xs
xsm
sm
md
lg

สร.ขสมก.คาดเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ พนง.ปลาย พ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า วันนี้ (5 พ.ค.) สหภาพแรงงานฯ และผู้บริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ประชุมหารือเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ที่มีการระบาดระลอก 3 ในหลายพื้นที่ โดยได้ข้อสรุปดังนี้

1.เรื่องการเดินรถให้ฝ่ายองค์การ 1 และ 2 ลดเวลาทำงานลงเหลือ 5-6 ชม. ต่อวัน จัดการเดินรถให้เหมาะสมกับสถานการณ์ คือช่วงเร่งเด่นเช้าและเย็นให้จัดการเดินรถเพียงพอต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการ ส่วนช่วงหลังเร่งด่วน ให้ลดเที่ยววิ่ง เพื่อลดความเสี่ยงพนักงาน 

2.เรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับพนักงาน เนื่องจากมีพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานประจำสำนักงาน ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 แล้วจำนวน 39 ราย และแนวโน้มจะติดเชื้อเพิ่มขึ้น สหภาพแรงงานฯ จึงขอให้ตรวจเชื้อเชิงรุก เพื่อหยุดวงจรระบาด ซึ่งขณะนี้ ขสมก. มีนโยบายจัดหาวัคซีนควบคู่กับพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร นายท่า นายตรวจ และหัวหน้างานตามลำดับความเสี่ยง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน คาดว่าช่วงปลายพฤษภาคมนี้ จะฉีดให้พนักงานได้

3.ค่ารักษาพยาบาล และสิทธิผลประโยชน์ พนักงานที่มีความเสี่ยงหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เมื่อไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ให้มีสิทธิเบิกค่ารักษาได้ ตามระเบียบ ขสมก. และ กระทรวงการคลัง ทั้งนี้หากข้อเท็จจริงว่าพนักงานติดเชื้อบนรถหรือในสำนักงานหรือไปติดมาจากที่อื่น เนื่องจากไปทำงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ในทางการที่จ้างให้ถือว่าเป็นการเจ็บป่วยเนื่องจากทำงาน และได้ให้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อบังคับ ขสมก.  

4.เรื่องแอลกอฮอล์ เนื่องจากสภาพแรงงานฯ ได้รับหาร้องเรียนจากพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร ว่าน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้อยู่บนรถในปัจจุบัน เมื่อฉีดพ่นไปแล้วจะมีสารตกค้าง เมื่อพนักงานสัมผัสสารตกค้างจะมีอาการแพ้ เป็นผื่นคัน ทำให้เข้าใจว่าติดเชื้อโควิด จึงขอให้ ขสมก. จัดหาแอลกอฮอล์มาแทน และ 5.เรื่องประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจพนักงาน เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ หรือสื่อสารในระกับหัวหน้างานและพนักงานบางส่วนเท่านั้น ทำให้ข่าวสารไม่ถึงพนักงานผู้ปฏิบัติงาน ประกอบกับการสื่อสารระหว่างหัวหน้างานกับพนักงานยังมีข้อผิดพลาดคาดเคลื่อน หรือบางเรื่องเกิดจากหัวหน้างานไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้พนักงานสับสน ดังนั้นขอให้ฝ่ายเดินรถ 1 และ 2 กำชับหัวหน้างานให้สื่อสารเรื่องโควิดให้พนักงานได้ทราบถึงวิธีปฏิบัติเมื่ออยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือขณะปฏิบัติหน้าที่