คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แถลงอาการผู้ว่าฯ สมุทรสาคร หายใจด้วยตัวเองไม่ต้องใช้เครื่องหายใจมา 4 วันแล้ว ไม่มีการให้ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ รวมทั้งยาลดการสร้างพังผืด เหลือฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ไม่ได้เคลื่อนไหวนานนับเดือน คาดสัปดาห์หน้าออกจากห้องไอซียู
วันนี้ (15 ก.พ.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19 และอาการปอดอักเสบว่า ถือเป็นข่าวดีมากที่ตลอด 4 วันที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว ผู้ว่าฯ หายใจด้วยตัวเอง สิ่งที่ให้ตอนนี้คือ ออกซิเจนความเข้มข้นที่สูงกว่าธรรมดา ผ่านทางท่อที่เจาะคอ แต่ไม่ได้ใช้เครื่องยิงออกซิเจน ตอนนี้ปรับลดออกซิเจนลงมาเรื่อยๆ แล้ว มีแนวโน้มว่าภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) อาจจะให้ผู้ว่าฯ หายใจด้วยอากาศปกติ อย่างที่คนปกติหายใจ 20% หมายความว่าปอดกลับมาทำงานได้เป็นปกติ หรือต่ำกว่าปกติบ้างแต่เกินพอต่อการใช้ชีวิตปกติ ซึ่งคนปกติจะหายใจอากาศธรรมดา
เรื่องระบบการหายใจตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว ท่อที่เจาะคอไว้จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ไม่ได้บล็อกลมที่จะผ่านกล่องเสียง เพื่อให้ผู้ว่าฯ สามารถพูดได้ เพราะลมบางส่วนจะผ่านขึ้นมาด้านบนกล่องเสียง ถ้าสามารถพูดได้ดี แสดงว่าลมผ่านกล่องเสียงได้ดี ก็จะเริ่มปิดลมที่เข้าทางหลอดลม ให้หายใจปกติเข้าทางจมูก ถ้าเรียบร้อยดีก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่จะเอาท่อออกทีหลัง ส่วนระบบทางเดินหายใจตอนนี้ทุกอย่างดีหมด ไม่มีไข้เลย ทั้งๆ ที่ไม่มียาแก้อักเสบ ไม่มียาปฏิชีวนะ แสดงว่าการติดเชื้อทั้งหลายเคลียร์ไปหมดเรียบร้อยแล้ว ส่วนยาทั้งหลายตอนนี้ถอยลงมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 วันที่ผ่านมาเพื่อให้ตื่น ซึ่งตอนนี้ตื่นได้ดีมาก
ส่วนการสื่อสาร เดิมเนื่องจากกำลังนิ้วต่างๆ ยังไม่แข็งแรง ใช้ไอแพดพิมพ์เพราะยังพูดไม่ชัดนัก จะเขียนอะไรก็ยังไม่ค่อยมีแรงมือ แต่เมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) ตลอดทั้งวันก็เขียนด้วยตัวเองแล้ว มีกระดาษให้ ซึ่งก็เขียนได้ กล้ามเนื้อต่างๆ ฟื้นตัวกลับมา ตอนนี้ถึงจุดที่เริ่มให้ยืนลงน้ำหนักเองแล้ว เมื่อวานก็ทำได้ดี แต่ตอนนี้ยังไม่เร่งให้ผู้ว่าฯ รีบเดิน เพราะกล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่ เกรงว่าจะล้มก็ลำบาก การใช้แขนขาต่างๆ อยู่ในระดับที่ถือว่าดีมาก ส่วนอาหาร ตอนนี้ยังให้อาหารทางสายยางเป็นหลักอยู่ หลังจากที่เลิกท่อก็จะให้อาหารผ่านทางปากบ้าง เพื่อให้ได้รสชาติ เมื่อถึงจุดหนึ่งเรียบร้อยดีก็จะนำสายยางออก จะได้รับประทานอาหารเหมือนคนปกติ
ส่วนการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ครั้งสุดท้ายอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก คิดว่าการทำงานปอดที่วัดจากปริมาณออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ต่างๆ ในกระแสเลือด รวมทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็แน่ใจว่าควรจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าน่าจะย้ายออกจากห้องไอซียูไปหอผู้ป่วยพิเศษธรรมดาแล้ว ก็ถือว่าเข้าสู่ช่วงระยะการฟื้นตัว ส่วนจะกลับจังหวัดสมุทรสาครได้หรือไม่นั้น ขอดูความพร้อมอีกหลายอย่างก่อน จะได้ไม่ต้องกลับไปเร่ง หากอยู่ห้องพิเศษถ้าอยากจะทำงานในโรงพยาบาล (Work From Hospital) ก็ทำได้ถ้าอยากจะทำ แต่ความเห็นของตนคือยังพักต่ออีกสักระยะ
เมื่อถามว่า การฟื้นตัวที่ต้องใช้เวลาน่าจะเท่าไหร่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า น่าจะภายใน 1 สัปดาห์นับจากนี้ น่าที่จะสามารถย้ายออกไปที่หอผู้ป่วยพิเศษได้ ไม่ต้องอยู่ในห้องไอซียู ที่อยากให้อยู่เพราะเวชศาสตร์ฟื้นฟูกายภาพบำบัดจะได้ช่วยขยับกล้ามเนื้อได้เต็มที่ ขณะเดียวกัน การฝึกเดินมีคนที่ดูแลอยู่ ยกเว้นถ้าอยากจะรีบกลับก็อีกเรื่องหนึ่ง จะส่งต่อให้กับทางสมุทรสาครว่าจะทำกายภาพบำบัดต่ออย่างไร อย่างน้อยก็ให้ยืนคงที่ ก้าวเดินได้เองแล้วดีกว่า อยากจะทำจนเรียบร้อย
เมื่อถามว่า การให้อาหารทางสายยางจะเริ่มตัดเมื่อไหร่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเวลาเจาะคออยู่ การกลืนต่างๆ อาจจะไม่ได้รู้สึกเหมือนปกติเพราะมีอะไรค้ำอยู่ที่คอ ในการใส่สายยางให้เต็มที่ แต่จะเปลี่ยนท่อที่เจาะคอเป็นอีกประเภทหนึ่งที่จะให้ลมสามารถออกมาทางกล่องเสียงได้ ถึงตอนนั้นถ้าไม่ต้องให้ออกซิเจนทางนั้นแล้ว พูดง่ายๆ การกลืนต่างๆ ก็จะใกล้เคียงกับปกติ ก็จะให้ลองเริ่ม ในทางปฏิบัติทั่วไปก็จะให้อมน้ำแข็ง ดื่มน้ำได้หน่อย ถ้าเรียบร้อยดีก็เริ่มปรับอาหารทางปากมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะลดให้อาหารทางสายยางตามสัดส่วน แต่ที่ผ่านมาร่างกายสึกหรอไปเยอะ จึงให้อาหารเยอะกว่าปกติเพื่อไปชดเชยส่วนที่ขาดหายไปในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ถ้าจะให้กินอาหารจะไม่เพียงพอ เสริมด้วยอาหารทางสายยาง แต่ผู้ว่าฯ ก็ไม่อึดอัดเพราะสายยางเป็นอย่างอ่อนซึ่งไม่ได้ระคายอะไรมากนัก
เมื่อถามว่า ตอนนี้เหลือแค่การฟื้นฟูใช่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้ผ่านพ้นระยะวิกฤต อยู่ในระยะพักฟื้นเรียบร้อยแล้ว ฟื้นตัวกลับมาให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ขั้นตอนนี้ส่วนที่มากที่สุดคือกล้ามเนื้อ เพราะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้ลุกเดิน ไม่ได้ใช้กล้ามเนื้ออะไรเลย กล้ามเนื้อถ้าไม่ได้ใช้งานสัก 1-2 สัปดาห์ก็จะแฟบแล้ว ก็ค่อยๆ เพิ่มความแข็งแรงกลับมาจากส่วนที่ไม่ต้องรับน้ำหนัก เช่น มือ ที่ตอนนี้ขยับได้ค่อนข้างดีแล้ว ต่อไปก็คือส่วนที่รับน้ำหนัก เช่น เท้า แขน ขา ก็ค่อยๆ เพิ่ม
เมื่อถามว่า ยาที่สลายพังผืดยังคงต้องให้จนครบโดสหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้เราหยุดแล้ว เหตุผลเพราะยาตัวนี้มีภาวะข้างเคียงอย่างหนึ่ง อาจจะทำให้เกิดไข้ ตอนที่ให้ยาไปมีบางช่วงที่เหมือนมีไข้ขึ้น แต่เราแน่ใจว่าไม่ใช่ไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อ และเมื่อประเมินจากการทำงานของปอด ตอนนี้เชื้อโควิดไม่มีแล้ว ปอดไม่น่าจะเสียหายมากกว่านั้น เราก็เลยตัดสินใจหยุดยาที่ลดการสร้างพังผืดไปแล้วเมื่อหลายวันก่อน และผู้ว่าฯ ก็ไม่มีไข้เลย คิดว่าตอนที่มีไข้ขึ้นมาเล็กน้อยเกิดจากยานี้ และเมื่อหยุดยาก็ไม่มีไข้อีกเลย ทำให้สบายใจขึ้น และเมื่อประเมินจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์กับการทำงานตอนนี้ คิดว่าพังผืดที่เกิดขึ้นในปอดไม่ได้เยอะจนเกินไป กระบวนการจะหยุดเรียบร้อยแล้ว เชื้อโควิดก็ไม่มีแล้ว
เมื่อถามว่า แม้พังผืดจะหยุดแล้ว แต่ปอดที่เสียหายไปจะสามารถฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงเดิมหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้สรุปแบบนั้นไปแล้ว หลังจากที่ไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ตอนนี้ลดการให้ออกซิเจนลง สุดท้ายถ้าเลิกให้ออกซิเจนก็เหมือนคนปกติแล้ว หายใจอากาศธรรมดาซึ่งมีออกซิเจน 20% ปอดคนเราปกติไม่จำเป็นต้อง 100% เพียงแค่ 50-60% ก็ยังทำงานได้เพียงพอต่อชีวิต ฉะนั้นจะโดนทำลายไปบ้างบางส่วน ที่เหลืออยู่ขอให้เพียงพอกัต่อการใช้ชีวิตปกติที่เราต้องการ ตั้งแต่เริ่มต้น ตอนนี้จากหลักฐานข้อมูลก็น่าจะเพียงพอ
เมื่อถามว่า ตอนนี้ภรรยากับลูกได้เข้ามาเยี่ยมบ้างหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า มาพักใหญ่แล้ว น่าจะมาทุกวันเพียงแต่ไม่ได้เจอกัน แต่ก็มาสม่ำเสมอ ส่วนผู้ใหญ่ทางรัฐบาลสอบถามอาการหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ต้องตอบคำถามบ่อยมาก โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ก็เจอกันในการประชุมตอนเช้าบ่อยครั้ง เป็นรัฐมนตรีที่ถามบ่อยที่สุด ที่กระทรวงสาธารณสุขก็ให้ข้อมูล ที่ผ่านมาทุกคนก็ดีใจ อาจจะเรียกว่ามหัศจรรย์ก็ได้ เพราะตอนแรกเชื่อว่าหลายคนคิดว่าไม่รอด ยิ่งช่วงที่มีข่าวตอนนั้น
เมื่อถามว่า กรณีผู้ว่าฯ เป็นเคสแรกๆ หรือก่อนหน้านี้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิดมากถึงขั้นสุดขนาดนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า รอบแรกคนไข้โควิด-19 ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ นานสุด 17 วัน แต่รอบนี้ผู้ว่าฯ ใช้เครื่องช่วยหายใจนานสุด 40 วัน เท่าที่มีคนไข้โควิด-19 เข้ามาในโรงพยาบาลศิริราช ส่วนวิธีการรักษานั้น ระหว่างการรักษาจะต้องตัดสินใจเรื่องบางเรื่อง เพราะระหว่างทางการให้ยาบางตัวมีผลต่อการติดเชื้อ ทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้น เมื่อติดเชื้อง่ายขึ้นก็อาจจะแย่ เรามีการประชุมกรรมการแพทย์กันทุกวันในช่วงที่อาการหนัก กรรมการมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 7-8 ด้านมาประชุมพร้อมกัน ทำให้การทำงานมีการประสานงานกันดี รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ภายใต้เหตุผลโดยการมองความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านแล้วตัดสินใจทำ เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ศิริราชทำมาตลอด เวลามีเคสหนักๆ ไม่จำเป็นต้องวีไอพีอย่างเดียว เราก็จะดึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาช่วยกันตัดสินใจไปพร้อมๆ กัน เป็นจุดที่สำคัญที่ทำให้การดูแลครอบคลุมมุมมองต่างๆ ได้ดีขึ้น
เมื่อถามว่า กรณีนี้จะสามารถนำไปเป็นแบบอย่างให้สถานพยาบาลอื่นหรือระบบการแพทย์อื่นเพื่อเกณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่วิกฤต เป็นบทเรียนอย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า จะสรุปอีกครั้งวันที่ส่งผู้ว่าฯ กลับไป อยากจะทำจนจบและสรุปทีเดียวตั้งแต่เริ่มต้นว่าใครสักคนที่เริ่มติดเชื้อโควิด-19 ไข้ขึ้นเร็วและปอดเปราะเร็วในวันสองวันแรกต้องระวัง ถึงแม้ตอนนั้นยังดูเหมือนดี แต่ภายในวันสองวันบางทีเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราก็เริ่มจะรวบรวมตั้งแต่ตอนนั้น ในระหว่างกระบวนการรักษาเราได้ทำอะไร ได้ผลอย่างไร เพื่อสรุปเป็นบทเรียนสำหรับกรณีต่อไป กรณีผู้ว่าฯ จะทำสรุปหลังจากที่ไปส่งผู้ว่าฯ เรียบร้อยแล้วคงกลับมาถอดบทเรียนเป็นความรู้สำหรับกรณีอื่นๆ ต่อไป
สำหรับการแถลงข่าวอาการของผู้ว่าฯ สมุทรสาครนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ได้ปรับการแถลงข่าวเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทุกวันจันทร์ จนกว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาลศิริราช ก็จะสรุปบทเรียนอีกครั้ง