xs
xsm
sm
md
lg

“ฝ่ายค้าน” ลุยไฟ! ลั่นต้องเดินหน้าโหวตแก้ รธน.วาระ 3 มั่นใจไม่ขัดคำวินิจฉัยศาลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ชี้ศาลฯวินิจฉัย รธน.แก้ไขได้ ประกาศลุยโหวตวาระ 3 ชง “ชวน” ถกประชามติพ่วงไปเลย “พิธา” จวกพวกบอกโมฆะ ตีความไม่เห็นหัว ปชช. จี้ รบ.ใช้ ม.166 ถามประชามติ “วันนอร์” ขอทุกฝ่ายเห็นแก้ รธน.เป็นทางออกประเทศ “พิจารณ์” แนะทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ ถวายร่าง รธน.แก้ไข

วันนี้ (12 มี.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อกำหนดท่าทีร่วมกันหลังศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ภายหลังการประชุมมีการแถลงข่าวร่วมกัน

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ของฝ่ายค้านที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เป็นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ ดังนั้น ฝ่ายค้านจะดำเนินการเพื่อไม่ให้ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเราจะเดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต่อ ทั้งนี้ การดำเนินการในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ เราเห็นว่าประธานรัฐสภาควรนำเรื่องการลงประชามติเข้ามาหารือในที่ประชุมด้วย

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันในการลงมติวาระ 3 โดยเราถือว่ามีความชอบธรรม และสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดถูกต้องแล้ว

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่าอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภาตั้งแต่ต้น คำวินิจฉัยของศาลฯ ถือเป็นการยืนยัน จากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรมาจากการล้มล้างการปกครอง หรือการทำรัฐประหารอย่างเดียว แต่ควรอยู่คู่กับกลไกรัฐสภาในระบบประชาธิปไตย และคำวินิจฉัยที่ออกมาสอดคล้องกับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่เรากำลังทำอยู่ในรัฐสภา วาระที่ 1 และ 2 ถือว่าไม่เป็นโมฆะ และเราจะเดินหน้าไปสู่วาระที่ 3 สิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา คือ มาตรา 256 ไม่ใช่แก้ไขทั้งฉบับ และแม้วันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ประธานรัฐสภาจะกำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แล้ว แต่กระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นการพายเรือวนอยู่ในอ่าง มีความพยายามประวิงเวลาและถ่วงเวลาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามีการโหวตคว่ำในการประชุมรัฐสภาในวาระที่ 3 อีกก็จะได้รู้กันว่าใครมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน พรรคก้าวไกลเห็นว่าถ้ารัฐบาลมีความจริงใจแต่จะโหวตคว่ำในวาระที่ 3 ปิดประตูการแก้ไข ศาลรัฐธรรมนูญได้บอกวิธีลดอุณหภูมิการเมือง คือ ให้รัฐบาลใช้มาตรา 166 เพื่อสอบถามประชาชนว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือกุญแจนำไปสู่ทางออก

“การที่สมาชิกรัฐสภาบางคนพยายามลดทอนอำนาจของตัวเองโดยการบอกว่าวาระที่ 1 และ 2 เป็นโมฆะนั้น เป็นการตีความที่ไม่เห็นหัวประชาชน และไม่ถูกต้อง” นายพิธาระบุ

วันมูหะหมัดนอร์ มะทา
เช่นเดียวกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตนคิดว่าประธานรัฐสภาทำถูกแล้วในการบรรจุกำหนดวันโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ดังนั้น ในการประชุมควรพิจารณาเห็นชอบเรื่องนี้เพียงอย่างเดียวว่ารับหรือไม่รับ การจะเอาเรื่องอื่นเข้ามาพิจารณาก่อนตนคิดว่าประธานสภารู้ดีว่าหากทำเช่นนั้นจะเท่ากับเรื่องที่พิจารณาอยู่ตกไป ประเด็นต่อมาคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรากำลังทำอยู่ เราใช้เวลานานกว่า 1 ปีในการดำเนินการเพื่อหาทางออกประเทศ ตนคิดว่ารัฐบาล ส.ว. และรัฐสภาต้องเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออกสำหรับวิกฤตประเทศ หากมีการโหวตคว่ำหรือไม่มีการโหวตก็จะค้านต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เราต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3


ด้านนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การดำเนินการที่เราทำอยู่นี้คือการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา ไม่ได้แก้ทั้งฉบับ ดังนั้น การดำเนินการจึงไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า รัฐสภามีความกังวลในเรื่องของเงื่อนเวลาตามมาตรา 5 ที่ระบุว่าจะต้องเลือก ส.ส.ร.ภายใน 30 วัน ซึ่งจะทำให้ไม่ทันต่อการทำประชามติ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เราต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนที่จะถึงกระบวนการลงพระปรมาภิไธย และประกาศเป็น พ.ร.ฎ. โดยเราสามารถทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 นี้หรือไม่ และถามเป็นคำถามพ่วงไปในคราวเดียวกับการทำประชามติว่าจะให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อให้มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีความเห็นหลายมุมในคำวินิจฉัยว่าควรเดินหน้าโหวตวาระ 3 ในวันที่ 17 มี.ค. 64 หรือไม่ ตนเห็นว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ในวาระ 1 และ 2 ก็ผ่านขั้นตอนมาทุกเรื่อง พอโหวตวาระ 3 หากผ่านก็ไปทำประชามติ ครั้งแรกคงใช้เวลา 90-120 วัน พอผ่านการทำประชามติก็เลือกตั้ง ส.ส.ร.200 คน แล้วไปยกร่าง ใช้เวลา 240 วัน เสร็จแล้วก็ไปทำประชามติ ครั้งที่ 2 ผ่านแล้วก็โปรดเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 60 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รวมระยะเวลาทั้งสิ้นราวๆ 20 เดือน ที่มี ส.ว.บางท่านบอกว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะต้องไปทำประชามติก่อนนั้น ส่วนตัวเห็นว่าทุกอย่างผ่านตัวแทนประชาชนในรัฐสภามาแล้ว ควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ได้ ส่วนสมาชิกรัฐสภาจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ส่วนมากก็พอมองเห็นกันอยู่ ตนขอบอกว่ามีแค่สองกลุ่ม คือ กลุ่มที่อยากให้แก้ไข เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 60 มีจุดอ่อนหลายเรื่อง มีความเป็นประชาธิปไตยน้อย กับกลุ่มที่ไม่อยากให้แก้ไข เพราะได้ประโยชน์จากเหมือนกับคำพูดที่ว่ารัฐธรรมนูญเขียนมาเพื่อพวกเรา


กำลังโหลดความคิดเห็น