“ชินวัตร จันทร์กระจ่าง” หรือ “ไบรท์” แกนนำแถวสอง ประกาศไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ “เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี” ขอตั้งกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า “กลุ่มราษฎรนนทบุรี” เพียงอย่างเดียว เผยวีรกรรมยาวเหยียดในช่วงที่ผ่านมา เปิดประวัติพบเป็นคนขายเปลญวนที่ถนนข้าวสาร แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
วันนี้ (3 มี.ค.) เฟซบุ๊ก “ไบรท์ ราษฎร” ของนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง โพสต์ข้อความระบุว่า “นับต่อจากนี้เป็นต้นไป ผม ไบรท์ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีอีกต่อไป ถึงแม้ผมจะเป็นคนตั้งมาก็แล้วแต่ กลุ่มของผมต่อจากนี้ คือ กลุ่มราษฎรนนทบุรี อย่างเดียวเท่านั้น กลุ่มของผมจะไม่มีใครมา
แทรกแซงอีกต่อไป”
สำหรับเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี มีนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ อายุ 28 ปี, นายปัญญาวี มีผึ้ง และนางสุวรรณา ทองฤทธิ์ เป็นแกนนำ ที่ผ่านมานายชินวัตรเคยเป็นแกนนำเสื้อแดงนนทบุรี ในนามเครือข่ายชาวนนทบุรีต่อต้านรัฐประหารและอยุติธรรม และกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาชน (กวป.) ปราศรัยโจมตีการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในปี 2557 ถูกฟ้องหมิ่นประมาทต้องลงประกาศขอโทษในหนังสือพิมพ์ เคยถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกไปรายงานตัว
วันที่ 11 ม.ค. 2562 นายชินวัตร ร่วมเคลื่อนไหวกับนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ท่าน้ำนนทบุรี ก่อนถูกดำเนินคดีร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมกับจ่านิว และ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์
วันที่ 10 มี.ค. 2562 นายชินวัตร เข้าร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทายาทกลุ่มไทยซัมมิท โดยเป็นแกนนำกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี (NGN นนทบุรี) และรับหน้าที่เป็นพิธีกรปราศรัยที่บริเวณตลาดบางใหญ่
ผ่านไปกว่า 1 ปี วันที่ 14 ส.ค. 2563 นายชินวัตรก่อตั้งกลุ่มลูกทุเรียนนนท์ต่อต้านเผด็จการ จัดปราศรัยบริเวณลานกิจกรรมริมเขื่อนท่าน้ำนนทบุรี ร่วมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) และ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งในวันนั้น นายพริษฐ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน จะไปปราศรัยด้วย แต่ถูกตำรวจควบคุมตัวที่เมืองทองธานี
วันที่ 10 ก.ย. 2563 นายชินวัตร จัดเวทีปราศรัยอีกครั้ง “คนนนท์ท้าชนเผด็จการ” ที่ริมเขื่อนท่าน้ำนนทบุรี มีแกนนำคนสำคัญ เช่น นายพริษฐ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นายอานนท์ นำภา, นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง เป็นต้น
วันที่ 19 ก.ย. 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ปราศรัยกล่าวถึงการถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่ในการเดินทางด้วยเรือจากท่าน้ำนนท์ และยืนยันว่า ไม่ได้ล้มล้างสถาบัน แต่มาทวงอำนาจคืนให้แก่ราษฎร
วันที่ 13 ต.ค. 2563 นายชินวัตร และนายพริษฐ จัดกิจกรรมแรลลี่ พร้อมนำประชาชนขับรถนำขบวนติดตามไฮด์ปาร์ก ติดสติกเกอร์ ปักหมุดคณะราษฎร ตามสถานที่ราชการและบ้านบุคคลสำคัญต่างๆ ภายในพื้นที่นนทบุรี เช่น กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานกองสลาก กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม และบ้านพักของสมาชิกวุฒิสภาเขตพื้นที่ของอำเภอบางกรวย
วันที่ 16 ต.ค. 2563 นายชินวัตรนำเครื่องขยายเสียงปราศรัยนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมนายชินวัตร ตามหมายจับของศาลแขวงปทุมวัน ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในชั้นศาล ตีเงินประกันคนละ 20,000 บาท หลังได้รับการปล่อยตัว วันต่อมานายชินวัตรได้นัดชุมนุมที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง สะพานพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี
ขณะเดียวกัน นายชินวัตรถูกศาลแขวงปทุมวันออกหมายจับอีกรอบ พร้อมกับ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตนักการเมืองพรรคไทยรักษาชาติ, นายอรรถพล บัวพัฒน์, นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก
วันที่ 18 ต.ค. 2563 ขณะที่ตำรวจ สภ.บางศรีเมือง ตั้งด่านตรวจความมั่นคง ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี พบรถเบนซ์ สีดำ ทะเบียน ศอ 9229 กรุงเทพมหานคร ขับเข้ามายังด่าน จึงขออนุญาตตรวจค้นภายใน มีนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง อายุ 28 ปี นั่งอยู่เบาะด้านหลัง ขณะไปชุมนุมที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต บางใหญ่ จึงแสดงตัวเข้าจับกุม
วันที่ 19 ต.ค. 2563 นายชินวัตรได้รับการประกันตัวในวงเงิน 100,000 บาท ก่อนไปร่วมชุมนุมที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เคลื่อนขบวนไปที่ท่าน้ำนนทบุรี เพื่อขับไล่ พ.ต.อ.สีหเดช สระกอบแก้ว ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี
วันที่ 21 ต.ค. 2563 นายชินวัตรนำผู้ชุมนุมไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล
วันที่ 22 ต.ค. 2563 นายชินวัตรจัดการชุมนุมที่หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ฮอลลีวู้ด ปากเกร็ด
วันที่ 23 ต.ค. 2563 นายชินวัตรขึ้นเวทีปราศรัยที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าภาคีนิรนามมีการจัดกิจกรรม “นอนแคมป์ไม่นอนคุก” ร่วมกับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำกลุ่มราษฎรอีสาน
วันที่ 29 ต.ค. 2563 กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เตรียมที่จะนัดชุมนุมกันที่หน้าอาคารอินเตอร์ลิงก์ ทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด กม. 4.5 เพื่อประท้วงการนำเสนอข่าวของสื่อเครือเนชั่น โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี แต่นายชินวัตรรีบออกมาปฏิเสธ ไม่ได้เป็นผู้ที่จะเรียกทุกคนไปร่วมชุมนุมตรงนั้น และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
วันที่ 30 ต.ค. 2563 กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดยนายชินวัตร ร่วมด้วยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว, นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะ บอตทอม บลูส์ และนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที นัดชุมนุมที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต บางใหญ่ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมรับข้อเสนอ 3 ข้อ ตามที่เรียกร้อง
วันที่ 31 ต.ค. 2563 กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดย นายชินวัตร ชุมนุมที่หน้า สภ.เมืองนนทบุรี ปราศรัยโจมตีตำรวจที่ออกหมายจับตนและพวกคดีมาตรา 116 เรียกร้องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้าย พ.ต.อ.สีหเดช สระกอบแก้ว ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ออกจากพื้นที่ จากนั้นนายชินวัตรพาแนวร่วมไปจัดกิจกรรมรำลึกถึง “ลุงนวมทอง” ที่หน้าโรงพัก
วันที่ 2 พ.ย. 2563 นายชินวัตร พร้อมทนายอาสา เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ที่ สภ.เมืองนนทบุรี ก่อนที่ในช่วงเย็น นำมวลชนกิจกรรมเผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง พ.ต.อ.สีหเดช สระกอบแก้ว ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี
วันที่ 3 พ.ย. 2563 นายชินวัตรพร้อมด้วยนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ นายอรรถพล บัวพัฒน์ ครูใหญ่ กลุ่มขอนแก่นพอกันที น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อมพวก รวม 11 คน และ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม รับทราบข้อกล่าวหากรณีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา
วันที่ 4 พ.ย. 2563 นายชินวัตร ร่วมกับนายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน, นายธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย YPD, นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ขอนแก่นพอกันที และ น.ส.สุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือเมนู แถลงข่าวที่ท้องสนามหลวง ไม่ยอมรับคณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์
วันที่ 6 พ.ย. 2563 กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดยนายชินวัตร รวมตัวที่หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ถนนพิบูลสงคราม จ.นนทบุรี ปราศัยโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.สีหเดช สระกอบแก้ว ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ก่อนจุดประทัดจำนวน 5,000 นัด เผารูปนายกรัฐมนตรี และรูป ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ใส่โลงและเผาร่วมกับดอกไม้จันทน์ จากนั้นได้แยกย้ายกันกลับบ้าน
วันที่ 8 พ.ย. 2563 กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าราษฎร ได้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อยื่นหนังสือถึงสำนักพระราชวัง เวลา 13.10 น. นายชินวัตร กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า วันนี้ปู่เสีย สวดอยู่วัด แต่นี่ภารกิจใหญ่ เพื่อชาติ เพื่อประชาชน พี่น้องทางบ้านทยอยมาร่วมกันได้เลย เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของพี่น้องผู้รักประชาธิปไตย ก่อนที่จะเดินขบวนโดยมีนายชินวัตรรวมอยู่ด้วย แล้วเกิดการปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนที่หน้าศาลฎีกา
วันที่ 17 พ.ย. 2563 กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 ชุมนุมที่รัฐสภา ย่านเกียกกาย เพื่อเรียกร้องให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ นายชินวัตร นำมวลชนบางส่วนมาจากนนทบุรี นั่งเรือโดยสารมาที่ท่าเรือเกียกกาย หลังจากเรือที่เช่าเหมาลำถูกยึดไว้ ต่อมานายชินวัตรนำห่วงยางที่แขวนอยู่บริเวณโป๊ะท่าเรือ สวมก่อนกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยา และว่ายน้ำขึ้นฝั่งอาคารรัฐสภา โดยระบุว่าจะเข้าไปยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
วันที่ 18 พ.ย. 2563 นายชินวัตร นำรถขยายเสียงปิดแยกราชประสงค์เพื่อชุมนุม หลังจากที่ นายอานนท์ นำภา นัดหมายชุมนุมเมื่อวันก่อน ในวันนั้นมี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ เดินทางมาสมทบ ก่อนที่ผู้ชุมนุมทั้งหมดจะสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติและบริเวณโดยรอบ เนื่องจากโกรธแค้นเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา
วันที่ 25 พ.ย. 2563 นายชินวัตร ปราศรัยที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน อ่านประกาศเรื่องให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ในเวลา 17.00 น. เนื่องจากไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุม แต่ นายชินวัตรกล่าวว่า ประชาชนไม่ฟังท่านอีกต่อไปแล้ว นี่คือเขตราษฎร ในวันนั้นแกนนำประกอบด้วย นายพริษฐ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์, นายอานนท์ นำภา และมี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ให้การสนับสนุน
วันที่ 27 พ.ย. 2563 มีการชุมนุมแบบดาวกระจาย 5 จุด ในกรุงเทพฯ นายชินวัตร เป็นแกนนำที่รถขยายเสียงเยื้องห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ขณะเดียวกัน นายชินวัตร ถูกตำรวจออกหมายเรียก พร้อมกับพวกรวม 5 คน
วันที่ 28 พ.ย. 2563 นายชินวัตร นัดรวมตัวที่สถานีรถไฟฟ้าศูนย์ราชการนนทบุรี จัดกิจกรรม แรลลี่ก๊าบๆ ปราบเผด็จการ เพื่อยกระดับรวมพลังคนนนท์ ไม่ทนต่อเผด็จการ ขณะนั้นผู้ชุมนุมมีการพ่นสีสเปรย์จนเสียหาย นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี สั่งการให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ฐานทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย
วันที่ 29 พ.ย. 2563 นายชินวัตร เข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยที่สถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ มีการทำพิธีอัญเชิญดวงจิตของ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายปรีดี พนมยงค์ มาเป็นสิริมงคลในการโค่นล้มศักดินา ก่อนเคลื่อนขบวนมายังหน้ากรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
วันที่ 1 ธ.ค. 2563 นายชินวัตร พร้อมนายฉัตรมงคล วัลลีย์ นายธนชัย เอื้อฤาชา จากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มารายงานตัวและยื่นคำให้การเพิ่มเติมที่ สน.เตาปูน จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ที่บริเวณแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ 2 ธ.ค. 2563 นายชินวัตร ปราศรัยที่รถขยายเสียง หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนที่แสดงความไม่พอใจหลังมีคำวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก่อนเลิกเวที
วันที่ 6 ธ.ค. 2563 นายชินวัตร ขึ้นรถปราศรัยเคลื่อนขบวนบนถนนลาดหญ้า มุ่งหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ร่วมกับคนที่ใช้ชื่อว่า เจ๊ป๊อกกี้ กลุ่มราษฎรฝั่งธน และ ฟรอยด์ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย แต่ต่อมาได้ประกาศว่าให้มวลชนออกจากพื้นที่เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมาย และถูกแจ้งข้อหาบุกรุกสถานที่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ กทม. ไม่อนุญาต
