xs
xsm
sm
md
lg

มติอาเซียนเรื่องเมียนมา ไทยเสนอหลักการ D4D

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นพ นรนารถ



การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศไทย ที่รุนแรงน่ากลัว ทำให้ เรื่องการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ เรื่องสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้รับความสนใจจากสื่อน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะถูกกระแสโควิดกลบหมด ทั้งๆ ที่การประชุมครั้งนี้ มีความสำคัญมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่นายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพพม่า ที่ยึดอำนาจรัฐบาลนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้ร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนและตัวแทนอย่างเป็นทางการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยและนายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นตัวแทนไปประชุม

การที่ผู้นำและตัวแทนอาเซียน 9 ประเทศไปร่วมประชุมสุดยอดกับมิน อ่อง หล่าย ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการให้การยอมรับสถานะของเขา และรัฐบาลที่เขาตั้งขึ้นไปโดยปริยาย ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะมิน อ่อง หล่าย คือ ผู้มีอำนาจสูงสุด เป็นคนสั่งการให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชน ถ้าไม่คุยกับเขา จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

แม้ว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับมิน อ่อง หล่าย ว่า จะปฏิบัติตามมติที่ประชุมหรือไม่ แต่เบื้องต้นนับเป็นความสำเร็จของอาเซียนที่สามารถดึงมิน อ่อง หล่าย มาสู่โต๊ะเจรจาได้

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายเหตุผลที่อาเซียนประชุมร่วมกับมิน อ่อง หล่าย แต่ไม่มีการประชุมกับตัวแทนจาก National Unity Government (NUG) ที่มาจากภาคประชาชนของเมียนมา ว่า

มิน อ่อง หล่าย คือ คนที่กุมอำนาจรัฐ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ในขณะที่ NUG ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ไม่มีอำนาจ ไม่มีแขนขาในการบังคับใช้กฎหมาย การพูดคุยกับทั้งสองฝ่ายพร้อมกันเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ยาก เพราะ NUG มาร่วมประชุม มิน อ่อง หล่าย ก็จะไม่มาประชุม และถ้ามิน อ่อง หล่าย ไม่มาประชุม การยุติความรุนแรงก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ตกลงอะไรไปกับ NUG การบังคับใช้ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะ NUG ไม่ได้คุมอำนาจ

ดังนั้นเมื่อเดินหน้าสร้างผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้จริง (Practical) เราอาจต้องยอมทิ้งอุดมคติ (Ideal) การพูดคุยกับมิน อ่อง หล่าย อาจจะเป็นการยอมรับสถานะผู้นำให้เขา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่หนทางที่จะหยุดยั้งความรุนแรงในเมียนมา

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ พูดถึงการประชุมครั้งนี้ว่า

นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาเซียน 54 ปี ที่อาเซียนซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้นในทุกๆ ขณะ และทุกๆ มิติ สามารถนำเอาเรื่องที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นกิจการภายในของประเทศสมาชิกมาพูดคุยหารือ และแสวงหาทางออกร่วมกันได้อย่างสงบสันติ

ที่ผ่านมา เวลามีเรื่องในทำนองนี้ เช่น การรัฐประหาร ความขัดแย้ง หรือสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศใดประเทศหนึ่ง สมาชิกอาเซียนก็มักจะกล่าวว่านี่คือ กิจการภายใน ดังนั้นแต่ละประเทศสมาชิกจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วม หรือยุ่งเกี่ยว หรือในบางครั้งอาจจะมีการเข้าไปให้การช่วยเหลือสนับสนุน แต่ก็มักจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้นำประชุมกันในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ (Retreat) ปิดห้องคุยกันเฉพาะผู้นำ 10 ประเทศกับเลขาธิการอาเซียน

แต่ครั้งนี้ ในกรณีของเมียนมา ผู้นำอาเซียนสามารถยกระดับเอาเรื่องที่เป็นกิจการภายในของประเทศสมาชิกขึ้นมาพูดคุยหารืออย่างสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นทางการ มีคณะทำงานเต็มคณะ เปิดเผย และโปร่งใส รวมทั้งยังสามารถนำเอาผู้นำของประเทศที่มีความน่าห่วงกังวลมาประชุมร่วมกันได้

นี่จึงเป็นการยกระดับให้อาเซียนก้าวหน้าไปอีกขั้น

หลังการประชุม มีการออกแถลงการณ์ของประธานอาเซียน ซึ่งท้ายแถลงการณ์ เป็นมติเอกฉันท์ 5 ข้อในเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา สรุปได้ดังนี้

1. ต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเริ่มต้นที่จะแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

3. ตัวแทนพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ย ของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ AHA (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management หรือศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท)

5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

บทบาทของประเทศไทย ในการประชุม รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ระบุว่า จาก twitter ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ประเทศไทยเสนอ 4 ข้อ บนหลักการที่เรียกว่า “#D4D” อันได้แก่ De-escalating Violence ยุติความรุนแรงในเมียนมาอย่างทันที, Delivering Humanitarian Assistance ส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, Discharge of Detainees เปิดช่องให้เกิดการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง และ Dialogue การถกแถลงเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเป็นข้อที่ 1-4 ในมติเอกฉันท์ท้ายแถลงการณ์

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ไม่มีการพูดถึงการปล่อยตัวประธานาธิบดีวิน มินต์, ที่ปรึกษาแห่งรัฐอองซาน ซูจี และผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของ ประธานาธิบดีอินโดนีซีย และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ก่อนหน้านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น