“ธีระชัย” ค้านใช้ฐานะการเงินกำหนดหลักเกณฑ์นักลงทุนคริปโต ชี้เป็นการปิดกั้น ควรเน้นให้ความรู้ความเข้าใจดีกว่า หนุนจัดระบบให้เข้มแข็งเทียบเท่าหุ้น-พันธบัตร
วันที่ 1 มี.ค. 2564 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “”อีกด้านของเหรียญคริปโตฯ”
โดยนายธีระชัยกล่าวในช่วงหนึ่งถึงกรณี ก.ล.ต.เปิดรับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์คุณสมบัตินักลงทุนคริปโต โดยกำหนดคุณสมบัติด้านการเงิน เช่น มีรายได้ต่อปี (ไม่นับรวมกับคู่สมรส) ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป, มีสินทรัพย์สุทธิ (ไม่นับรวมมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งใช้เป็นที่พักอาศัยประจำ) ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัล (port size) ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ว่า อันนี้เป็นการปิดกั้น สมัยตนอยู่ ก.ล.ต. มีบริษัทออก B/E (Bill of Exchange) คล้ายๆ หุ้นกู้ แต่ระยะสั้น แล้วขายให้ชาวบ้านโดยตรง ไม่แน่ใจว่านักลงทุนเข้าใจความเสี่ยงการลงทุนนี้จริงหรือเปล่า ก.ล.ต. เลยใช้วิธีให้คนที่ออกตั๋วออกได้อย่างต่ำ 10 ล้านบาท ใครที่มีเงินไม่ถึง 10 ล้านจะได้ไม่ต้องเข้ามาเสี่ยง
ตอนนั้น ก.ล.ต.กังวลในเรื่องการคุ้มครองผู้ลงทุน ไม่ได้กลัวเขาขาดทุน แต่กลัวได้ข้อมูลไม่ครบ กลัวว่าเข้าใจผิด แต่เวลานี้กำลังจะตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับฐานะนักลงทุน ตนคิดว่าไม่เหมาะ แต่ถ้าตั้งเงื่อนไขให้ชัดว่าเขามีความรู้มากพอ เขาอาจซื้อนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง ตนเห็นว่าควรปล่อย ทางการไทยต้องคำนึงว่าเปิดช่องให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสเข้าถึงได้ จะถูกจะผิดจะพลาดก็ให้ความรู้เขา
หลักเกณฑ์ควรมี แต่อย่าเน้นว่าใครมีปัญญาขาดทุนหรือเปล่า แต่ที่ต้องออกมาด่วนเลยคือคนที่จะลงทุนรู้หรือเปล่าว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน และจัดระบบให้แข็งแรงเข้มแข็ง เช่น ถ้าซื้อบิตคอยน์แล้วเก็บค้างเอาไว้กับแพลตฟอร์ม เราบังคับให้มีการสอบบัญชีทุก 3 เดือน ให้แน่ใจว่ายังอยู่ครบ ต้องทำให้คริปโตฯ ไม่แพ้เรื่องหุ้น พันธบัตร
นายธีระชัยยังกล่าวแนะนำสำหรับผู้สนใจเข้าลงทุนคริปโตฯ ว่า ความเสี่ยงสูง ประการแรกคนอายุเยอะไม่ควรยุ่ง ถ้าจะยุ่งก็เอาแค่ส่วนน้อย กันวงเงินให้ชัด และต้องเข้าไปรับรู้ข้อมูลให้มากพอสมควร