xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนาน ๓ พระพุทธรูปลอยน้ำ ข้ามโขงมาไทย! องค์หนึ่งแหกแพ ไทยแอบงมมาแล้วเงียบ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



คงทราบกันดีถึงเรื่องพระพุทธรูป ๕ องค์ที่ว่าเป็นพี่น้องกัน ลอยน้ำหนีพม่าตอนกรุงแตกลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา แล้วแยกย้ายกันไปขึ้นตามวัดต่างๆ องค์หนึ่งลอยออกทะเลไปจมที่ปากอ่าว

นั่นก็คือ “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

“หลวงพ่อพุทธโสธร” ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

“หลวงพ่อโต” วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

“หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” ที่วัดเขาตะเครา ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

องค์ที่ ๕ คือ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” ที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

ส่วนของลาวก็มีตำนานพระพุทธรูป ๓ พี่น้องลอยน้ำเหมือนกัน ลอยมาตามลำน้ำงึมออกแม่น้ำโขง องค์หนึ่ง “แหกแพ” ขณะที่ถูกพายุถล่ม จมน้ำหาย เลยข้ามโขงมาได้เพียง ๒ องค์

แต่องค์ที่จม จมอยู่ถึงร้อยกว่าปี เจ้าเมืองฝั่งไทยเกิดหัวใส ให้นักโทษประหารแอบไปงม แล้วปิดเงียบไม่ให้ใครรู้
ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์พี่น้องนี้ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชษฐาธิราช มหาราชแห่งลาว ซึ่งทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก ทรงสร้างพระองค์ตื้อ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปใหญ่ขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดองค์ตื้อเมืองเวียงจันทน์เมื่อระหว่างปี พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๔๔ พระราชธิดา ๓ พระองค์จึงฉลองพระราชศรัทธาตามพระชนก สร้างพระพุทธรูปงามขึ้นประจำพระองค์อีก ๓ องค์ ต่างถวายพระนามของตนเป็นพระนามของพระพุทธรูป คือ พระเสริม เป็นพระพุทธรูปประจำราชธิดาองค์ใหญ่ พระสุก เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์กลาง และพระใสเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์น้อย

การหล่อพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้มีตำนานกล่าวถึงความอัศจรรย์เช่นเดียวกับการหล่อพระพุทธชินราชครั้งกรุงสุโขทัย คือพระภิกษุและฆราวาสได้ช่วยกันหลอมทองอยู่ถึง ๗ วันทองก็ยังไม่ละลาย ในวันที่ ๘ ก็มีชีปะขาวกลุ่มหนึ่งมาอาสาสูบเตาหลอมแทน พระภิกษุจึงไปฉันเพลพร้อมฆราวาส เมื่อกลับมาก็ปรากฏว่ามีผู้เททองลงเบ้าทั้ง ๓ เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่เห็นชีปะขาวเหล่านั้นเลย การหล่อพระเสริม พระสุก และพระใส จึงสำเร็จลงอย่างอัศจรรย์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) เมื่อครั้งยังเป็นพระยาราชสุภาวดีไปปราบ และยึดเวียงจันทน์ได้ นำพระเสริม พระสุก พระใส ที่ถูกนำไปซ่อนไว้บนภูเขาควายห่างจากกรุงเวียงจันทน์ออกไป ๖๐กม. ล่องแพมาตามแม่น้ำซึมออกแม่น้ำโขงเพื่อจะข้ามมาฝั่งไทย แต่เมื่อแพออกจากปากแม่น้ำงึมก็เกิดพายุแรง แพที่อัญเชิญพระสุกมาแยกออก พระสุกจมหายลงไปในแม่น้ำโขง ซึ่งลาวเรียกกันว่า “แหกแพ” และเวิ้งน้ำที่พระสุกจมนั้นเรียกกันว่า “เวินสุก” ส่วนพระเสริมกับพระใสนำข้ามโขงมาได้สำเร็จ

ต่อมาราวปี พ.ศ.๒๔๖๗ พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขต ปลัดมณฑลอุดร ได้ให้นักโทษประหาร ๘ คนแอบไปงมหาพระสุก โดยสัญญาว่าถ้างมได้จะเว้นโทษประหารให้ นักโทษประหารทั้ง ๘ ก็ไปงมพระสุกขึ้นมาได้ พระยาอุดรฯจึงให้ปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ด้วยเกรงว่าจะต้องถูกส่งไปกรุงเทพฯ

พระยาอุดรฯนั้นมีความผูกพันกับวัดศรีธรรมารามมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากบิดาบวชอยู่ที่วัดนี้ และตัวเองก็เคยบวชเป็นเณรเมื่ออายุ ๑๒ ปี ก่อนที่จะเข้ามาสอบเปรียญธรรมที่กรุงเทพฯ แล้วสึกเป็นฆราวาสถวายตัวเข้ารับราชการกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จนได้มาเป็นปลัดมณฑลอุดร จึงนำพระสุกที่งมมาถวายให้วัดศรีธรรมาราม ตั้งแต่ครั้งยังมีชื่อว่าวัดศรีธรรมาหายโศก ให้ชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระคัมภีรพุทธเจ้า” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บิดาซึ่งมีฉายาว่า พระอาจารย์มี คำภีโร ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “พระพุทธมงคลรุ่งโรจน์” เพื่อไม่ให้คนทั่วไปทราบว่าเป็นพระสุก และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของชาติเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘

ปัจจุบันพระสุกยังประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ส่วนพระเสริมกับพระใสนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ แต่ขณะที่อัญเชิญพระใสขึ้นบนเกวียนเพื่อขนย้าย เกวียนก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน แม้จะเปลี่ยนเกวียนใหม่เกวียนก็หัก ในที่สุดพระใสจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคายจนถึงปัจจุบัน พระเสริมมาถึงกรุงเทพฯ ประดิษฐานอยู่ที่วัดปทุมวนาราม


กำลังโหลดความคิดเห็น