“นพ.มานพ” แนะประชาชนควรฉีดวัคซีนอย่างยิ่ง ผลข้างเคียงรุนแรง เกิดแค่ 1 ต่อ 3-4 แสนคน น้อยกว่าโอกาสที่จะติดโควิด ป่วยหนักและตายหลายเท่าตัว ชี้ วัคซีนโควิดศึกษาในอาสาสมัครเยอะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีความปลอดภัยสูง
วันที่ 5 พ.ค. 2564 ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เคลียร์ข้อสงสัย ก่อนฉีดวัคซีนโควิด”
โดย ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ยังไม่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึงระดับที่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ มีบางประเทศที่ใกล้เคียง คือ อิสราเอล และอังกฤษ แต่เห็นได้ชัดเจนในประเทศที่ฉีดเป็นวงกว้าง ยอดติดเชื้อรายใหม่ลดลงฮวบฮาบมาก ผู้ป่วยหนักลดลง
ส่วนเรื่องประสิทธิภาพ วัคซีนทุกตัวผ่านการศึกษาในมนุษย์มาเยอะมาก รวมๆ แล้ววัคซีนเจ้าใหญ่ๆ ทั้งหมด มีอาสาสมัครน่าจะใกล้ 2 แสนคน ศึกษาวงกว้างมากๆ ฉะนั้น ความปลอดภัยสูง วัคซีนบางชนิดแสดงประสิทธิภาพที่สูงกว่า อย่างไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ที่เหลือรองลงมา อย่างแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่ในเกณฑ์รับได้ก็ซิโนแวค
วัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ประสิทธิภาพสูงมากเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ การใช้ในอิสราเอลกับคนเกิน 5 ล้านคน ประสิทธิภาพไม่ได้ลดลงเลย ยังใกล้เคียง 90 เปอร์เซ็นต์ ยืนยันว่าประสิทธิภาพวัคซีนตัวนี้สูงจริง
ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ช่วงแรกใช้ในอังกฤษประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์ หลังจากฉีดจริงอย่างกว้างขวางในยุโรป กับหลายสิบล้านคน ประสิทธิภาพขึ้นไปถึงประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์
ซิโนแวคตัวเลขไม่ดีนัก ในบราซิลประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แตะในชิลีประสิทธิภาพโดยรวมขึ้นไปถึง 67 เปอร์เซ็นต์ การใช้จริงในวงกว้างข้อมูลที่ได้อาจแตกต่างไปนิดหน่อย
ศ.นพ.มานพ กล่าวถึงผลข้างเคียงว่า ภาพรวมวัคซีนผ่านการทดสอบในอาสาสมัครจำนวนมาก ปลอดภัยสูงมาก อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงบางอย่างที่ไม่เคยเห็นอาจเริ่มเห็นตอนใช้จริงกับคนหลักล้าน วัคซีนทุกตัวไม่ได้ไม่มีผลข้างเคียง แต่ที่กังวลคือผลข้างเคียงที่รุนแรง
จากข้อมูลที่ใช้จริง ไฟเซอร์, โมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า ผลข้างเคียงรุนแรงน้อยมาก ประมาณ 1 ต่อ 3-4 แสนคน เรียกได้ว่าโอกาสถูกรางวัลที่ 2 ยังมากกว่า
แล้วแต่ละยี่ห้อผลข้างเคียงอาจไม่เหมือนกัน ไฟเซอร์ โมเดอร์นา คล้ายคนแพ้อาหารรุนแรง มักเกิดหลังฉีดภายใน 30 นาทีแรก จึงต้องให้นั่งพักหลังฉีดเพื่อรอดูอาการ โดยมีแพทย์คอยดูแล
กรณีแอสตร้าเซนเนก้า เกิดลิ่มเลือด 1 ต่อ 3 แสนเหมือนกัน แล้วตอนนี้รู้และมีวิธีรักษา มีวิธีสังเกตอาการแล้ว ส่วนใหญ่เกิดในคนอายุไม่มาก อายุเกิน 50 ปี แทบไม่เจอเลย
ซิโนแวค ข้อมูลยังน้อยเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น ในไทยเองก็เก็บข้อมูลอยู่ โดยข้อมูลเบื้องต้นเกิดผลข้างเคียง หายเป็นปกติภายในไม่เกิน 3 วัน ต้องติดตามแต่อย่าตระหนก
ส่วนกรณีเชื้อกลายพันธุ์ ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ไทยที่ระบาดในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งวัคซีนทุกตัวเอาอยู่ แต่เป็นห่วงบางสายพันธุ์เกิดการดื้อต่อภูมิคุ้มกันเดิม ซึ่งต้องดูทีละตัวเลย โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ข้อมูลพบว่าดื้อที่สุด อาจทำให้วัคซีนผลแย่ลงมาก อย่างแอสตร้าเซนเนก้า จาก 87 เปอร์เซ็นต์ ใช้กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้เหลือเพียง 10.4 เปอร์เซ็นต์ ต้องเฝ้าระวังอย่าให้เข้าไทยมาได้ และต้องรีบฉีดวัคซีนวงกว้าง
ศ.นพ.มานพ ยังกล่าวด้วยว่า ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรฉีดอย่างยิ่ง วัคซีนโควิดศึกษาในอาสาสมัครเยอะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และดูจากการระบาดในตอนนี้ โอกาสที่คนไทยจะติดโควิด ป่วยหนัก และเสียชีวิต สูงกว่าการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจากการฉีดวัคซีนเยอะมากหลายเท่าตัว
คนที่เป็นโรคประจำตัว ไม่แนะนำให้หยุดยา ฉีดวัคซีนได้ไม่มีข้อห้ามใดๆ แต่ถ้าเพิ่งเจ็บป่วย พักฟื้นให้หายดีก่อนค่อยฉีด ไม่เช่นนั้นหากมีผลแทรกซ้อนจะแยกอาการออกจากอาการป่วยเดิมได้ยาก
คนที่เป็นมะเร็ง อยู่ในช่วงเคมีบำบัด อาจมีภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ควรเลี่ยงช่วงที่ภูมิคุ้มกันต่ำอยู่ และวัคซีนจะกระตุ้นภูมิได้ไม่ค่อยดีนัก แต่ยังควรฉีดอยู่ หมอจะเลือกตัวที่เหมาะสมให้เรา ที่สำคัญไม่ควรเบี้ยว นัดฉีด 2 เข็ม ก็ต้อง 2 เข็ม
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ต้องกังวล เป็นโรคที่กลไกการเกิดไม่เกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีน และโรคนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ กลุ่มนี้จะได้รับแอสตร้าเซนเนก้า ก็จะไม่มีผลข้างเคียงแบบที่ได้ยินจากซิโนแวค และปัญหาลิ่มเลือดแทบไม่เจอเลยในผู้สูงอายุ