วันที่ 8 ธ.ค. 2563 นายชินวัตร พร้อมด้วยนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม ที่ สภ.เมืองนนทบุรี
วันที่ 10 ธ.ค. 2563 นายชินวัตร ขึ้นเวทีชุมนุมเรียกร้องสิทธิของผู้พิการ นำโดยนายบรรพต ไชยะหล้า ตัวแทนของผู้พิการ ที่หน้ากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยโจมตีรัฐบาล เรียกร้องประชาธิปไตย และพยายามชูเรื่องรัฐสวัสดิการ
วันที่ 17 ธ.ค. 2563 นายชินวัตร แจ้งความต่อตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ให้ดำเนินคดีต่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 อ้างว่าพยายามจะเอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมา ขณะเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นายชินวัตรถูกออกหมายเรียกจาก สน.พหลโยธิน ให้ไปรับทราบข้อหามาตรา 112 และเรื่องไม่แจ้งการชุมนุม กรณีการชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน
วันที่ 18 ธ.ค. 2563 นายชินวัตร พร้อมด้วยนายชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือจัสติน, นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน แกนนำกลุ่มมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และพวกรวม 4 คน เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี รับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ก่อนสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่อมาในช่วงเย็น นายชินวัตร, นายชูเกียรติ, นายสิริภพ, นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, นางณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสา และนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ กลุ่มขอนแก่นพอกันที ทำกิจกรรมได้นำน้ำยาล้างจานมาล้างทำความสะอาดอักษรคำว่า “ชาติ” ตรงป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะร่วมกันชู 3 นิ้ว และประกาศยุติกิจกรรม
วันที่ 21 ธ.ค. 2563 นายชินวัตร พร้อมด้วยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า, น.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, น.ส.อินทิรา เจริญปุระ หรือทราย และ น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสา เข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 และอื่นๆ รวม 8 ข้อหา ที่ สน.บางเขน จากกรณีการชุมนุมปราศรัยบริเวณ กรมทหารราบที่ 11
วันที่ 22 ธ.ค. 2563 นายชินวัตร พร้อมด้วยนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.วรรณวลี เอมจิตต์ หรือตี้ พะเยา, นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า พร้อมทนายความ เข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 กรณีการชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 และการชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563
วันที่ 14 ม.ค. 2564 นายชินวัตร พร้อมด้วยนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ และแกนนำแนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์ รวม 14 คน เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม รับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในการชุมนุมที่สนามหลวงวันที่ 19-20 ก.ย. 2563
วันที่ 23 ม.ค. 2564 นายชินวัตร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ไบรท์ ราษฎร” ว่าเปิดประมูลแหวนทองเหลืองหมุดคณะราษฎร 63 ที่ตัว ราคาเริ่มต้นที่ 1,112 บาท และเปิดรับบริจาคผ่านบัญชี เนื่องจากที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง เหลือเงินที่ตัวไม่กี่บาท
วันที่ 9 ก.พ. 2564 หลังจากที่ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำกลุ่มราษฎร คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายอานนท์ นำภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร ได้ประกาศนัดรวมพลที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน โดยพบว่า มีนายชินวัตรเดินทางมาสมทบด้วย
วันที่ 17 ก.พ. 2564 พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม นัดส่งตัวผู้ต้องหาแกนนำและผู้ชุมนุมคดีการชุมนุม 19-20 ก.ย. 2563 ทั้งหมด 19 คน ในข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 ให้กับพนักงานอัยการ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายชินวัตร แต่อัยการแถลงว่า ไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาได้ทัน จึงนัดฟังคำสั่งฟ้องใหม่ ในวันที่ 8 มี.ค. 2564
