xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.ดิเรกฤทธิ์” หนุนทำประชามติก่อนโหวตแก้ รธน.วาระ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.ดิเรกฤทธิ์” หนุนชะลอโหวตแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพื่อไปทำประชามติก่อน ถึงจะเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เสนอประชามติ 3 ครั้ง “จะทำฉบับใหม่หรือไม่ - ให้มี ส.ส.ร. ไหม - เมื่อเสร็จให้ประชาชนเห็นชอบ”



วันที่ 15 มี.ค. 2564 ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “ปมร้อน ชี้ชะตา แก้รัฐธรรมนูญ”

โดย ดร.ดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา วินิจฉัยว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ รัฐสภา แต่มีอำนาจแค่ไหน ต้องกลับมาสู่หลักกฎหมายมหาชน ส.ส. - ส.ว. มีอำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ตนเห็นว่า หากผ่านวาระ 3 อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนกำหนดชัดเจนว่าแก้ไขได้เป็นรายมาตรา แต่ถ้าวาระ 1-2-3 ผ่านไป กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้น จนถึงการประกาศใช้ฉบับใหม่ กระบวนการรัฐสภาตรงนี้ที่น่ากังวล จึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งศาลตีความว่าเป็นการก่อให้เกิดฉบับใหม่ ท่านจึงแนะนำว่าต้องไปทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาให้จบกระบวนการ

ตนเห็นว่า ควรชะลอวาระ 3 เพื่อให้ทำประชามติก่อน เพื่อเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากวาระ 3 ผ่าน การกระทำสำเร็จ รัฐสภาเปิดทางให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมันทำไม่ได้ จึงต้องชะลอไว้ แล้วถามประชาชนก่อน ก่อนกลับมาลงมติ

คนที่จะตัดสินใจทำประชามติ คือ รัฐบาล รัฐบาลสามารถทำประชามติได้ 2 กรณีใหญ่ๆ ก็คือ 1. เป็นประชามติในการปรึกษาหารือ หรือเรื่องสำคัญของประเทศ เห็นควรจำเป็นทำประชามติ 2. ทำประชามติตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดให้ทำ

ดร.ดิเรกฤทธิ์ กล่าวอีกว่า เห็นหลายท่านบอกทำประชามติหลังผ่านวาระ 3 ได้ แต่พวกตนที่ลงชื่อมองว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ บางความเห็นก็บอกว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) มีการให้ลงประชามติอยู่แล้ว อันนี้ก็สอดคล้องกับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ตนมองว่าตรงนี้จะมีปัญหา

ตามความเห็นของตน ประชามติควรมี 3 ครั้ง คือ  1. ต้องถามก่อนว่าจะทำฉบับใหม่หรือไม่ 2. ถามว่าการออกแบบให้มี ส.ส.ร. เห็นชอบหรือไม่ เพราะ ส.ส.ร.เกิดขึ้นมา รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด แล้วรัฐสภาไม่มีอำนาจไปมอบให้เขา นอกเหนืออำนาจรัฐธรรมนูญ จึงต้องถามผู้สถาปนานั่นก็คือประชาชน 3. เสร็จแล้วเอามาให้ประชาชนเห็นชอบอีกครั้ง

ดร.ดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าเราชะลอวาระ 3 ไว้ สิ่งที่เราทำมาไม่เสียเปล่า เราไปถามประชาชนให้ชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันท่านเห็นว่าดีหรือไม่ดี ถามเลยว่าร่างฉบับใหม่ เห็นด้วยหรือไม่ นี่คือคำถามหลัก แล้วถามคำถามพ่วง เช่น จะให้คนร่างใหม่มาจาก ส.ส.ร. หรือไม่ จะเว้นหมวด 1-2 เห็นด้วยหรือไม่ เมื่อมีประชามติเหล่านี้แล้ว รัฐสภาค่อยลงมติวาระ 3 ก็ได้

หากทุกคนไม่มุ่งมั่นร่วมแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง มีแต่ขัดแย้ง มันก็ไปไม่ได้ การออกแบบการแก้รัฐธรรมนูญต้องเกิดด้วยความสามัคคี และยอมรับจากทุกฝ่าย รวมถึง ส.ว. และฝ่ายค้าน

ดร.ดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่จะยื้ออะไรทั้งสิ้น ที่คนออกไปชุมนุม ส่วนหนึ่งเพราะคนหวังพึ่งรัฐสภาไม่ได้ เราก็ต้องตระหนักเหมือนกัน ว่า เราอาจไม่ได้ทำหน้าที่ดีพอ การแก้รัฐธรรมนูญทุกคนทำตามหน้าที่ เรื่องเหล่านี้ทำโดยเปิดเผย ไม่มีใครดึงได้ถ้าไม่มีเหตุผล และต้องให้เกียรติทุกคนที่ทำหน้าที่อยู่ ถ้าทำความเข้าใจอย่างนี้บ้านเมืองก็ไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น