สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องรัฐมนตรีต้นปี ได้ใจประชาชน พบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนหนึ่งทุกผลสำรวจ แนะใช้โมเดล “พลังห้าเสือ” ใช้โมเดล “พลังห้าเสือ”
วันนี้ (17 ม.ค.) เพจ “Super poll” โดยนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องรัฐมนตรีต้นปี ได้ใจประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,610 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11-16 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการประคองเศรษฐกิจ คุมโควิดใหม่ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 49.2 เชื่อมั่น ร้อยละ 26.8 ระบุปานกลาง และร้อยละ 24.0 ไม่เชื่อมั่น
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงคณะบุคคลในคณะรัฐมนตรีต้นปี 2564 ที่ได้ใจประชาชนเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 35.8 ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โครงการ คนละครึ่ง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม รองลงมาคือ ร้อยละ 21.0 ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โครงการพาณิชย์ลดราคา อาหาร ของกิน เครื่องดื่ม ของใช้ชีวิตประจำวัน ร้อยละ 20.9 ได้แก่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาตรการค่าไฟฟ้า ร้อยละ 20.5 ได้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาตรการเงินเยียวยา มาตรการสินเชื่อ ค้ำประกันสินเชื่อ และร้อยละ 18.1 ได้แก่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณา คือ บุคคลในคณะรัฐมนตรีต้นปี ได้ใจประชาชนเรื่อง ช่วยเหลือเรื่องรายได้ ลดผลกระทบโควิด-19 พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 33.2 ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รองลงมา
อันดับสอง หรือร้อยละ 20.3 ได้แก่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การประกันรายได้ ช่วยราคาผลผลิต และเงินเยียวยาเกษตรกร อันดับสาม หรือร้อยละ 20.2 ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลดราคาสินค้า ของกิน ของใช้ ผลกระทบโควิด-19 อันดับสี่ หรือร้อยละ 19.6 ได้แก่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อันดับ 5 ร้อยละ 19.4 ได้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงบุคคลในคณะรัฐมนตรีต้นปี ได้ใจประชาชน เรื่องการทำงานควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 32.5 ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งรัดจัดการ เจ้าหน้าที่รัฐขบวนการต้นตอแพร่ระบาดโควิด ทั้งบ่อนพนัน และขบวนการฟอกตัวแรงงาน เป็นต้น
รองลงมาคือ ร้อยละ 30.7 ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่วิกฤต เช่น สมุทรสาคร แม่สอด ควบคุมการแพร่ระบาด เร่งรัดวัคซีน และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น ร้อยละ 29.7 ได้แก่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม โรงพยาบาลสนาม พื้นที่ต่างๆ ร้อยละ 21.9 ได้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และร้อยละ 18.0 ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ควบคุมจัดการเจ้าหน้าที่รัฐต้นตอแพร่ระบาดโควิด-19
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า รัฐมนตรีต้นปี ได้ใจประชาชนเป็นรัฐมนตรีที่ทำงานใกล้ตัวประชาชนมีผลตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และเงินในกระเป๋าของประชาชน จากผลโพลนี้ เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้โมเดล “พลังห้าเสือ” ได้แก่ คลัง พาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน ประชุมที่โต๊ะรูปไข่ทำเนียบรัฐบาล มุ่งเป้าหมายไปที่ ลดความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติให้เข้าเป้าทั้งแผง ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดต่างทำโชว์ผลงานไปคนละทางกลายเป็นการฟาดหวายไปทีละเส้นไร้พลังจึงต้องมัดเส้นหวายเข้าด้วยกัน โดยนำหัวกะทิของแต่ละกระทรวงทั้งห้าเสือเหล่านี้ทำเวิร์คช็อป (Workshop) ที่ทำเนียบรัฐบาลใช้ข้อมูลที่ดีนำทางใช้ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้งและใช้มาตรการที่ได้จาก “พลังห้าเสือ” ไปลดทอนความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศ ผลที่ตามมาคือ รัฐมนตรีต้นปีได้ใจประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน