xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 ม.ค.2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.“สมุทรสาคร” ยังหนัก ตรวจเชิงรุกพบผู้ติดโควิดวันละหลายร้อยราย ด้าน กทม.แจ้งความเอาผิด “ดีเจมะตูม” จัดปาร์ตี้ฯ แพร่โควิด!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มด้วย เมื่อวันที่ 24 ม.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 191 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 118 ราย และจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 73 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 6 ราย และไม่ได้เข้าสถานกักกันโรค 1 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 73 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม และลมชัก มีภูมิลำเนาอยู่ จ.สมุทรสาคร

วันเดียวกัน (24 ม.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า จากการสอบสวนโรคกรณีดีเจมะตูม หรือนายเตชินท์ พลอยเพชร ดีเจชื่อติดโควิด-19 ว่า เริ่มต้นจากสถานบันเทินแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ มีผู้ติดเชื้อรายแรก อายุ 33 ปี หลังจากนั้นได้ไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดของดีเจมะตูม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก จึงเกิดการแพร่กระจายเชื้อ ขณะเดียวกันจากการสอบสวนประวัติผู้ประกาศข่าวช่อง NBT ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงนี้เช่นกัน หลังจากนั้นได้ไปงานเลี้ยงอีกงาน “รวมทั้งหมดจะเป็น 3 กลุ่ม แต่เชื่อมโยงกันด้วยงานเลี้ยง มีผู้ติดเชื้อจากเหตุการณ์ทั้งหมดรวมกัน 19 ราย”

วันต่อมา 25 ม.ค. พญ.อภิสมัย แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 187 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 177 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 61 ราย และจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 116 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 10 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รายแรกเป็นชาย สัญชาติอังกฤษ อายุ 61 ปี ส่วนอีกรายเป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี อยู่ใน จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัว คือ โรคหลอดเลือดสมอง

วันต่อมา 26 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 959 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 937 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 89 ราย และจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 848 ราย ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 22 ราย

วันเดียวกัน (26 ม.ค.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า 3 กลุ่มก้อนที่เชื่อมโยงกับดีเจชื่อดัง ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้วรวม 24 ราย เป็นชาย 23 หญิง 1 ราย โดยมีวันที่ทยอยป่วยต่างกัน ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. เป็นต้นมา มีอาการ 19 ราย ไม่มีอาการ 5 ราย และยังคงมีการค้นหาเชิงรุกจากกลุ่มก้อนที่เชื่อมกันนี้ และในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ต่อเนื่องจนครบ 14 วัน

วันต่อมา 27 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 819 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 808 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 92 ราย และจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 716 ราย ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 11 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 56 ปี มีโรคประจำตัว คือหลอดเลือดสมองตีบ เป็นผู้ป่วยติดเตียง

เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีผู้ติดโควิดบางรายที่เชื่อมโยงกับงานเลี้ยงวันเกิดดีเจมะตูม มีการปกปิดไทม์ไลน์ ไม่แจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ทราบ ส่งผลให้สังคมรุมประณามว่าไร้สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เท่านั้นเมื่อทราบว่า การปกปิดข้อมูลอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ถึงขั้นมีโทษจำคุกและปรับ ส่งผลให้ผู้ติดโควิดที่เคยปกปิดข้อมูล ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ใหม่ โดยอ้างว่า เป็นช่วงวันเวลาที่อยู่ที่พัก ไม่ได้ไปไหน ซึ่งสังคมยังคลางแคลงว่า ถ้าอยู่ที่พัก เหตุใดจึงไม่แจ้งข้อมูลตั้งแต่แรก

วันต่อมา 28 ม.ค. พญ.อภิสมัย แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 756 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 746 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 22 ราย และจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 724 ราย (ทั้งหมดพบใน จ.สมุทรสาคร) ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 10 ราย

พญ.อภิสมัย เผยด้วยว่า ที่ห้างไอคอนสยามพบผู้ติดโควิด-19 หลายราย โดยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 7 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 200 ราย จำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อ และต้องค้นหาเชิงรุกอย่างมาก

ทั้งนี้ มีรายงานว่า จากการตรวจเชิงรุกพนักงานของไอคอนสยาม และร้านค้าจำนวน 238 คน ไม่พบการติดเชื้อโควิด ซึ่งทางไอคอนสยามขอปิดบริการชั่วคราว 1 วัน ในวันที่ 31 ม.ค. เพื่อทำความสะอาดศูนย์การค้า และร้านค้าทั้งหมดซ้ำอีกครั้ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากพบผู้ติดโควิดที่เชื่อมโยงกับงานเลี้ยงวันเกิดดีเจมะตูมจำนวนมากแล้ว ปรากฏว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Ding Eu Wen โพสต์ภาพปาร์ตี้ที่มีคนร่วมงานมากถึง 20 คน พร้อมแฉว่า มีทั้งผู้ประกาศข่าว สจ๊วต พนักงานขายคอนโดฯ ทำทัวร์ สไตลิสต์ พีอาร์ และหมอฝังเข็ม โดยเผยว่า ปาร์ตี้ดังกล่าวเป็นปาร์ตี้กางเกงในอีกด้วย โดยโพสต์ว่า “ปาร์ตี้ กกน. อัพ ณ รร.เรเนซอง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.วันที่ 16 ทำให้เกิดคลัสเตอร์ยิ่งกว่างานมะตูม ที่ปิดเงียบและโยนขี้ให้งานมะตูมคนเดียว ญ 1 เดียวที่ติด ก็มาจากงานนี้ ใครเตือนว่าอย่าจัดก็ไม่ฟัง อีพวกนี้ ไปไม่รู้กี่ที่หลังจากงานนี้...”

วันต่อมา 29 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 802 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 781 ราย แบ่งเป็น ตรวจในระบบเฝ้าระวังและบริการ 89 ราย และจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 692 ราย (ทั้งหมดพบใน จ.สมุทรสาคร) ผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 19 ราย

ล่าสุด 30 ม.ค. พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 930 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 916 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 27 ราย และจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 889 ราย ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 11 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชาย สัญชาติเมียนมา อายุ 31 ปี อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัวคือ ตับแข็ง และโรคพิษสุราเรื้อรัง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายพันธ์ศักดิ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการเขตสาทร กทม. ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ ให้ดำเนินคดีนายเตชินท์ พลอยเพชร หรือดีเจมะตูม กรณีกระทำฝ่าฝืนกฎหมายในการจัดงานปาร์ตี้วันเกิด ที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก จนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ณ โรงแรมบันยันทรี เขตสาทร เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา "โดยอาศัยอำนาจในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 12 มี.ค. 2563 เข้าแจ้งความกล่าวโทษ พร้อมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาความจริง หากพบว่ามีหลักฐานหรือพยานยืนยันว่า มีการฝ่าฝืนหรือการกระทำผิดจริง ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด โดยสำนักงานเขตสาทรจะประสานความร่วมมือและติดตามผลอย่างใกล้ชิด"


2.ศาล รธน.ชี้ “เทพไท” พ้น ส.ส. เหตุถูกศาลนครศรีฯ ตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี คดีทุจริตเลือกตั้ง อบจ. แม้คดียังไม่สิ้นสุด!


เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ กรณีศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิพากษาจำคุก 2 ปี และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี คดีทุจริตการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2556 ความผิดฐานเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงแก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัคร

สำหรับคดีทุจริตเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราชนั้น เริ่มจากนายพิชัย บุณยเกียรติ อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมาโนช เสนพงศ์ น้องชายนายเทพไท กรณีทุจริตเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อปี 2556 จากนั้นเรื่องเดินไปตามขั้นตอน จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และในปี 2558 ศาลได้ให้ใบแดงนายมาโนช

ต่อมา นายพิชัยได้ฟ้องต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชให้เอาผิดทางอาญานายมาโนช และนายเทพไท เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานร่วมกันกระทำความผิดในการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ต่อมา 28 ส.ค. 2563 ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิพากษาจำคุกนายเทพไทและนายมาโนช คนละ 2 ปี และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ซึ่งนายเทพไทและน้องชายได้ประกันตัว ก่อนยื่นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา

ด้าน กกต.ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีนายเทพไทถูกศาลพิพากษาจำคุก จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.หรือไม่ และพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ด้วยหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องของ กกต. และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563 ให้นายเทพไทหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 27 ม.ค. 2564 แต่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา นายเทพไทยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้บุคคลที่นายเทพไทอ้างเป็นพยาน ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายคมสัน โพธิ์คง ให้ถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล และขอเลื่อนการวินิจฉัยออกไปจนถึงวันที่ 25 มี.ค. เพื่อรอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 และว่า คดีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงไม่อนุญาตตามที่นายเทพไทร้องขอ

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 กำหนดให้ความเป็น ส.ส.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง และสิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ โดยบัญญัติให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้าม ไม่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 96 (1) (2) (4) โดย (2) บัญญัติให้บุคคลที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งทันที ตามมาตรา 96 (2) และเป็นลักษณะของบุคคลห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 98 (4)

การที่รัฐธรรมนูญนำลักษณะต้องห้ามการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งมากำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาถึงที่สุด “เนื่องจาก ส.ส. เป็นบุคคลผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และลักษณะต้อง ห้ามเพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้ทำหน้าที่ ส.ส. จะต้องเป็นบุคคลที่มีความประพฤติและคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการปฏิบัติหน้าทีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร การที่ ส.ส. ผู้ใดทำผิด จนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (2) ส.ส. ผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะไว้วางใจในความสุจริตได้ และไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในทางการเมือง”

ศาลฯ จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายเทพไทสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96( 2) ในวันที่ 16 ก.ย. 2563 และให้ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลงนับตั้งแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย คือวันที่ 27 ม.ค. 2564 พร้อมให้จัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วันนับตั้งแต่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง

อนึ่ง การสิ้นสภาพ ส.ส.ของนายเทพไท นับเป็นการปิดฉากการเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช 4 สมัยซ้อน ตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 6 ม.ค. 2544

3. ฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอก 10 รมต.แล้ว ด้านวิป รบ.จี้แก้ไขญัตติพาดพิงสถาบัน ขณะที่ฝ่ายค้านยันไม่แก้!



เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมแกนนำและสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลรวม 10 คน ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสมพงษ์ กล่าวว่า นอกจากพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคแล้ว ยังมีอีก 2 พรรค มาร่วมอภิปรายด้วย คือ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคไทยศรีวิไลย์

ด้านนายชวน กล่าวว่า เมื่อยื่นแล้ว สภาจะให้ฝ่ายเลขาฯ ตรวจสอบความถูกต้อง ถ้ามีอะไรจะแจ้งไปที่ผู้เสนอญัตติภายใน 7 วัน จากนั้นจะดำเนินการเข้าสู่การบรรจุวาระแบบเร่งด่วน ซึ่งวันที่จะดำเนินการอภิปราย ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลตกลงกันไว้เบื้องต้นว่า จะใช้วันที่ 16-19 ก.พ. แต่ต้องมีการตกลงเรื่องเวลากันให้แน่นอนอีกครั้ง

สำหรับรัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายทั้ง 10 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 6.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย 7.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 8. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ 9.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ 10.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยมี ส.ส.ร่วมลงชื่อในญัตติจำนวน 208 คน

ส่วนข้ออ้างที่ฝ่ายค้านใช้ในการขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีแต่ละบุคคล ได้แก่ อ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้จิตสำนึกและความรับผิดชอบ มีพฤติกรรมฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ฯลฯ

อ้างว่า พล.อ.ประวิตรทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเอง แสวงประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง อ้างว่านายอนุทินไม่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดในรอบสองอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อ้างว่านายจุรินทร์ลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ พูดอย่างทำอย่าง ไม่ยึดถือหลักธรรมาภิบาล และไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

อ้างว่า พล.อ.อนุพงษ์ใช้อำนาจใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อวางแผนในการทุจริตอย่างเป็นระบบและแยบยล ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง อ้างว่านายณัฏฐพลไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ละเว้นและบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่

อ้างว่านายสุชาติปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงผลประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ จนเกิดแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก อ้างว่านายศักดิ์สยามเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิดำเนินงานในกิจการของรัฐ โดยไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ อ้างว่านายนิพนธ์ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง อ้างว่า ร.อ.ธรรมนัสทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลกร่างเถื่อน และสร้างอิทธิพลให้กับบริวารและพวกพ้อง เสนอให้แต่งตั้งคู่สมรสที่อยู่กันฉันสามีภรรยาเป็นข้าราชการการเมือง เป็นต้น

วันต่อมา 26 ม.ค. นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ไม่สบายใจต่อญัตติของฝ่ายค้านในเรื่องการใช้ถ้อยคำขอเปิดอภิปราย เป็นวาทกรรมตัวหนังสือที่ต้องการกล่าวยให้ร้ายด้วยความดุเดือด เหมือนกับไตเติ้ลหนัง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่บังควร คือการเชื่อมโยงกับเรื่องสถาบันมาเขียนในญัตติ จึงต้องการให้ฝ่ายค้านแก้ไขและนำส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันออกไปทั้งหมด โดยเฉพาะที่ระบุว่า นำสถาบันเป็นข้ออ้างในการแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันมาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งวิปรัฐบาลได้ประสานไปทางประธานสภาฯ แล้ว เชื่อว่า พรรครัฐบาลจะไม่ยอมให้มีการอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน หากมีการอภิปราย ยืนยันว่า จะมีการประท้วงตั้งแต่เริ่มต้น หากเป็นไปได้ ขอให้พรรคฝ่ายค้านตัดออกด้วย

