขของการป้องกันการป่วยน้อยจนถึงปานกลาง ซึ่งงานวิจัยต้นฉบับ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือต้องเข้าโรงพยาบาล ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย และตารางได้แบ่งแยกอย่างชัดเจนว่าเป็น Symptomatic กับ Severe ซึ่งตัวเลขของไทยพีบีเอสในช่องป่วยหนัก จะอยู่ในช่อง Symptomatic ไม่ใช่ช่อง Severe สรุปได้จากการวิจัยนี้ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แม้จะมีผลการป้องกันอาการเล็กน้อยถึงปานกลางจากโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ยังไม่ดี แต่สามารถป้องกันการป่วยหนัก หรือเสียชีวิตได้ 100% ไม่ใช่ 10% อย่างที่ไทยพีบีเอสรายงาน
ทั้งนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ ยังเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แสดงความรับผิดชอบถึงความหละหลวมในการตรวจสอบข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ มีผลต่อความเข้าใจผิดและสับสนของคนหลายสิบล้านคนในประเทศ โดยได้ส่งอีเมลร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ รวมทั้งเห็นว่าที่ผ่านมาไทยพีบีเอสนำเสนอข้อมูลผิดพลาดบ่อยครั้ง ตั้งแต่เรื่องกลุ่มเศรษฐีอินเดียเช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อเข้ามายังประเทศไทย ที่พบว่าไทยพีบีเอสแปลข่าวผิด
ล่าสุด เมื่อเวลา 16.08 น. นายวราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ชี้แจงว่า มีข้อมูลบางอย่างอาจจะคลาดเคลื่อน ทำให้ประชาชนที่กำลังตัดสินใจจะไปฉีดวัคซีนดีหรือไม่ เห็นข้อมูลนี้แล้วอาจจะคิดว่าการฉีดวัคซีนไม่มีประโยชน์ ทั้งๆ ที่จริงสวนทางกัน ยังคงเน้นย้ำให้ทุกคนไปฉีดวัคซีน สัปดาห์ที่แล้วตนเสนอข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนที่มีต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ขณะนี้เริ่มพบการระบาดในประเทศมาเลเซียแล้วบางส่วน ประเทศไทยจำเป็นจะต้องระมัดระวังเชื้อจากมาเลเซียข้ามแดนเข้ามา แต่ข้อมูลที่นำเสนอมีข้อท้วงติงตัวเลขว่าอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ตนขอโทษและขออภัยในความผิดพลาด
ข้อมูลที่นำเสนอนั้นอ้างอิงจากเว็บไซต์ healthdata หรือ IHME เป็นสถาบันเพื่อการชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ เป็นศูนย์วิจัยข้อมูลด้านสุขภาพระดับโลก สถาบันวิจัยการแพทย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สถาบันนี้ก็ได้สร้างฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และได้รับการอ้างอิงจากสื่ออื่นๆ ในโลกเช่นกัน แต่จุดที่ผิดพลาดของตารางนี้ คือ ข้อมูลเรื่องการป้องกันการป่วยหนัก ในเว็บไซต์ต้นฉบับใช้คำว่า พรีเวนติ้งดีซี๊ดส์ (Preventing Disease) ถ้าแปลให้ถูกความหมายมากที่สุดต้องแปลว่า การติดเชื้อแบบมีอาการ แต่ตารางที่นำเสนอบอกว่า ป้องกันการป่วยหนัก เพราะฉะนั้นขออภัยในความหมายที่แปลผิดพลาด ทำให้เข้าใจผิด
อีกเรื่องที่อาจจะอธิบายในรายละเอียด ก็คือ ที่มาของตัวเลขที่มานำเสนอว่าเป็นตัวเลขที่ใช้จริง บางตัวเลขเป็นเพียงแค่ตัวเลขจากการคาดการณ์ของ healthdata เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะทำความเข้าใจกันใหม่ สรุปให้ชัดเจนมากขึ้นจากตารางที่ทำขึ้นมาใหม่เพื่ออธิบาย ช่องสีขาวเท่านั้นคือข้อมูลตัวเลขการใช้จริงกับเชื้อแอฟริกาใต้ คือ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน กับแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนช่องสีแดง ตัวเลขอื่นๆ นั้นยังไม่ได้มีข้อมูลการใช้จริง เป็นการอนุมานประสิทธิภาพของวัคซีนด้วยการใช้ข้อมูลจริงของวัคซีนโนวาแวค กับจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แล้วไปทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์จนคำนวณออกมาได้เป็นประสิทธิภาพของวัคซีนตัวอื่นๆ ซึ่งวิธีการคำนวณแบบนี้ก็ยังถูกตั้งคำถามในทางการแพทย์ว่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
“ผมเป็นคนที่รายงานข่าวนี้ น้อมรับความผิดพลาด ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จะใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอมากขึ้น แต่ว่าเป้าหมายขอการนำเสนอข่าวนี้ก็เพื่อจะย้ำเตือนเรื้อเชื้อแอฟริกาใต้ที่ระบาดในมาเลเซีย ประเทศไทยจะรับมืออย่างไรถ้าหากว่าวัคซีนที่มีอยู่ประสิทธิภาพลดลง แต่อย่างไรแม้ว่าจะเห็นข้อมูลนี้แล้ว ยังเน้นย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนมีผลดีมากกว่าผลเสียต่างกันหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหน และเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ ทุกคนก็จำเป็นจะต้องไปฉีดวัคซีน การนำเสนอผลข้างเคียงหรือประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจจะลดลงกับเชื้อบางสายพันธุ์ ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลรับทราบที่รอบด้าน แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็ขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการพักการทำหน้าที่หน้าจอของไทยพีบีเอสเป็นเวลา 2 สัปดาห์ นี่เป็นความประสงค์ของผมเอง ไม่ใช่มาตรการหรือแรงกดดันใดๆ จากองค์กร” นายวราวิทย์ กล่าว
อ่านประกอบ : สับ “ไทยพีบีเอส” มั่วข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” กันป่วยหนักจาก 100% เหลือแค่ 10%
“ไทยพีบีเอส” แถลงขอโทษ ประเด็นเสนอข่าว “เศรษฐีอินเดียหนีโควิดเข้าไทย” ระบุ เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน