1.“เคนมผง” ยาเสพติดตัวใหม่ระบาด ผู้เสพตายนับสิบ พบสูตรผสมหลายตัว ทั้ง “ยาเค-เฮโรอีน-ไอซ์-โรเซ่”!
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เรียก พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. และตำรวจบางหน่วยเข้ารายงานข้อมูล หลังมีประชาชนเสพยาเสพติด “เคนมผง” จนเสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย
โดยพบผู้เสียชีวิตที่อาจเกี่ยวข้องกับเคนมผงในพื้นที่ สน.วัดพระยาไกร 5 ราย ประกอบด้วย น.ส.พาณิภัค จันทราวราวรรค์, นายนิติเทพ มะแพทย์, นายวรุฒน์ นุชัยภูมิ, น.ส.สุทธิณี เมตตาจิตต์ และนายธงชัย ฮกซุ่นเฮ และในพื้นที่ สน.สุทธิสาร อีก 1 ราย คือ น.ส.ละลิตา เทินสะเกษ ทั้งนี้ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ เชื่อว่า ทั้งหมดเสียชีวิตจากยาเสพติด เนื่องจากที่เกิดเหตุตรวจพบผงสีขาว อยู่ระหว่างพิสูจน์ว่ายาเสพติดดังกล่าวประกอบด้วยอะไรบ้าง
ซึ่งตำรวจได้เชิญนายวิรัช หรือป๋อง (สงวนนามสกุล) ซึ่งพักอยู่ในซอยจันทร์ 31 ย่านสาทร ที่มีการเสพยาจนหญิงสาวเสียชีวิต 1 ราย สาหัสอีก 1 ราย มาสอบปากคำ โดยนายวิรัช บอกว่า ก่อนเกิดเหตุ นั่งดื่มเบียร์กับเพื่อนแล้วหลับไป ตื่นมาไม่รู้ว่าผู้หญิง 2 คนมาจากไหน คิดว่าน่าจะเป็นเพื่อนของเพื่อนก็ดื่มกันจนเมา จากนั้นเอายาเคนมผงที่ไปซื้อมาจากย่านพระราม 3 ราคาซองละ 600 บาทมาเสพ โดยลักษณะยาเคนมผง ไม่มีกลิ่น หน้าตาคล้ายนมผง เมื่อเสพจะมีอาการเหมือนเมาแอลกอฮอล์ แล้วก็หลับไป
ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า ปัจจุบันกลุ่มวัยรุ่นนำยาเคผสมกับยาไอซ์ เฮโรอีน ยานอนหลับ (โรเซ่) จนมีลักษณะละเอียดคล้ายนมผง จึงถูกเรียกว่า “ยาเคนมผง” ผู้เสพจะมีอาการประสาทหลอน หากเสพยาเคนมผงร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยง ทำให้เสียชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะเสพเป็นครั้งแรก
วันต่อมา 12 ม.ค. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.เผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากการเสพเคนมผงเพิ่มอีก 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 7 ราย และว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ได้จับกุมคดียาเสพติดในพื้นที่ บช.น. 3 คดี อยู่ในพื้นที่ สน.สายไหม 2 คดี สน.จรเข้น้อย 1 คดี ผู้ต้องหารับสารภาพว่า จำหน่ายยาเสพติด โดยเป็นผู้จำหน่ายรายย่อย ส่วนผสมเชื่อว่ามีส่วนผสมหลักเป็นเคตามีน ทั้ง 3 รายให้การว่า รับมาจาก จ.ปทุมธานี อยู่ระหว่างขยายผล
นอกจากนี้ตำรวจยังได้จับกุม น.ส.ศิริกาญจน์ เชื้อเขตกรรม อายุ 23 ปี พร้อมของกลาง ยาเคตามี 8 ถุง น้ำหนัก 8.1 กรัม จับได้ที่บ้านพักในชุมชนจิตภาวรรณ 1 แยก 4 เขตสายไหม หลังได้รับแจ้งจากสายลับว่า น.ส.ศิริกาญจน์ ลอบขายเคนมผงภายในชุมชน จึงวางแผนล่อซื้อ น.ส.ศิริกาญจน์ ให้การว่า ยาเคตามีนดังกล่าวมีส่วนผสมของยาเคตามีนกับยาโรเซ่หรือยานอนหลับ ซึ่งจะทำให้ออกฤทธิ์ได้แรงขึ้น โดยรับยามาจากเพื่อนชายที่อยู่ย่านลำลูกกา คลอง 2 ในราคากรัมละ 470 บาท และนำมาแบ่งขายให้กับเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊ก และกลุ่มวัยรุ่นลูกค้าทั่วไปย่านสายไหม ราคากรัมละ 600 บาท
ด้าน ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี เผยถึงสารเสพติดในร่างกายของผู้ป่วยที่เสพเคนมผงว่า จากการตรวจสอบหาสารพิษในร่างกายของผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ในร่างกายมีสารเสพติด 4 ชนิด ประกอบด้วย เฮโรอีน ยาอี เคตามีน ยาไอซื และกลุ่มของยานอนหลับ โดยมีปริมาณของสารไม่เท่ากัน ลักษณะนี้คล้ายกับสูตรยาเสพติดในอดีตที่มีการนำยาเสพติดมากว่า 1 ชนิดมาผสมกัน ทำให้ได้ยาเสพติดตัวใหม่ สำหรับพิษของสารเสพติดนี้ มีอนุพันธ์คล้ายแอมเฟตตามีนหรือยาบ้า มีผลต่อจิตใจ ร่างกาย สมอง ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน หรือสมองผิดปกติ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต คาดว่ามาจากได้รับปริมาณสารเสพติดจำนวนมาก อาจเป็นกลุ่มเฮโรอีน ทำให้กดการหายใจ ถือป็นสูตรยาเสพติดที่มีอันตรายมากกว่าสูตรยาอื่นๆ ที่พบมา
