xs
xsm
sm
md
lg

เรือนำเที่ยวล่มใน "อ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำงึม 1" อดีตประธานประเทศลาว “จูมมะลี ไซยะสอน” สูญเสียสมาชิกครอบครัว 6 ชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online - เกิดเหตุลมแรงซัดเรือนำเที่ยวล่มอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนน้ำงึม 1 นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของ “จูมมะลี ไซยะสอน” ล่าสุด อดีตประธานประเทศปลอดภัย แต่สูญเสียบุคคลในครอบครัว 6 ชีวิต

วานนี้ (4 เม.ย.) เวลาประมาณ 09.00 น. เกิดอุบัติเหตุเรือท่องเที่ยวชมทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำ เขื่อนน้ำงึม 1 เขตแดนสะหวัน แขวงเวียงจันทน์ ล่มในบริเวณห่างจากชายฝั่งประมาณ 40 เมตร สาเหตุเนื่องจากสภาพอากาศที่มืดครึ้ม มีลมแรงพัดมาอย่างกะทันหันจนซัดให้เรือคว่ำลงในอ่างเก็บน้ำ

ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้โดยสาร 39 ชีวิตที่อยู่บนเรือ (ภาพจากมูลนิธิช่วยเหลือคนทุกข์ยากแห่ง สปป.ลาว 1623)
เรือลำนี้บรรทุกผู้โดยสาร คนขับ และลูกเรือ รวมทั้งสิ้น 39 คน โดยผู้โดยสารบนเรือส่วนหนึ่งเป็นครอบครัวของ พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน อดีตประธานประเทศ สปป.ลาว พร้อมเครือญาติ

นายคำพัน สิดทิดำพา เจ้าแขวงเวียงจันทน์ เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุหน่วยงานกู้ชีพทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลาง ได้ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารบนเรืออย่างเร่งด่วน เบื้องต้น พบว่ามีผู้รอดชีวิต 31 คน และมีผู้เสียชีวิตรวม 8 ราย การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและกู้ร่างผู้เสียชีวิตดำเนินไปจนกระทั่งเวลา 16.30 น. จึงสามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิต 8 รายขึ้นมาได้ทั้งหมด

พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน อดีตประธานประเทศ สปป.ลาว
สำหรับ พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน ซึ่งอยู่ในเรือลำดังกล่าวด้วยนั้นได้รับความช่วยเหลือขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย โดยอดีตประธานประเทศพร้อมกับผู้รอดชีวิตอีก 30 คน ได้ถูกนำตัวไปรักษาอยู่ในโรงพยาบาลที่นครหลวงเวียงจันทน์

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในจำนวนผู้เสียชีวิต 8 รายนั้น เป็นคนในครอบครัว “ไซยะสอน” ถึง 6 ราย มีบุคคลสำคัญได้แก่ นางแก้วสายใจ ไซยะสอน ภรรยาของ พล.ท.จูมมะลี นายวิดง ไซยะสอน อดีตเจ้าแขวงเวียงจันทน์ ลูกชาย นอกจากนี้ ยังมีลูกสะใภ้ รวมถึงหลานชายและหลานสาวของอดีตประธานประเทศรวมอยู่ด้วย โดยร่างของผู้เสียชีวิตทั้ง 8 ทางการลาวได้นำไปบำเพ็ญกุศลไว้ที่สโมสรใหญ่ กระทรวงการป้องกันประเทศ

พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2479 เป็นชาวแขวงอัตตะปือ เริ่มเข้าร่วมกับพรรคประชาชนปฏิวัติลาวตั้งแต่ปี 2497 ด้วยการเป็นนายทหารร่วมรบในเขตรวมเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ในการประชุมใหญ่ของพรรค ครั้งที่ 5 ได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค จากนั้นในปี 2544 ได้รับเลือกเป็นรองประธานประเทศ

วันที่ 21 มีนาคม 2549 พล.ท.จูมมะลี ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการใหญ่ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว และดำรงตำแหน่งประธานประเทศต่อจากคำไต สีพันดอน จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2559


สำหรับอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนน้ำงึม 1 กว้าง 370 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวลาว และต่างประเทศ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทย บริเวณขอบอ่างมีแพร้านอาหารเพื่อให้บริการหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีบริการเรือนำเที่ยวชมทัศนียภาพหน้าเขื่อน รอบๆ อ่างเก็บน้ำ และแล่นขึ้นเหนือไปตามแนวลำน้ำงึม

บนเนินเขาทางทิศใต้ค่อนมาทางตะวันตกของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาควาย มีแหล่งบันเทิงที่นักเสี่ยงโชคคนไทยรู้จักดีกันในนาม “แดนสวรรค์” สถานที่นี่ก่อตั้งโดยการร่วมทุนของนักธุรกิจชาวมาเลเซียกับนักธุรกิจลาว แต่ได้ขายให้แก่นักธุรกิจจีนไปแล้วในภายหลัง

ก่อนโควิด-19 ระบาดในลาว หนังสือพิมพ์ The Laotian Times เคยเสนอข่าวไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซียได้สนับสนุนเงินทุน จำนวน 47 ล้านดอลลาร์ แก่แขวงเวียงจันทน์เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเมืองวังเวียง และรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำงึม 1 เพื่อยกระดับขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติ

ตามแผนจะสร้างท่าเรือ ที่จอดรถ ตลาดชุมชน หมู่บ้านชาวประมง สถานที่กำจัดขยะรวมถึงถนนยาว 6 กิโลเมตร เชื่อมกับเส้นทางหมายเลข 10 (เวียงจัน-ท่าง่อน-ทุละคม-ท่าลาด-โพนโฮง) เพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับการเดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำ โดยเนื้อข่าวระบุว่า การก่อสร้างได้เริ่มเมื่อต้นปี 2563

อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนน้ำงึม 1 สถานที่เกิดเหตุ (ภาพจากสำนักข่าวสารประเทศลาว)
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลลาวและบริษัท Hangzhou Safefound Technology จากจีน ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ “เทิงหน้าน้ำงึม 1” กำลังการผลิตติดตั้ง 1,200 เมกะวัตต์ โดยสร้างโซลาฟาร์มลอยน้ำบนพื้นที่รวม 1,500 เฮกตาร์ (ประมาณ 9,300 ไร่) กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำงึม 1 บริเวณบ้านโพนสะหว่าง เมืองล่องซาน แขวงไซสมบูน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้แก่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว

โครงการนี้รัฐบาลลาวถือหุ้น 20% เอกชนถือ 80% อายุสัมปทาน 25 ปี ผู้ลงทุนได้เซ็น MOU กับรัฐบาลลาวไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นมีการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนจะเซ็นสัญญาร่วมทุน โดยการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเริ่มปลายปี 2563 กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 900 เมกะวัตต์จะสร้างในปี 2566.






กำลังโหลดความคิดเห็น