วันที่ 18 ก.พ. 2564 กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดยนายชินวัตร มีแผนที่จะทำกิจกรรม “วันศุกร์ ปลุกความยุติธรรม” ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันศุกร์ที่ 19 ก.พ. 2564 แต่ได้เลื่อนออกไปเนื่องจาก Mob Fest จัดกิจกรรมบริเวณหน้ารัฐสภา
วันที่ 20 ก.พ. 2564 เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดยนายชินวัตร รวมตัวกันที่สี่แยกบางโพ ก่อนเดินขบวนไปยังหน้ารัฐสภา เกียกกาย สมทบกับมวลชนประท้วงหลังจากการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสร็จสิ้นไปแล้ว
วันที่ 26 ก.พ. 2564 เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดยนายชินวัตร รวมตัวกันที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ หลังได้เดินเท้ามาจากสถานีรถไฟฟ้าสะพานพระนั่งเกล้า โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
วันที่ 3 มี.ค. 2564 น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร พร้อมด้วยนายชินวัตร แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี ทำกิจกรรมอ่านจดหมาย 112 ฉบับ ส่งกำลังใจให้นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ แกนนำกลุ่มราษฎร ที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
อีกด้านหนึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ นายชินวัตรพยายามเข้าสู่การเมืองมาตลอด แต่ไม่ได้เป็นผู้ถูกเลือกลงสนามเลือกตั้ง ทำให้เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2563 เจ้าตัวโพสต์เฟซบุ๊กว่า “ผมไม่จำเป็นต้องพิงหลังใคร ไม่จำเป็นต้องอาศัยกระแสใคร ผมลูกคนจน ทำเท่าที่มีครับ” และกล่าวว่า “ผมจะตั้งใจทำงานเตรียมเก็บเงิน ลุยศึกเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยน้ำพักน้ำแรงของผมเองครับ” แต่เมื่อมีการชุมนุมนายชินวัตรจึงได้ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคณะราษฎร 2563
นายชินวัตรยังเคยไปออกรายการ “รู้หน้า ไม่รู้วัย” เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2563 ระบุว่า ทำอาชีพขายเปลญวนที่ถนนข้าวสาร เป็นรายได้ทางเดียวเพราะตนเป็นหัวหน้าครอบครัว พอมีวิกฤตโควิด-19 มีการปิดถนนข้าวสารทำให้ขาดรายได้ไป ที่บ้านมีสมาชิกในครอบครัว 4 คน ประกอบด้วย น้อง พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ก็เสียชีวิตหมดแล้ว มีตนที่ต้องดูแลน้องที่ขายพวงมาลัย พอช่วงโควิด-19 มา ทุกอย่างกลายเป็นศูนย์หมด ขายไม่ได้เลย จึงคิดคั้นน้ำส้มขายเพื่อประทังชีวิตไปก่อน
พอทำมาเยอะๆ เป็นร้อยๆ ขวด อากาศร้อน ทำให้ส้มเกิดเน่าเสีย ต้องทิ้งไป ทำให้ตนเครียด จะกินสักบาทก็ไม่มี จะไปซื้อของกินก็ไม่ได้ ก็เลยคิดสั้น แต่ก็มีสติ มานั่งคิดดูว่าเราเป็นผู้นำครอบครัว ถ้าเราคิดแบบนั้น อะไรจะเกิดขึ้นกับคนข้างหลังที่รอเราอยู่ ผมก็จะสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อครอบครัวและคนในครอบครัวของผม ไม่ว่าจะเป็นลูกเมียหรือพี่น้องทุกคน ไม่ว่าจะสถานการณ์จะหนักกว่านี้หรือยังไงก็แล้วแต่ ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องคนไทยทุกคนให้ก้าวผ่านโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
ขณะเดียวกัน นายชินวัตร มีภรรยาคือ น.ส.ดวงวิไล พงสะวัด หรือน้อย ชาว สปป.ลาว เธอกล่าวว่า ตอนนี้ตกงานเพราะตั้งครรภ์ บางทีก็เครียดเห็นไบรท์นั่งเครียดคนเดียว เพราะเขาก็ตกงาน ตนก็ตกงาน แถมตั้งครรภ์ ทั้งสองก็ไม่ได้ทำอะไร ขายน้ำส้ม บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ ตนก็กังวลเวลาไปฝากท้องจะเอาเงินที่ไหน เวลาคลอดจะมีเงินคลอดหรือไม่ แล้วก็เป็นห่วงลูก กลัวลูกไม่แข็งแรง ก็ไม่ได้ซื้ออะไรกิน ก็กินแบบธรรมดา
ใจหนึ่งก็อยากกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้เพราะด่านพรมแดนยังไม่เปิด ไม่มีเงินติดตัวสักบาท บางวันก็คิดจะฆ่าตัวตาย แต่ดีที่มีไบร์ทอยู่ข้างๆ คอยปลอบใจ วันนั้นไบร์ทได้เงินร้อยกว่าบาท ก็ให้ตนไปซื้อกับข้าว แต่เขาก็อดเพื่ออยากให้เราได้กิน แต่เขาไม่กินเพราะเขาเป็นห่วงเรา อยากบอกว่าเดี๋ยวสักวันเราก็ผ่านไปได้ อดทนไปด้วยกันนะ หนูก็รักเขามากเหมือนกัน เดี๋ยวสักวันมันก็ดีขึ้น เดี๋ยวมันก็ได้ผ่านไป
ชมคลิป คลิกที่นี่