วันต่อมา 13 ม.ค. ตำรวจได้รับแจ้งมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ภายในคอนโดแห่งหนึ่งย่านบางบัวทอง ก่อนตรวจสอบว่าจากการเสพเคนมผงหรือไม่ ผู้เสียชีวิตคือ นายนพรัตน์ อาจพงษา อายุ 33 ปี สภาพศพในโพรงจมูก พบผงคล้ายแป้งติดอยู่
วันต่อมา 14 ม.ค. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา เผยว่า ผบ.ตร.มีคำสั่งให้ระดมกวาดล้างยาเสพติดต่อเนื่องไปอีก 7 วัน ซึ่งในพื้นที่นครบาล ขณะนี้มีตัวเลขผู้ที่ถูกนำส่งเข้าไปรักษาตัวที่ รพ.แล้วทั้งสิ้น 23 ราย เสียชีวิตแล้ว 9 ราย เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ค้าได้แล้ว 8 ราย 5 คดี และจะสอบสวนหาเครือข่ายรายใหญ่ต่อไป
2.ผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศยังเพิ่มไม่หยุด ล่าสุด สมุทรสาครตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่ง 335 ราย!
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย สัปดาห์ที่ผ่านมายังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศุนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 245 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 181 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 43 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 21 ราย ทั้งนี้ มีการพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจากโรงเบียร์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จำนวน 32 ราย
วันต่อมา 11 ม.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 249 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 224 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 176 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 48 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 11 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและไม่ได้เข้าสถานกักกันโรค 14 ราย
วันต่อมา 12 ม.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 287 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 278 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 153 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 125 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 9 ราย
วันต่อมา 13 ม.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 157 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 132 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 90 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 42 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 4 ราย
วันต่อมา 14 ม.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 271 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 259 ราย แบ่งเป็น ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 78 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 181 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 11 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 69 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ รายแรกเป็นชาย สัญชาติอังกฤษ อายุ 71 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน ไทรอยด์ และมะเร็งปอด เดินทางเข้าไทยวันที่ 7 ธ.ค.2563 และเข้าสถานกักกันโรค ต่อม 11 ธ.คง มีอาการไข้ ไอ เสมหะ เก็บตัวอย่างส่งตรวจ เข้ารักษาที่ รพ.เอกชน ผลวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบ ต่อมาอาการแย่ลงและเสียชีวิตวันที่ 13 ม.ค. ส่วนอีกรายเป็นชายไทย อายุ 53 ปี อาชีพรับจ้าง มีโรคประจำตัวเบาหวาน วันที่ 26-30 ธ.ค. เดินทางไป จ.จันทบุรี จ.ชลบุรี จ.เพชรบุรี โดยรถยนต์ส่วนตัว ต่อมา 3 ม.ค. เริ่มมีไข้ ไอ ปวดศีรษะ มีเสมหะ วันที่ 5 ม.ค. เข้ารักษาที่ รพ.แห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ตรวจพบเชื้อโควิด ผลวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบ อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว เสียชีวิตวันที่ 10 ม.ค.
