เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ระบายความอัดอั้นตันใจ หลังรัฐบาลและ ศบค.ประกาศห้าม 6 จังหวัดนั่งรับประทานในร้าน ระบุ “ไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว” ถามทุกร้านทำอยู่นี้ ยังไม่ดีพอใช่ไหม ทั้งที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการทีไรมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ภาษีก็ยังเก็บ แต่พอแก้ปัญหาไม่ได้ก็มาลงที่ร้านอาหาร ทั้งที่ไม่ได้เปิดผับ ไม่ได้เปิดบ่อน ไม่ได้เปิดสนามมวย ไม่ได้นำเข้าแรงงานเถื่อน ย้ำปรับเป็นดีลิเวอรีไม่ได้เพราะไม่ใช่ตัวตน และทำใจค่า GP โหดไม่ได้
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เฟซบุ๊ก Bhanuwat Jittivuthikarn ซึ่งเป็นบุตรชายเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ย่านวอล์คกิ้งสตรีท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ที่เคยออกประกาศปิดร้านเพราะโควิด-19 และเพราะเจ้าหน้าที่คอร์รัปชัน กลายเป็นที่ฮือฮาเมื่อช่วงหลังปีใหม่ 2564 ที่ผ่านมา ได้โพสต์ข้อความหัวข้อ “ไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว” หลังจากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กำหนดให้ 6 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่หนึ่งในนั้นคือการห้ามรับประทานอาหารในร้าน ระบุว่า “ตอนแรกสัญญากับตัวเองว่า โดนคำสั่ง “ห้ามนั่ง” รอบนี้ จะไม่บ่น ไม่ท้อ ไม่แสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น เพราะทุกๆ คำสั่งเพื่อระงับการระบาดรอบนี้ ผมน้อมรับอย่างจริงใจ
แต่เช้าวันนี้ มีลูกค้าต่างชาติที่เคยมากินอาหารเช้าที่ร้านทุกวัน แล้วผมขอให้พวกเขาสั่งกลับบ้านเท่านั้น ครอบครัวนี้มีลูกเล็กสองคน เด็กๆ ไม่เข้าใจว่าทำไมนั่งกินในร้านไม่ได้ เจ้าตัวเล็กคนหนึ่ง พูดออกมาว่า “I don’t understand room is empty, why cant we eat here?” โดยคนเป็นแม่ก็ขอร้องอ้อนวอนให้เราทำอาหารให้เด็กๆ กินเถอะ ใครเป็นพ่อเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้วมีลูกสองคนติดๆ กันจะเข้าใจว่าการเอาของกลับไปให้เด็กกินที่บ้านมันไม่ได้สะดวกสบายเลย เธอขอร้องให้ผมอย่าเพิ่งปิดร้าน ลูกๆ เธอเป็นเด็กกินยาก ถ้าร้านปิดเธอลำบากแน่
หลังจากที่ลูกค้าเดินออกไป ผมก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เสียใจที่เรามอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการไม่ได้
เพราะทั้งๆ ที่เราเพิ่งเปิดร้านมาได้แค่หกเดือน แต่ร้านเรามีลูกค้าประจำเยอะมาก ร้านนี้จึงเป็นมากกว่าแค่ธุรกิจ มันเป็นครอบครัว เป็นชุมชนเล็กๆ ที่ผมมี มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผม แล้วอยู่ๆ วันนี้ บางส่วนของชีวิตผมมันหายไป
เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่ร้าน King Seafood ต้องปิดตัวเพราะโควิด ผมกับแฟนเราตั้งใจปั้นร้านใหม่ขึ้นมา โดยมีการวางแนวทางที่แตกต่างจากร้านเดิม ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย เราคิดและทำการบ้านหนักมาก เค้นเอาทุกๆ ประสบการณ์ที่เรามีออกมาใช้ เราสัญญากับตัวเองทำร้านรอบนี้ต้องแตกต่างจากร้านเก่า เราไม่อยากเดินบนความสำเร็จเดิมๆ นี้ถือเป็นการปั้นโมเดลธุรกิจตัวใหม่ขึ้น และในช่วงตลอดหกเดือนที่ผ่านมา เราก็ทำสำเร็จในระดับหนึ่ง เรามีลูกค้าประจำ เรามีลูกค้าจาก กทม. ทุกๆ ครั้งที่มีปัญหา ผมบอกกับลูกน้องที่เป็นลูกน้องเก่าจากร้านเก่าว่า เราไม่เหลืออะไรแล้วนะ เหลือร้านนี้ร้านสุดท้าย ถ้าร้านนี้ต้องปิดอีกก็ไม่มีแรงใจไปทำอะไรแล้ว ทุกคนต้องช่วยกัน
ระบาดระลอกแรกผมผ่านมันไปได้ด้วยการขาย ซอส XO
ระบาดระลอกสอง ผมก็ผ่านมันมาได้ ด้วยการทุ่มพลังมาที่ ร้าน Folks and Flour
ระบาดรอบนี้ ผมก็ไม่เหลืออะไรแล้ว หมดมุก คิดไม่ออกว่าจะแก้เกมส์ยังไง มันเหนื่อยมันท้อไปหมด
ทุกๆ วิกฤตผมคิดว่ามันจะทำให้ผมจะเข้มแข็งขึ้น มีภูมิต้านทานมากขึ้น แต่จริงๆ ไม่เลย จะอีกกี่รอบ ผมก็ทำใจเห็นธุรกิจที่ทำมากับมือพังพินาศไปต่อหน้าต่อตาไม่ได้
อยากถามถึงภาครัฐว่า ที่ร้านอาหารทุกร้านทำอยู่นี้ ยังไม่ดีพอใช่ไหม ตลอดปีที่ผ่านมาเรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมาตรการของรัฐมากมาก ภาษีทุกแบบรัฐก็ยังเก็บ แต่เมื่อใดที่รัฐแก้ปัญหาไม่ได้ก็มาลงที่ร้านอาหาร มันผิดที่พวกผมอีกแล้วใช่ไหม เหมือนที่ผ่านมาพวกเราร้านอาหารยังสู้ไม่พอใช่ไหม ผมแค่ขายครัวซองต์ ไม่ได้เปิดผับ ไม่ได้เปิดบ่อน ไม่ได้เปิดสนามมวย ไม่ได้นำเข้าแรงงานเถื่อน
และขอทีเถอะ ใครต่อใครอย่ามาอวดดีมาสอนผมว่า ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัว หันไปส่ง Delivery สิ หันไปทำทำของส่งเข้า กทม. ไปทำ Could Kitchen ที่ กทม.สิ หากใครมาอวดดีสอนผม เรื่อง Delivery ผมจะบอกให้ ว่าผมทำไม่ได้ เพราะร้านผมและตัวตนของผมไม่ได้ขายแค่อาหารอย่างเดียว
ผมขายกลิ่นกาแฟบดใหม่ๆ ยามเช้า กลิ่นครัวซองต์อบใหม่จากเตา ผมขายบรรยากาศที่ลูกค้ามีความสุข ผมขายความอบอุ่น จากอาหารเช้าที่เหมือนกินอยู่ที่ยุโรป ผมขายความสัมพันธ์ให้ผู้คน ใครอยากกินเมนูพิเศษอะไร ถ้าเราทำได้เราจะทำ ผมขายขนมตามเทศกาลของยุโรป อาหารที่ลูกค้าต่างชาติกินแล้วหายคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา เพราะผมเองก็เคยจากเมืองไทย เราเข้าใจตวามรู้สึกของผู้คนที่อยู่ต่างบ้านต่างเมือง นี่คือสิ่งที่ผมมอบให้ลูกค้า นี่คือคำตอบว่าทำไมลูกค้าถึงมานั่งกินไข่ดาวที่ร้านผม ทั้งๆ ที่พวกเขาทำกินเองที่บ้านก็ได้ และนี้คือเหคุผลที่ทำไมส่งอาหาร Delivery มันถึงไม่ตอบโจทย์ร้านผม
และบอกตรงๆ ทุกวันนี้ ก็ยังทำใจกับค่า GP ของ Delivery เจ้าใหญ่ๆ ไม่ได้ ร้านผมถึงไม่มี ทั้ง Grab ทั้ง Lineman และ Food Panda ลูกค้าอยากกินผมขับรถไปส่งเอง ขับไปส่งถึง กทม. ก็เคยขับไปส่งมาแล้ว ขออย่างเดียว ลูกค้าเห็นค่าในสิ่งที่เราทำให้
หนึ่งปีที่ผ่านมา ร้านอาหารสูญเสียมามากพอแล้ว หนึ่งปีที่ผ่านมาผมคิดว่า คนทำร้านอาหารเสียสละมามากพอแล้ว อย่าให้ผมต้องปิดร้านนี้ไปอีกร้านเพราะโควิดเลย
ผมไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว”