xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มติดตามการควบรวม NT เผยควบรวม 1 เดือน พบปัญหาเพียบ ร้องนายกฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มติดตามการควบรวม NT ส่งหนังสือร้องนายกฯ 6 ข้อ ลดการทำงานซ้ำซ้อน เร่งสรรหา CEO ใหม่ และเพิ่มจำนวนบอร์ด NT เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และกลุ่มผู้ติดตามการควบรวมกิจการระหว่าง กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือ เรื่อง ปัญหาที่พบหลังจากการควบรวมกิจการ กสท โทรคมนาคม และทีโอที เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จากัด (มหาชน) หรือ NT และขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ทั้งนี้ จากการติดตามในช่วงระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา หลังมีการควบรวมเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 พบ 6 ประเด็นที่มีปัญหาแสดงถึงการควบรวมกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.โครงสร้างองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความแตกต่างของระดับ (ซี) ระหว่างพนักงานของ กสท โทรคมนาคม (N1) และพนักงานของ ทีโอที (N2) ซึ่งมีการบริหารงานและปฏิบัติงานที่มีการทับซ้อนกัน มีผลต่อการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ การนำโครงสร้างของทั้ง 2 องค์กรมารวมกันโดยไม่พิจารณาถึงความเหมาะสม ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของการควบรวมกิจการ ไม่มีความชัดเจนในการทำงานของบุคคลากร ไม่ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่ร่วมกัน พนักงานและประชาชนผู้ใช้บริการสับสน เกิดความขัดแย้งภายในองค์กรจากวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น สายงานสื่อสารไร้สาย 1 กับ 2 ไม่มีการ Roaming โครงข่ายที่ควรใช้ร่วมกัน แต่มีการออกโปรโมชันในการให้บริการ Mobile ที่มีการแข่งขันและแย่งลูกค้ากันเอง สายงานขายลูกค้าองค์กร ที่มีฝ่ายภาคเอกชน 1 กับขายเอกชน 2 ไปขายลูกค้าเอกชนรายเดียวกัน และสายงานขายและปฏิบัติการลูกค้าในหลายพื้นที่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ และมีการแข่งขันแย่งลูกค้ากันเองในพื้นที่ เป็นต้น

แนวทางแก้ไขควรตั้งคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้ที่มีความรู้และเป็นมืออาชีพเพื่อปรับโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และพิจารณาแนวทางการสรรหาผู้บริหารระดับสูงให้เหมาะสมกับโครงสร้าง รับฟังความคิดเห็นพนักงานเพื่อให้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะและแสดงความเห็นในการได้มาถึงโครงสร้าง และผู้บริหารระดับสูง ให้สอดคล้องกับนโยบายการควบรวมที่แท้จริงและเป็นไปตามเป้าหมาย

2.คำสั่ง ข้อกำหนด ระเบียบ กฎเกณฑ์ และข้อปฏิบัติ เป็นเรื่องที่สำคัญที่ยังไม่มีความชัดเจน ล้าสมัย ขั้นตอนในการปฏิบัติงานซับซ้อนหลายขั้นตอน จากกรณีระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุเชิงพาณิชย์ที่ต้องถูกยกเลิกไป ต้องใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 นับตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2564 เป็นต้นมาเกิดปัญหาไม่สามารถจ่ายเงินให้พันธมิตรที่มีสัญญาให้บริการในลักษณะ System Integrator (SI) อยู่อย่างต่อเนื่อง หรือใน SI รายที่มีการลงนามสัญญาแล้วก็ต้องหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถส่งมอบงานให้ผู้ใช้บริการได้ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก ทำให้เสี่ยงอาจถูกเรียกค่าปรับหรือไม่สามารถส่งมอบงานให้ผู้ใช้บริการได้ตามเวลาของสัญญาที่กำหนด

และกรณีการเช่าวงจรระหว่างประเทศ การจัดจ้างตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 สำหรับงบที่เกิน 100,000 บาท ต้องจ้างผ่านระบบ e-GP ซึ่งบริษัทไทยที่ขายให้แก่หน่วยงานภาครัฐจะขึ้นทะเบียนในระบบแล้ว แต่สำหรับผู้ค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบ ถึงแม้ว่าระบบเปิดให้สามารถลงทะเบียนได้ แต่จะมีกระบวนการเพิ่มเติม และเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้ผู้ค้าต่างประเทศที่จะเสนอราคาได้มีจำนวนน้อยลงทำให้เหลือตัวเลือกน้อยลง อำนาจต่อรองลดลง นอกจากนั้น กรณีที่จำเป็นต้องต่อสัญญาบริการกับผู้ค้าต่างประเทศเฉพาะรายที่ให้บริการอยู่ปัจจุบันที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็จะต้องล่าช้าออกไปเพราะผู้ค้านั้นยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน และอาจจะไม่สะดวกขึ้นทะเบียน

แนวทางแก้ไข ควรแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้เกี่ยวข้องปรับปรุงระเบียบ กฎเกณฑ์ และข้อปฏิบัติที่จำเป็นและสำคัญให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ มีการซักซ้อมวิธีปฏิบัติงานให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจและรับทราบ เพื่อให้บุคลากรทั้ง 2 องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ควรต้องรีบดำเนินการแก้ไข คำสั่ง ข้อกำหนด ระเบียบ กฎเกณฑ์ และข้อปฏิบัติ เพื่อให้มีผลต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดความสับสนแก่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ใช้บริการ/พันธมิตร/คู่ค้า อันจะเป็นผลทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ รายได้ ความสามารถในการแข่งขันลดลง

3.การมี CEO ที่มาจากองค์กรที่มีบุคลากรมากกว่า ทำให้การพิจารณากำหนดนโยบายต่างๆ มุ่งเน้นไปที่องค์กรนั้นๆ มากกว่า ควรเร่งให้มีการสรรหา แต่งตั้ง CEO คนกลางตัวจริงให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้ง น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ตำแหน่งคณะกรรมการบริษัทฯ (อดีตประธานกรรมการ ทีโอที) เข้ามารักษาการ CEO อีกตำแหน่ง แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้มีการแต่งตั้งผู้รักษาการแทน CEO ให้ นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน ทำหน้าที่รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่อีกตำแหน่งอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับการที่ผู้บริหารยังไม่สามารถผสานวัฒนธรรมการทำงานของทั้ง 2 บริษัทให้เข้ากันได้ ก็อาจเกิดความล้มเหลวในการควบรวมกิจการ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์ของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ NT สามารถดำเนินธุรกิจตามกรอบวัตถุประสงค์ในการควบรวมที่จะเป็นเครื่องมือภาครัฐในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสารและโทรคมนาคมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางแก้ไข ขอให้เร่งสรรหา CEO ที่เป็นกลาง ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารกิจการควบรวมให้มีประสิทธิภาพ เป็นผู้ที่เข้าใจในงาน และเป็นที่ยอมรับของบุคลากรทั้ง 2 องค์กร ทั้งนี้ควรมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาความแตกต่างด้านวัฒนธรรมองค์กรเพื่อประสิทธิภาพประสิทธิผล และการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 องค์กรอย่างแท้จริง

4.ควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมที่เป็นมืออาชีพ เนื่องจาก NT เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ มีสำนักงานทั่วประเทศ มีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 17,000 คน และจากปัญหาของการควบรวมที่เกิดขึ้น การมีคณะกรรมการบริษัทฯ เพียง 5 คนนั้นไม่เพียงพอต่อการกำกับดูแลและกำหนดนโยบาย ปรับวัฒนธรรมการทำงาน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน ตอบสนองนโยบายภาครัฐอย่างมีเอกภาพ มีความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบบริหารจัดการ เพื่อให้บริการสำคัญด้านโทรคมนาคมของชาติได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

5.การปรับระบบ IT ที่สนับสนุนการให้บริการลูกค้า ตลอดจนระบบประมวลผล ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการเชื่อมโยงระบบที่สมบูรณ์แบบ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ และให้บริการ ทำให้มีผลต่อการให้บริการเกิดความล่าช้า และไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

6.ขอให้มีการตรวจสอบเนื้องานอย่างละเอียดก่อนส่งมอบงาน ในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา การบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัท เมอร์เซอร์ และบริษัท เคพีเอ็มจี ที่ใช้เงินงบประมาณในการว่าจ้างจำนวน 48.79 ล้านบาท และบริษัทที่ปรึกษา ที่จัดทำโครงสร้างองค์กรและแผนธุรกิจ คือ บริษัท อีวาย และบริษัท Prime street ที่ใช้เงินงบประมาณในการว่าจ้างจำนวน 72 ล้านบาท ให้มีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า เพื่อให้ได้ผลงานที่ตอบสนองต่อนโยบายอย่างแท้จริง และเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจพนักงานผู้ปฏิบัติงานอย่างมีความสุข และความมั่นคงขององค์กร ด้วย

จากปัญหาดังกล่าว NT จึงมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ อีกหลายประเด็น ที่สำคัญยิ่งที่เกิดจากการควบรวมกิจการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจากขณะนี้ NT ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันการเงิน การควบรวมของทั้ง 2 องค์กรควรจะเป็นการสร้าง Synergy นำความเข้มแข็งของทั้ง 2 องค์กรมารวมกันเนื่องจากสินทรัพย์ที่ทั้ง 2 องค์กรมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท เงินสด 2 หน่วยงานที่มีมูลค่าสูงถึง 36,700 ล้านบาท แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในส่วนของ กสท โทรคมนาคม หรือปัจจุบันเรียกว่า NT1 ถูกสถาบันการเงินปรับลดความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ลง เช่น กรณีการขอให้สถาบันการเงินออกหนังสือค้ำประกัน (Bank Guarantee) จากเดิมไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน และถูกสถาบันการเงินผู้ออกหนังสือค้ำประกันเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่า เป็นต้น ทำให้มีต้นทุนการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น