บอร์ดทีเอ็มบี อนุมัติจัดประชุมผู้ถือหุ้น 23 เม.ย.นี้ พิจารณาเปลี่ยนชื่อธนาคารใหม่ ใช้ “ธนาคารทหารไทยธนชาต” พร้อมเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์จาก TMB เป็น TTB พบก่อนหน้านี้ควบรวมสาขาทีเอ็มบี และธนชาต ไปแล้ว 129 สาขา และปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่รับการรีแบรนดิ้ง
วันนี้ (25 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่า ที่ประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ได้มีมติกำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในวันที่ 23 เม.ย. 2564 ที่ธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ โดยวาระการประชุมหนึ่งในนั้น คือการพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนชื่อธนาคาร และการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับต่างๆ ของธนาคาร เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อธนาคาร
ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นสมควรให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนชื่อธนาคารและการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิข้อ 1. โดยแก้ไขชื่อภาษาไทยเป็น “ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)” และแก้ไขชื่อภาษาอังกฤษเป็น “TMBThanachart Bank Public Company Limited” และการแก้ไขข้อบังคับข้อ 1. ข้อ 50. และ ข้อ 51. ของธนาคารเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อธนาคาร และ/หรือบุคคลที่กรรมการผู้มีอำนาจของธนาคารมอบหมาย มีอำนาจในการยื่นจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิข้อ 1. และข้อบังคับข้อ 1. ข้อ 50. และ ข้อ 51. ของธนาคารต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแบบคำขอหรือข้อความในเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีอำนาจในการดำเนินการใดๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้งตามคำแนะนำหรือคำสั่งของนายทะเบียนบริษัทมหาชน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนชื่อธนาคารจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง โดยธนาคารอยู่ในระหว่างการดำเนินการขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยตามที่กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนด
นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนภาพของแบรนด์ (Rebranding) ของธนาคารภายหลังการดำเนินการตามโครงการซื้อหุ้นเพื่อการโอนและรับโอนกิจการทั้งหมดของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK มายังธนาคาร ธนาคารมีแผนจะเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์จาก TMB เป็น TTB ต่อไป โดยการเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนชื่อธนาคารและนายทะเบียนบริษัทมหาชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิข้อ 1. และข้อบังคับข้อ 1. ข้อ 50. และข้อ 51. ของธนาคาร เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อธนาคาร
อีกด้านหนึ่ง ยังมีวาระพิจารณาอนุมัติโครงการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารให้แก่ผู้บริหาร และพนักงานของธนาคาร และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือโครงการ 2021 TMB Stock Retention Program โดยคณะกรรมการเห็นสมควรเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติโครงการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคารให้แก่ผู้บริหาร และพนักงานของธนาคาร และธนาคารธนชาต เป็นจำนวนรวมไม่เกิน 305 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.95 บาท ในราคาเสนอขายหุ้นละ 1.15 บาท โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อเป็นการตอบแทนการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานที่มีความตั้งใจในการทำงานและมีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธนาคาร และเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริหารและพนักงานที่มีผลงานโดดเด่น ขณะเดียวกัน เพื่อรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้ปฏิบัติงานกับธนาคารในระยะยาว และเพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการของธนาคารทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารต่อไปได้ และเพื่อส่งเสริมให้ผลตอบแทนผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นและพนักงานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งไปสู่การสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนแก่ธนาคาร ซึ่งอายุของโครงการต่อเนื่อง 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติโครงการ
นอกจากนี้ ยังมีวาระพิจารณาอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคาร เพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นภายใต้โครงการดังกล่าว จำนวนไม่เกิน 305 ล้านหุ้น และโครงการ 2019 TMB Stock Retention Program ที่ยังมีผลอยู่ จำนวนไม่เกิน 149,937,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.95 บาท เพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้บริหารและพนักงานของธนาคาร และธนาคารธนชาต ภายใต้โครงการ 2019 TMB Stock Retention Program ที่ยังคงมีผลอยู่อีกด้วย โดยในการประชุมดังกล่าว ธนาคารทหารไทยจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในวันที่ 10 มี.ค. 2564 และจะจัดส่งหนังสือบอกกล่าวเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ให้ผู้ถือหุ้น ก่อนที่จะจัดประชุมในวันที่ 23 เม.ย. 2564 ต่อไป
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มขนาดกิจการและศักยภาพในการแข่งขัน โดยธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี มีจุดเด่นเรื่องผลิตภัณฑ์เงินฝาก ส่วนธนาคารธนชาตมีจุดเด่นเรื่องสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ธนชาต ปัจจุบันมีธนาคารไอเอ็นจีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 22,190 ล้านหุ้น คิดเป็น 23.03% รองลงมาคือบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 19,389 ล้านหุ้น คิดเป็น 20.12% และกระทรวงการคลังถือหุ้น 11,364 ล้านหุ้น คิดเป็น 11.79% ขณะที่ธนาคารสโกเทียแบงก์ ประเทศแคนาดา ถือหุ้น 5,023 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.21% ส่วนกองทัพบกถือหุ้น 546 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.57%
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการหนึ่ง คือ การควบรวมสาขารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “สาขาร่วมระหว่างสองธนาคาร” (Co-Location) โดยมีตราสัญลักษณ์ทีเอ็มบี และธนชาต อยู่ร่วมกัน โดยเริ่มเปิดให้บริการแห่งแรกเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2563 ที่สาขาถนนสุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ โดยได้ทยอยเปลี่ยนสาขาร่วมระหว่างสองธนาคารโดยพิจารณาจากทำเลสาขาธนาคารทีเอ็มบี และธนาคารธนชาตเดิม โดยต้องอยู่ในย่านธุรกิจการค้า มีปริมาณธุรกรรมและมีลูกค้าใช้บริการจำนวนมาก จากนั้นก็จะควบรวมสาขาให้เหลือเพียงแห่งเดียว เมื่อเลือกว่าจะใช้สาขาใดเป็นสาขาร่วมในพื้นที่ ก็จะปรับปรุงเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการรวมกันของสองธนาคาร ปัจจุบัน (ณ วันที่ 25 ก.พ. 2564) มีสาขาร่วมระหว่างสองธนาคารแล้ว 129 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 51 แห่ง ต่างจังหวัด 78 แห่ง
นอกจากนี้ ยังได้เปลี่ยนโฉมแอปพลิเคชัน TMB Touch ใหม่ เวอร์ชัน 3.0 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ใหม่ของธนาคาร นอกจากการใช้สีน้ำเงินที่มีความสดมากขึ้นแล้ว ยังแฝงไปด้วยสีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำธนาคารธนชาตรวมอยู่ด้วย ส่วนแบบอักษรที่ใช้ในแอปพลิเคชันได้เปลี่ยนใหม่ มีชื่อว่า “เอกชน” (Ekachon)ซึ่งเคยนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถยนต์ธนชาตไดร์ฟ ที่ปรับโฉมใหม่เมื่อเดือน พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา