xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกที่ต้องแยกพระแก้วกับพระบางออกจากกัน! อยู่ร่วมกันเมื่อใดบ้านเมืองเดือดร้อน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



พระบาง เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเมืองหลวงพระบาง เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ตามศิลปะแบบเขมรแบบบายน สูงประมาณ ๑.๑๔ เมตร หล่อด้วยทองสำริด เดิมประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของขอม จนในปี พ.ศ.๑๙๐๒ พระเจ้าฟ้างุ้ม กษัตริย์แห่งล้านช้าง ซึ่งเป็นเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร ได้ทูลขอเพื่อจะนำไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เมืองเชียงทอง อันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้าง แต่เมื่ออัญเชิญมาถึงเมืองเวียงคำ ก็มีเหตุที่ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงต้องประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงคำจนถึงปี พ.ศ.๒๐๕๕ พระเจ้าวิชุณราช ได้อัญเชิญพระบางไปประดิษฐานที่เมืองเชียงทองได้สำเร็จ ทำให้เมืองเชียงทองได้ชื่อใหม่ว่าเมืองหลวงพระบางตั้งแต่นั้นมา

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพไปตีได้เมืองล้านช้าง หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ใน พ.ศ.๒๓๒๑ ได้อัญเชิญพระบางพร้อมกับพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มากรุงธนบุรีด้วย

ทั้งนี้เพราะเมื่อครั้งเจ้าไชยเชษฐา ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นราชบุตรพระเจ้าโพธิสารศาล กษัตริย์ลาว ประสูติจากพระนางยอดคำทิพย์ ราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ ได้ขอยืมพระแก้วมรกตไปเมืองหลวงพระบางเพื่อร่วมงานพระศพของบิดา แล้วขึ้นครองราชย์เมืองหลวงพระบางไม่กลับไปเชียงใหม่อีก และไม่ได้ส่งคืนพระแก้วมรกต จึงต้องอัญเชิญกลับมาเอง

ส่วนที่นำพระบางมาด้วยนั้น ก็เป็นธรรมเนียมในยุคนั้นของผู้ชนะศึก ย่อมยึดทรัพย์สินมีค่าของผู้แพ้เป็นการใช้ค่าเสียหาย แต่การยึดพระบางมาด้วยนั้น ยังเป็นการทำลายขวัญของคู่ต่อสู้ไม่ให้กล้าฮึกเหิมอีก

ต่อมาเมื่อเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ทรงย้ายพระนครมาอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้านันทเสน ราชบุตรพระเจ้าล้านช้างได้กราบทูลว่า พระแก้วกับพระบางมีปีศาจที่รักษาองค์พระไม่ชอบกัน ถ้าอยู่ด้วยกันที่เมืองใดก็จะมีความไม่สบายที่เมืองนั้น เหตุการณ์เช่นนี้มีมา ๓ ครั้งแล้ว คือ

เมื่อครั้งที่เจ้าไชยเชษฐานำพระแก้วมาหลวงพระบางแล้วไม่กลับ ทำให้เมืองเชียงใหม่ขาดผู้ปกครอง ล่วงไป ๓ ปีทางเชียงใหม่จึงหาเจ้าเมืองคนใหม่ขึ้นแทน ทำให้เจ้าไชยเชษฐาไม่พอพระทัยอยากจะครองทั้ง ๒ เมือง จึงยกทัพไปปราบ แต่กลับถูกทัพเชียงใหม่ตีถอยร่น พวกหลวงพระบางกลัวจะเสียเมืองจึงเข้าทรงถามผีที่รักษาพระบาง ผีบอกว่าตัวเป็นเจ้าของเมือง ไม่ชอบผีที่รักษาพระแก้ว ให้ไล่พระแก้วไปเสียจากเมืองเสีย พระไชยเชษฐาจึงนำพระแก้วไปฝากไว้ที่เวียงจันทน์ซึ่งเป็นเมืองญาติ จากนั้นทัพหลวงพระบางก็มีกำลังขึ้น ตีเอาเขตแดนที่เสียไปคืนมา การศึกยุติลง บ้านเมืองคืนสู่ความสงบสุข

ทั้งนี้เป็นความเชื่อเรื่องผีของชาวล้านช้างมาแต่โบราณว่า พระพุทธรูปสำคัญย่อมมี 'ผี' คือ เทวดารักษาทุกพระองค์ ผู้ปฏิบัติบูชาจำต้องเซ่นสรวงผีที่รักษาพระพุทธรูปด้วย เพราะถ้าผีนั้นมีความไม่พอใจ ก็อาจบันดาลให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ หรือถ้าผีที่รักษาพระพุทธรูปต่างองค์เป็นอริกัน หากนำเอาพระพุทธรูปนั้นไว้ใกล้กัน ก็มักเกิดอันตรายด้วยผีวิวาทกัน

ครั้งที่ ๒ ล่วงมาจากครั้งแรก ๒๐๐ ปีเศษ เวียงจันทน์กับหลวงพระบางรบกัน ฝ่ายเวียงจันทน์ยึดได้เมืองหลวงพระบาง จึงอัญเชิญพระบางมาไว้ที่เวียงจันทน์ ตั้งแต่นั้นมาเวียงจันทน์ก็ไม่มีความสงบสุข พี่น้องรบกันเองบ้าง รบกับญวนบ้าง จนเสียเมืองให้ไทย

ครั้นพระแก้วกับพระบางมาอยู่ด้วยกันที่กรุงธนบุรีได้ ๒ ปี ก็เกิดเหตุวุ่นวายอย่างที่รู้กัน ขอให้โปรดเกล้าฯแยกพระแก้วกับพระบางให้อยู่ต่างเมืองกัน จึงจะมีความเจริญแก่พระนครที่ตั้งใหม่ในครั้งนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯซึ่งกำลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสดับก็มีพระราชหฤทัยรังเกียจตามเหตุการณ์ จึงพระราชทานพระบางกลับไปประดิษฐานที่เวียงจันทน์ตามเดิม

ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุแห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อครั้งยังเป็นพระยาราชสุภาวดี เป็นแม่ทัพยกทัพไปตีเวียงจันทน์ได้อีก อัญเชิญพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอ มาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งก็คงเป็นเหตุผลเดียวกับที่รัชกาลที่ ๑ อัญเชิญมา เพื่อจะข่มขวัญคู่ต่อสู้ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ประดิษฐานไว้ในหอนาควัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ต่อมามีเสียงพูดกันมากในเรื่องที่เจ้านันทเสนได้กราบทูลไว้ จึงได้ทรงแยกพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ไปไว้ที่วัดต่างๆนอกพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาในปี ๒๔๐๗ เกิดฝนแล้งข้าวยากหมากแพง บรรดาเสนาบดีจึงทำเรื่องกราบทูลรัชกาลที่ ๔ ซึ่งได้อัญเชิญพระพุทธลาวอีก ๓ องค์ คือ พระเสิม พระไสย และพระแสน จากเมืองหนองคายมาไว้ที่กรุงเทพฯด้วย ว่าตั้งแต่พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้มาอยู่กรุงเทพฯ ฝนก็ตกน้อยลงทุกที บางพวกก็ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนของแพงที่นั่น คนลาวถือว่าพระพุทธรูปของบ้านร้างเมืองเสียปีศาจมักสิงอยู่ เรียกกันว่า “พุทธยักษ์” รังเกียจนักไม่ให้เข้าบ้านเข้าเมือง ทั้งยังกราบทูลเรื่องพระแก้วกับพระบางในรัชกาลที่ ๑ ด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระราชดำริเห็นด้วย โปรดฯให้นำพระพุทธรูปที่ได้มาใหม่ไปประดิษฐานไว้ที่วัดนอกกรุง ครั้นเจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในปีขาล อัฐศก จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับเอาพระบางกลับคืนไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบางตามเดิม ซึ่งเจ้าอุปราชราชวงศ์ได้อัญเชิญพระบางออกจากวิหารวัดจักรวรรดิราชาวาส ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๐๘ กลับไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบางซึ่งตั้งชื่อเมืองตามพระพุทธรูปองค์นี้ มาจนถึงปัจจุบัน






กำลังโหลดความคิดเห็น