ดร.ปิติ เชื่อฉันทามติ 5 ข้อ จากเวทีประชุมผู้นำอาเซียน จะช่วยลดความรุนแรงสถานการณ์ในเมียนมา ชี้ เหนือความคาดหมาย อาเซียนถกเรื่องกิจการภายในของประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการครั้งแรก
วันที่ 27 เม.ย. 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาทางโทรศัพท์ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “อาเซียนกับเมียนมา หรือความหวังจะสูญเปล่า?”
โดย ดร.ปิติ กล่าวว่า การประชุมผู้นำอาเซียน มีฉันทามติ 5 ข้อ แล้วฝ่ายเมียนมาก็ยอมรับข้อตกลง
ข้อแรก ต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที ซึ่งน่าจะเป็นข้อที่สำเร็จที่สุดในการประชุมผู้นำอาเซียน อย่างน้อยก็ผลักดันให้มีการสูญเสียน้อยลง แม้ไม่มีหลักประกันอะไร ขึ้นกับคำสัตย์ชายชาติทหารของ มิน อ่อง หล่าย แล้วตั้งแต่ประชุมเมื่อ 24 เม.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน การชุมนุมก็ยังคงเกิดทั่วไปในเมียนมา แต่ไม่เห็นกองทัพปราบปรามประชาชน หลายฝ่ายก็ถามว่า มิน อ่อง หล่าย จะอดทนได้นานแค่ไหน
ข้อสอง จะต้องมีการเสวนาอย่างสร้างสรรค์กับทุกภาคส่วน เพื่อแสวงหาทางออกอย่างสันติ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ข้อสาม จะต้องมีตัวแทนพิเศษประจำอาเซียน เข้าไปเป็นตัวกลางในการพูดคุยกับทุกภาคส่วน โดยมีเลขาธิการอาเซียนทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือ
ข้อสี่ อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ผ่านโครงสร้างอาเซียนที่มีอยู่ นั่นคือ ศูนย์ประสานงานสำหรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA Center ซึ่งตั้งอยู่ในอินโดนีเซีย
ข้อห้า จะต้องมีคณะผู้แทนพิเศษอาเซียนเข้าไปดำเนินการเรื่องพวกนี้ในเมียนมา โดยพบปะพูดคุยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ดร.ปิติ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้เหนือความคาดหมาย เป็นการผลักดันอาเซียนให้เดินไปอีกขั้น เดิมทีเวลามีการรัฐประหารในประเทศใดประเทศหนึ่ง อาเซียนจะอยู่ห่างๆ เพราะถือว่าเป็นกิจการภายในของแต่ละประเทศ แต่หลังจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการค้าขาย ติดต่อ เดินทางไปมาหากัน ทำให้เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เชื่อมโยงกันมากขึ้น เรื่องที่เคยเป็นกิจการภายในมันเริ่มส่งผลต่อทั่วภูมิภาค นี่คือ การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในระดับผู้นำและตัวแทนในเรื่องที่เคยเป็นเรื่องภายในของประเทศ แต่สามารถมาพูดในเวทีภูมิภาคได้อย่างเป็นทางการ