เป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับการทำหน้าที่เสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส...
หลัง ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กวิจารณ์การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ในการป้องกันโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้
โดย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ระบุว่า ในการนำเสนอสกู๊ปดังกล่าวได้มีข้อผิดพลาดอยู่หลายจุด ทั้งการที่ไม่ได้บอกผู้ชมว่าตัวเลขไหนคือข้อมูลจริง ตัวเลขไหนคือการคาดการณ์ แต่ที่สำคัญก็คือการแปลความหมายคำว่า Preventing Disease ว่าเป็น “ป้องกันป่วยหนัก” ทั้งที่แท้จริงแล้วคำว่า Preventing Disease ในรายงานนั้นหมายถึง การ “ป้องกันการเกิดอาการตั้งแต่น้อยจนถึงปานกลาง” ขณะที่อาการป่วยหนักจะใช้คำว่า severe disease
ส่งผลให้การนำเสนอข่าวของไทยพีบีเอสนั้นมีความผิดพลาดในการรายงานถึงประสิทธิภาพของวัคซีนยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้าต่อการป้องกันการป่วยหนักเหลือเพียง 10% ทั้งที่จากข้อมูลนั้นวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนักถึง 100%
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ยังได้โพสต์ข้อความเผยว่า ได้ทำหนังสือส่งอีเมลเพื่อร้องเรียนรายการข่าวของไทยพีบีเอสไปยัง กสทช.แล้ว ก่อนแสดงความเห็นด้วยว่า “...ถ้าไทยพีบีเอส ยังทำข่าวให้ดีและถูกต้องตามมาตรฐานที่ตัวเองตั้งขึ้น และตามความคาดหวังของประชาชนไม่ได้ ผมว่ายุบฝ่ายข่าวไปเถอะครับ” หลังก่อนหน้านั้นทางไทยพีบีเอสก็เคยเสนอข่าวเกี่ยวกับการเช่าเครื่องบินจากอินเดียมาไทยที่คลาดเคลื่อนจนสถานีต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษไปแล้ว
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ประเทศไทยจะใช้เป็นหลักในการฉีดให้กับประชาชนนั้น ที่ผ่านมาได้ถูกกลุ่มคนบางส่วนออกมาตั้งเป้าโจมตีถึงความมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องแม้ทางแพทย์ นักวิชาการ จะออกมายืนยันในข้อมูลในทางตรงกันข้ามก็ตาม