วันต่อมา 15 ม.ค. พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 188 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 154 ราย แบ่งเป็น จากการตรวจในระบบเฝ้าระวังและบริการ 81 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 73 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 21 ราย
ล่าสุด 16 ม.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 230 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 209 ราย แบ่งเป็น จากการตรวจในระบบเฝ้าระวังและบริการ 83 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 126 ราย (ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.สมุทรสาคร) ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันโรค 21 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 11,680 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 9,413 ราย จากการค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 3,386 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2,267 ราย สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 1,671 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 618 ราย รวมเป็น 8,906 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 2,704 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 70 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ เป็นชายไทย อายุ 67 ปี อยู่กรุงเทพมหานคร มีโรคประจำตัว อยู่ระหว่างตรวจสอบประวัติเสี่ยง ในช่วงวันที่ 21, 23 ธ.ค. 63 ไปสถานบันเทิง วันที่ 24 ธ.ค. มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ น้ำมูก วันที่ 29 ธ.ค. ทราบว่าพนักงานร้านที่ไปติดโควิด-19 จึงเข้ารับการตรวจ วันที่ 30 ธ.ค. พบติดเชื้อ วันที่ 14 ม.ค. 64 มีอาการปอดอักเสบเพิ่มขึ้น เหนื่อยมากขึ้น อาการแย่ลง พบโรคแทรกซ้อน คือ ไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ณ เวลา 17.00 น.วันที่ 16 ม.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 335 ราย เป็นการพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจในโรงพยาบาล 24 ราย เป็นคนไทย 13 ราย ต่างด้าว 11 ราย ค้นหาคัดกรองเชิงรุก 311 ราย เป็นคนไทย 118 ราย ต่างด้าว 193 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่มีการระบาดรอบใหม่ของ จ.สมุทรสาคร อยู่ที่ 4,359 ราย เป็นการพบผู้ติดเชื้อจากการค้นหาตัดกรองเชิงรุก 3,407 ราย พบเชื้อจากการตรวจในโรงพยาบาล 952 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 2,987 ราย
3.“บิ๊กตู่” ย้ำ รัฐบาลเป็นเจ้าภาพบริหารจัดการวัคซีนโควิดเอง ด้าน "อนุทิน" ยัน ขอฉีดเป็นคนแรก!
หลังมีท่าทีจากองค์กรท้องถิ่นเทศบาลหลายแห่งหลายจังหวัดว่า ต้องการช่วยรัฐบาลด้วยการใช้งบของเทศบาลเองเพื่อจัดซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งมีทั้งกระแสที่สนับสนุนและคัดค้าน โดยฝ่ายคัดค้านมองว่า อาจจะเกิดการลักลั่นในการกระจายวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนได้ เพราะบางท้องถิ่นบางเทศบาลไม่ได้มีงบมากเหมือนบางเทศบาลนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ม.ค. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการโพสต์ข้อความว่า “จากการประชุมอัปเดตเรื่องวัคซีน ขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก ...เราคงต้องปรับตัวและอยู่กับไวรัสโควิด-19 ให้ได้ ...ซึ่งในระดับบุคคลก็จะต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน"
"...เรื่องการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้มากที่สุด จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นบริหารจัดการต้นทุนในการป้องกันและควบคุมโรคที่ถูกที่สุด ถูกกว่าการระดมตรวจหาเชื้อด้วยซ้ำ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนในภาพรวม รวมทั้งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ"
"ตั้งแต่ปลายปี 2563 ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 32 ล้านโดส ในสหรัฐฯ ฉีดไปแล้วประมาณ 10.7 ล้านโดส จีนกว่า 9 ล้านโดส ยุโรป 3.7 ล้านโดส และอังกฤษ 3.1 ล้านโดส"
"...อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีนของเรา ก็ได้ติดตามการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้านโควิดมาตั้งแต่หลังการระบาดใหม่ๆ รวมทั้งได้วางแผนการจัดหาและแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"
"ขณะนี้ ศูนย์ผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอไซเอนส์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกา จากประเทศอังกฤษ ได้เริ่มการผลิตวัคซีนมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี การผลิตวัคซีนแต่ละลอตนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ทั้งระยะเวลาในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเร่งรัดข้ามขั้นตอนได้ เพราะจะมีผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึง"
"หากเป็นไปตามแผน วัคซีนแอสตราเซเนกาลอตแรกจะพร้อมฉีดให้ประชาชนในเดือนมิถุนายนนี้ โดยที่รัฐบาลได้สั่งจองไปแล้ว จำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคนก่อน และได้เจรจาขอซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนให้มากขึ้น"
"...นอกจากนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขยังได้สั่งซื้อวัคซีนของซิโนแวค ประเทศจีน จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งจะมาถึงประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ แม้ว่าตอนนี้จะมีข่าวว่าวัคซีนซิโนแวค ที่ทดลองในบราซิล มีประสิทธิผลเพียง 50 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นก็ตาม แต่ผมก็อยากเรียนให้ทราบว่า ในทางการแพทย์นั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับการทดลองว่า ฉีดที่ไหน หรือฉีดให้ใครด้วย"
"...อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนให้ได้ผลในการยับยั้งการระบาด ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 50% ของจำนวนประชากร หรือจะให้ดีคือ 70% ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะฉีด 50% คือ 33 ล้านคน จะต้องฉีดถึง 66 ล้านโดส ถ้าเริ่มฉีดเดือนมิถุนายนจนถึงปลายปีนี้ จะต้องฉีดเดือนละ 9.4 ล้านโดส หรือวันละ 313,000 โดส ถ้าคิดว่าวันหนึ่งฉีดได้ 12 ชั่วโมง คือ ชั่วโมงละ 26,000 โดส"
"เพราะฉะนั้น การฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดภายในสิ้นปีนี้ เป็นงานที่ท้าทายระบบสาธารณสุขทั่วโลก จากสถิติอัตราการฉีดวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา อิสราเอลทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ คือ 2 ล้านโดส ใน 3 สัปดาห์ (หรือ 2.6 ล้านโดสต่อเดือน) ส่วนสหรัฐฯ ฉีดได้ 10 ล้านโดส ในเดือนแรก อังกฤษทำได้ 2 ล้านโดส เช่นกัน"
"ผมได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเริ่มดำเนินการวางแผนงานการฉีดวัคซีนตั้งแต่ตอนนี้เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากจำเป็นต้องมีการวางแผนการกระจาย การจัดส่งวัคซีน การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนต้องตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน เตรียมอุปกรณ์บุคลากร คือหมอและพยาบาล มีการลงทะเบียน การสอบถามอาการหลังฉีด ต้องจัดเตรียมสถานที่ฉีด และพักหลังการฉีด 15-30 นาที รวมทั้งการประเมินผล ไปจนถึงการติดตามให้มาฉีดโดสที่สอง ยังมีการเก็บข้อมูลของคนที่ฉีด และชนิดของวัคซีน"
"จะเห็นว่า แผนการกระจายวัคซีนจึงมีความสำคัญมาก เป็นผลที่จะทำให้การฉีดวัคซีนได้ผลมากหรือน้อย และไม่เกิดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ “แบบรวมศูนย์” เพื่อที่ว่า เมื่อได้วัคซีนมาจะได้เริ่มฉีดได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นที่สุด"
"สุดท้ายนี้ ผมขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดหาวัคซีนและมีแผนฉีดวัคซีน ที่จะทำให้เกิดผลในการป้องกันการระบาดได้ โดยวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชน จะต้องได้ผลป้องกันโควิดได้ และปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เราสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เปิดประเทศได้โดยเร็วที่สุด”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกรณีที่หลายท้องถิ่นประกาศจะจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของตนเอง นายกฯ กล่าวว่า ก็เป็นโอกาสที่ทำได้ ซึ่งตนเปิดโอกาสให้สามารถนำเข้าวัคซีนมาได้ หากจะใช้เงินท้องถิ่นก็ถือเป็นสิทธิ์และเป็นเรื่องของสภาท้องถิ่นจะจัดซื้อที่ไหนอย่างไร แต่ต้องผ่านมาตรฐานของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ถึงประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่จะนำมาฉีดให้กับคนไทย โดยยืนยันว่า ตนจะขอเป็นผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นคนแรกเหมือนเดิม ที่เคยยืนยันมาก่อนหน้านี้ และว่า วัคซีนสำหรับการป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่ในโลกนี้ มีการพิสูจน์และยืนยันแล้ว ต่อให้มีประสิทธิผลเพียง 50-60-70% แต่ทุกวัคซีนไม่ทำให้โรคนี้พัฒนาไปจนอาการหนัก หมายความว่า ถ้าป่วยก็ไม่ป่วยหนัก และไม่พัฒนาไปถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าได้รับวัคซีนแล้วโรคก็จะทุเลาลง ต่อให้มีการติดเชื้อบ้าง และเชื่อว่าในอนาคต เขาก็ต้องมีการปรับปรุงและมีการพัฒนาไป ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนก็น่าจะมีประสิทธิผลที่มากขึ้น
4.กกต.รับรองผลนายก อบจ. แค่ 32 จังหวัด ยังแขวน 44 พร้อมเคาะวันเลือกตั้งเทศบาล 28 มี.ค.นี้!
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาผลการเลือกตั้งนายก และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ครบถ้วนทั้ง 76 จังหวัดแล้ว โดย กกต. ประกาศรับรองนายก อบจ. รวมทั้งสิ้น 32 จังหวัด และ ส.อบจ. รวม 1,946 ราย จากจำนวนสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 2,316 ราย ขณะเดียวกันมีนายก อบจ. และ ส.อบจ. ที่ กกต.ยังไม่ประกาศรับรอง เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียน แบ่งเป็น นายก อบจ. 44 จังหวัด และสมาชิก อบจ. 370 ราย
สำหรับจังหวัดที่ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในส่วนของนายก อบจ. 32 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, จันทบุรี, ชัยนาท, ตราด, ตาก, นครนายก, นครราชสีมา, นครสวรรค์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พะเยา, พังงา, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, แพร่, ราชบุรี, ลำปาง, ลำพูน, ศรีสะเกษ, สตูล, สมุทรสงคราม, สิงห์บุรี, สุโขทัย, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อุดรธานี และอุทัยธานี
ส่วนอีก 44 จังหวัดที่ กกต.ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งในส่วนของนายก อบจ. เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ได้แก่ กาญจนบุรี, กาฬสินธุ์, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, นครปฐม, นครพนม, นครศรีธรรมราช, นนทบุรี, นราธิวาส, น่าน, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, พระนครศรีอยุธยา, พัทลุง, พิจิตร, ภูเก็ต, มหาสารคาม, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ยะลา, ร้อยเอ็ด, ระนอง, ระยอง, ลพบุรี, เลย, สกลนคร, สงขลา, สมุทรสาคร, สระแก้ว, สระบุรี, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, สุราษฎร์ธานี, อำนาจเจริญ, อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
สำหรับนายก อบจ. ที่ถูกร้องเรียน และอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น กกต.มีอำนาจพิจารณาตามกรอบกำหนดเวลาถึงวันที่ 19 ก.พ.นี้ หากไม่แล้วเสร็จ ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน โดยมีรายงานว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียน 517 เรื่อง เป็นสำนวนแล้ว 250 สำนวน
ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีนั้น เมื่อวันที่ 14 ม.ค. สำนักงาน กกต. เผยว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งต่อสำนักงาน กกต.ว่า คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ลงมติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีนั้น กกต.ได้พิจารณาร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง และประกาศ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ตามที่สำนักงาน กกต.เสนอแล้ว มีมติเห็นชอบให้วันอาทิตย์ที่ 28 มี.ค.2564 เป็นเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ส่วนวันรับสมัครเลือกตั้ง คือวันจันทร์ที่ 8 ถึงวันศุกร์ที่ 12 ก.พ. โดย กกต.จะออกประกาศกำหนดเรื่องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ในวันที่ 1 ก.พ. หลังจากนั้น ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเทศบาลจะประกาศให้มีการเลือกตั้งและวันรับสมัครเลือกตั้งต่อไป
สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค.นั้น จะมีเทศบาลทั้งหมดประมาณ 2,472 แห่ง แบ่งเป็น เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,247 แห่ง
5.ดีเอสไอ รวบ "อภิรักษ์" ซีอีโอแชร์ Forex-3D แล้ว หลังหนีกบดาน ตปท.ปีกว่า เพิ่งลอบเข้าไทยไม่กี่เดือน!
