ลุ้นทางด่วนสายใหม่ “ฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี” เชื่อมต่อด่านจตุโชติไปอีก 104 กิโลเมตรเกิดขึ้นจริง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบโครงการ พบตามแผนตอกเข็มปี 65 สร้างเสร็จปี 68 ใช้งบลงทุนกว่า 8 หมื่นล้าน เชื่อมรามอินทรา-อาจณรงค์ เข้าเมืองวิ่งฉิวไม่ถึง 2 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. เฟซบุ๊ก “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. มีมติเห็นชอบโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร มีเขตทางประมาณ 40 เมตร มีระยะทางรวม 104.74 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากทางพิเศษฉลองรัช (อาจณรงค์-รามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) บริเวณด่านจตุโชติมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตใหม่ ตัดผ่านถนนลำลูกกา ผ่านพื้นที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
ตัดทางหลวงชนบทหมายเลข นย.3001 (องครักษ์-บางน้ำเปรี้ยว) ทางหลวงหมายเลข 305 (ถนนรังสิต-นครนายก) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) ตัดทางหลวงหมายเลข 3222 (บ้านนา-แก่งคอย) โดยหลังจากนั้นแนวสายทางโครงการจะขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 3222 ไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยมีทางขึ้น-ลงทั้งหมด 9 แห่ง อาคารศูนย์ควบคุมด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง อาคารควบคุมทางพิเศษ (Control Center Building หรือ CCB) ศูนย์บริการทางพิเศษ (Service Center) บริเวณทางขึ้น-ลงถนนรังสิต-นครนายก ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 117 ไร่ จุดพักรถ 2 แห่ง บริเวณทางขึ้น-ลงถนนลำลูกกา และทางขึ้น-ลงถนนมิตรภาพ สถานีตำรวจทางด่วน บริเวณศูนย์บริการทางพิเศษ และด่านชั่งน้ำหนัก 8 แห่ง
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี เกิดขึ้นปัจจุบันการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดปทุมธานี นครนายก และสระบุรี จะใช้ถนนรังสิต-นครนายก และถนนพหลโยธินเป็นเส้นทางหลัก ซึ่งมีปริมาณการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักสู่ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ตลอดแนวเส้นทาง นอกจากนั้น เส้นทางดังกล่าวยังมีปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดและช่วงเทศกาล จะเกิดปัญหาการจราจรติดขัดตลอดแนวเส้นทาง
ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี นครนายก และสระบุรี การทางพิเศษฯ จึงได้วางแผนการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษฉลองรัชไปยังจังหวัดนครนายก และสระบุรี เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนนเพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนปัจจุบัน อีกทั้งช่วยในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นครนายก และสระบุรี โดยทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2557 และได้ส่งรายงานการศึกษาความเหมาะสมฯ และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้การทางพิเศษฯ เมื่อเดือนเมษายน 2559
โครงการนี้มีค่าลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 80,594.31 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 7,395.42 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) จำนวน 73,198.89 ล้านบาท ซึ่งตามแผนงาน การทางพิเศษฯ จะออกประกาศพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในปีงบประมาณ 2565 ใช้เวลาจัดกรรมสิทธิที่ดิน 1 ปี พร้อมกับดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2565-2568 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568
สำหรับจุดขึ้น-ลงโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ประกอบด้วย 9 จุด ได้แก่ 1. ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกตะวันออก) 2. ถนนหทัยราษฎร์ 3. ถนนลำลูกกา แยกซ้ายไปอำเภอลำลูกกา แยกขวาไปชุมชนคลอง 16 4. ถนนองครักษ์-บางน้ำเปรี้ยว ใกล้สถานีพัฒนาที่ดินนครนายก แยกซ้ายไป อ.องครักษ์ แยกขวาไป อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา 5. ถนนรังสิต-นครนายก กิโลเมตรที่ 59-60 ใกล้แยกบางอ้อ ห่างจากตัวจังหวัดนครนายก 15 กิโลเมตร
6. ถนนสุวรรณศร หลักกิโลเมตรที่ 116 ใกล้แยกบ้านนา ห่างจากแยกหินกอง 26 กิโลเมตร ห่างจากโรงเรียนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ 14 กิโลเมตร และตัวจังหวัดนครนายก 16 กิโลเมตร 7. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา) กิโลเมตรที่ 53+500 บริเวณด่านแก่งคอย มีสะพานทิศทางไป จ.นครราชสีมา 8. ทางเลี่ยงเมืองสระบุรีด้านทิศตะวันออก ต.กุดนกเปล้า อ.เมืองฯ จ.สระบุรี และ 9. ถนนมิตรภาพ กิโลเมตรที่ 10-11 ห่างจากทางแยกต่างระดับแก่งคอย 1 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดสระบุรี 11 กิโลเมตร
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังถนนมิตรภาพเพื่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีระยะทางเพียงแค่ 133 กิโลเมตร (อาจณรงค์-รามอินทรา 18.7 กิโลเมตร, รามอินทรา-วงแหวนกาญจนาภิเษก 9.5 กิโลเมตร และฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี 104.74 กิโลเมตร) ขณะเดียวกัน รถที่มาจากมอเตอร์เวย์ จ.นครราชสีมา สามารถใช้ทางพิเศษสายดังกล่าว ไปยังถนนกาญจนาภิเษก เพื่อไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือตรงไป เพื่อไปยังรามอินทรา ลาดพร้าว เอกมัย และอาจณรงค์ได้อีกด้วย โดยไม่ต้องอ้อมไปทางวังน้อย หรือบางปะอินอีกต่อไป