2 วันต่อมา (28 ม.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้ประชุมร่วมกับนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา คนที่ 2 และวิปรับบาลและวิปฝ่ายค้าน มีรายงานว่า นายชวน กล่าวต่อที่ประชุมว่า นายศุภชัยได้ตรวจสอบญัตติการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและนำเสนอมายังตนแล้ว มีบางถ้อยคำที่ฝ่ายค้านน่าจะทบทวน แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นถ้อยคำใด ซึ่งฝ่ายค้านได้ขอนำเรื่องดังกล่าวกลับไปหารือกันก่อน

ช่วงเย็นวันเดียวกัน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ได้ประชุมกับตัวแทนฝ่ายค้าน 6 พรรค เพื่อหารือถึงการปรับปรุงญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่มีปัญหา ก่อนเปิดแถลงในเวลาต่อมา โดยยืนยันว่า ญัตติที่เสนอไปครบถ้วนเรียบร้อย ไม่มีสิ่งใดต้องแก้ไข ส่วนเรื่องการอภิปรายนั้น นายสมพงษ์ มั่นใจว่า ส.ส.ทุกคนเข้าใจการพูดเกี่ยวกับสถาบัน ทุกคนระวังอยู่แล้ว อีกทั้งประธานที่ประชุมคอยดูแลกำกับอยู่ คิดว่าคงไม่มีปัญหา

4. ศบค. คลายล็อกแบ่งกลุ่มพื้นที่ แดงเข้มเหลือแค่ “สมุทรสาคร” ส่วน กทม.-ปริมณฑลยังแดง ให้กินอาหารในร้านได้ถึง 5 ทุ่ม!



เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงมติที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ถึงมาตรการผ่อนปรนในวันที่ 1 ก.พ.นี้ว่า ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เสนอที่ประชุมพิจารณาผ่อนคลายมาตรการป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิดว่า จ.สมุทรสาคร ยังคงเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หรือควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สถานบริการ โรงเรียน ร้านนวด สนามเด็กเล่นยังคงปิดต่อไป ส่วนตลาดนัดสามารถเปิดได้โดยจำกัดจำนวนคน เว้นระยะห่าง ร้านอาหารเปิดได้ถึง 21.00 น. นั่งกินที่ร้านได้โดยงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขณะที่ กทม.และปริมณฑล ได้แก่ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี ยังอยู่ในพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ยังคงให้ปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนร้านอาหารให้นั่งรับประทานได้ ถึงเวลา 23.00 น. โดยจำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ และให้งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้าน แต่สามารถซื้อกลับได้ดื่มที่บ้านได้

นอกจากนี้ ได้จัดกลุ่ม 20 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม ประกอบด้วย กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สิงห์บุรี ตราด ตาก นครนายก นครปฐม ปราจีนบุรี เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง

ส่วนอีก 17 จังหวัด เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่สีเหลือง ประกอบด้วย กำแเพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร นครราชสีมา นครสวรรค์ นราธิวาส บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบูรณ์ ยะลา ระนอง สงขลา สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี

ส่วนจังหวัดที่เหลืออีก 35 จังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง หรือสีเขียว ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มพื้นที่ จะมีมาตรการที่ผ่อนคลายลดหลั่นกันลงไป แต่ยังต้องมีการเฝ้าระวัง

สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม คือ สมุทรสาคร สถานที่ที่เปิดได้ แต่ต้องเข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ ตลาด ตลาดนัด จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และกำกับการเว้นระยะห่าง, ร้านอาหาร เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น. งดดื่มสุราในร้าน, ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จำกัดเวลาเปิดไม่เกิน 21.00 น., ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงวัย เฉพาะเข้าพักเป็นการประจำ, สถานประกอบการ โรงแรม พร้อมกำกับมาตรการป้องกันโรคในองค์กร จัดให้มีระบบติดตามตัวของผู้เดินทางเข้าออกทุกคน

พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง 4 จังหวัด มีมาตรการดังนี้ สถานประกอบการคล้าย ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้ปิดสถานที่ หรือซื้ออาหารนำไปรับประทานที่อื่นร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานอาหารได้ จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ (เน้นการเว้นระยะห่าง) จำกัดเวลาไม่เกิน 23.00 น. งดดื่มสุราในร้าน (ซื้อกลับบ้านได้)

การจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (On site, Online, On air) งดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในสถานที่ กรณีโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียน รวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน หรือ รร.ตชด. ทุกพื้นที่เปิดเรียนได้ตามปกติ และมีการกำกับมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด

การประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหาร/สิ่งของ (เน้นกํากับการใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ และหมอชนะ ก่อนหลังร่วมกิจกรรม) จํากัดจํานวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 100 คน งดดื่มสุรา และงดแสดงดนตรีที่มีการเต้นรํา

ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กําหนด งดกิจกรรมที่มีผู้ร่วมกิจกรรมเป็นจํานวนมากในสถานที่

ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม จัดนิทรรศการ เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่กําหนด จํากัดจํานวนผู้ร่วมกิจกรรมตามขนาดพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 1 ตร.ม./คน

แรงงานต่างด้าว จํากัดการเดินทางและเคลื่อนย้าย และใช้แอปพลิเคชั่นหมอชนะ กรณีมีความจําเป็นในการเดินทางและเคลื่อนย้าย ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

บ่อนการพนัน สนามชนไก่ ชนวัว ปิดสถานที่ทุกพื้นที่จังหวัด, สถานบริการ อาบน้ํา อาบอบนวด ปิดสถานที่ งดให้บริการนอกสถานที่, สปา นวดแผนไทย จํากัดจํานวนผู้ใช้บริการ ตามขนาดพื้นที่ ทุกพื้นที่จังหวัด

สถานที่ออกกําลังกายกลางแจ้ง ในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย แข่งขันได้แบบไม่มีผู้ชม ฝึกซ้อมได้และป้องกันโรคส่วนบุคคล

5. ผู้ประกันตน ม.33 เฮ ก.แรงงานจ่อเยียวยาโควิดคนละ 4,000 เตรียมชงเข้า ครม.สัปดาห์หน้า!



เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในโครงการเราชนะว่า ผู้มีสิทธิแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่ต้องลงทะเบียนและรอรับเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.ผู้ที่ใช้แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่จะถูกคัดกรองอัตโนมัติ โดยไม่ต้องลงทะเบียน เมื่อได้สิทธิจะรับเงินผ่าน g-wallet ในแอพเป๋าตัง และ 3.กลุ่มที่ไม่มีฐานข้อมูล เปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.2564 ทั้งนี้ หลังเปิดให้กลุ่มที่ไม่มีฐานข้อมูลลงทะเบียนวันแรก 29 ม.ค. ได้มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 6.8 ล้านคน โดยเริ่มจ่ายเงินรอบแรก 18 ก.พ.

ส่วนกลุ่มที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนนั้น ทางกระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงินของรัฐและกระทรวงมหาดไทย ในการเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการลงทะเบียน โดยประชาชนกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าไปติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง และทุกสาขา ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป “ส่วนรูปแบบการรับเงินและการใช้จ่ายของกลุ่มนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา อาจจะออกมาในรูปแบบบัตรโครงการเราชนะ ซึ่งใช้คล้ายกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

นายอาคม กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนกลุ่มปกติ ที่ต้องการนำเงินเราชนะไปจ่ายเป็นค่าเช่าที่อยู่อาศัยนั้น หากทางผู้ให้เช่าไม่ใช่นิติบุคคล ก็สามารถลงทะเบียนในฐานะร้านค้าเพื่อรับเงินค่าเช่าได้ ยืนยันว่าโครงการมีจุดประสงค์เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของประชาชน

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ยังมีมติเห็นชอบให้กลุ่มบริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคล รวมทั้งรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง เข้าร่วมในฐานะร้านค้าและบริการในโครงการเราชนะ โดยจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้ประสานกับกระทรวงคมนาคมและธนาคารกรุงไทยในการดูแลเรื่องการลงทะเบียนของกลุ่มบริการขนส่งสาธารณะ

สำหรับการช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างของรัฐที่มีเงินเดือนต่ำนั้น นายอาคม กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาหาทางช่วยเหลือ โดยเป็นการช่วยเหลือที่แยกออกมาจากโครงการเราชนะ

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ชดเชยกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า กระทรวงแรงงานหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประกันตนในระบบ ประกันสังคมมาตรา 33 ให้ได้รับเงินเยียวยา 3,500 หรือ 4,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดย สศช.จะนำรายละเอียดข้อมูลกลับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อสรุปตัวเลขและงบประมาณ คาดว่า สัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ เบื้องต้นมีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ประมาณ 11 ล้านคน


กำลังโหลดความคิดเห็น