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. พ.ต.ท.กรวัฒน์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมคณะ ได้ แถลงข่าวผลการจับกุมนายอภิรักษ์ โกฎธิ ผู้ต้องหาตามหมายจับ ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัท FOREX 3D ผู้ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่พันล้านบาท ที่หลบหนีคดีตั้งแต่ปี 2562 โดยถูกจับกุมได้ที่คอนโดมิเนียมหรูแห่งหนึ่งย่านทองหล่อ
นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กล่าวว่า คดีดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 1,900 ล้าน มีผู้เสียหายในสำนวนถึง 8,437 คน และนอกสำนวนอีกเป็นหมื่นคน จากการสอบสวน ติดตามตัวนายอภิรักษ์ ทราบว่า หลังจากที่เจ้าตัวหลบหนีหมายจับไปต่างประเทศตั้งแต่เดือน มี.ค. 62 โดยไปหลบตัวอยู่ที่สิงคโปร์และมาเลเซียเป็นบางครั้ง ก่อนที่จะลักลอบกลับเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางช่องทางธรรมชาติ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 63 จากนั้นชุดสืบสวนจึงได้มีการติดตาม ตนทราบว่า เจ้าตัวหลบอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ และได้มีการทยอยขายสินทรัพย์ที่มีการอายัดไปแล้ว และยังไม่ได้อายัด โดยเฉพาะรถหรูซูเปอร์คาร์ ลัมบอร์กีนี เจ้าหน้าที่จึงได้ล่อซื้อจับกุม พร้อมยืนยันว่า สถานที่คอนโด หรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมนั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับคดี และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ผู้ต้องหายืนยันว่า ตนเองมีธุรกิจอยู่ต่างประเทศ แต่เมื่อให้แสดงหลักฐานที่มาต่างๆ ก็ยังไม่สามารถจะแสดงหลักฐานได้ ซึ่งยังไม่ได้ให้การรับสารภาพทั้งหมด มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ และยังไม่ได้ให้การเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดี โดยขอใช้สิทธิ์ต่อสู้ในชั้นศาล
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก อาทิ รถซูเปอร์คาร์ ลัมบอร์กินี ซึ่งเดิมเป็นสีส้มแต่ผู้ต้องหาได้เปลี่ยนเป็นสีฟ้า มูลค่าประมาณ 24 ล้านกว่าบาท โดยได้มีการว่าจ้างคนขับรถนำไปขายในตลาดมืด ซึ่งราคาอยู่ที่ 8-10 ล้านบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถจับกุม และนำตัวคนขับรถที่ถูกว่าจ้างมาสอบสวน ขณะเดียวกัน ยังได้ยึดสมุดบัญชีเงินฝาก โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาหรู เครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ กระเป๋าแบรนด์เนม และตู้เซฟที่ยังไม่ได้เปิด เป็นต้น
ขณะนี้นอกจากจะมีการจับกุมนายอภิรักษ์แล้ว ยังได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนเพิ่มเติมอีก 7 คน และได้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วทั้งหมด
นายปิยะศิริ ยืนยันว่า จะขยายผลติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหารายอื่นอย่างเร่งรัด และไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือบุคคลสาธารณะ ถ้าพบมีพฤติกรรมความผิด หรือพยานหลักฐานเพียงพอ จะเสนอผู้บังคับบัญชาให้มีการสั่งฟ้องอย่างแน่นอน
สำหรับพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา นายอภิรักษ์ โกฎธิ กับพวกได้ใช้เว็บไซต์ www forex-3d.com เป็นช่องทางในการหลอกลวงโฆษณาชักชวนประชาชนให้นำเงินไปลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ ( Forex) โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60-80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการเทรด Forex ทั้งนี้ ถือเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ก่อนที่จะถูกพนักงานสอบสวนคดีพิเศษออกหมายจับและแจ้งข้อกล่าวหา บุคคลและนิติบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดรวม 4 คน
ล่าสุด วันนี้ (16 ม.ค.) พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้นำตัวนายอภิรักษ์ โกฎธิ ไปยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งแรกต่อศาลอาญา (รัชดาภิเษก) แล้ว ซึ่งในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ด้านศาลอาญาพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ทั้งนี้ ไม่มีญาตินายอภิรักษ์ ผู้ต้องหา มายื่นขอประกันตัวชั่วคราวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้นำตัวไปคุมขังระหว่างการสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป