MGR Online - “ดีเอสไอ” รวบชาวจีนเครือข่ายปล่อยเงินกู้ผ่านแอปฯ อายัดบัญชีผู้เกี่ยวข้อง 157 บัญชีตรวจสอบ เงินหมุนเวียน 1,500 ล้านบาท พบลูกหนี้จ่ายล่าช้านำข้อมูลส่วนตัวไปประจาน
วันนี้ (14 ม.ค.) พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ดีเอสไอได้ติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนและผลกระทบของประชาชนจากการกู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชันที่มีมากกว่า 30 แอปฯ จนล่าสุดได้มีการแจ้งผ่านแอปพลิเคชันของดีเอสไอ “รู้ทัน-Rootan” ให้ข้อมูลเบาะแสรูปแบบการให้กู้ยืมผ่านแอปฯ โดยหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ คิดค่าธรรมเนียม เพื่ออำพรางการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด (คำนวณแล้วสูงถึงร้อยละ 750-2,500 ต่อปี) และมีการติดตามทวงถามหนี้โดยเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของลูกหนี้ พร้อมข่มขู่ประจาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อย และเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
พ.ต.ท.กรวัชร์ เผยอีกว่า วานนี้ (13 ม.ค.) ได้มอบหมาย กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ศูนย์สืบสวนไซเบอร์ และศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ดีเอสไอ นำกำลังเข้าตรวจค้นสถานประกอบการในกรุงเทพฯ จำนวน 2 แห่ง พร้อมยึดของกลาง คือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายรายการ และจับกุม นายปิน หลิว อายุ 35 ปี สัญชาติจีน ผู้ต้องหาในข้อหา “ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และ ร่วมกันให้กู้ยืมเงินหรืออำพรางการกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด” ทั้งนี้ พบว่า จุดเป้าหมายที่เข้าตรวจค้น มีความเกี่ยวข้องกับการโฆษณาให้ประชาชนเข้าไปลงข้อมูลผ่านแอปฯ ต่างๆ โดยให้กรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลและอนุญาตให้แอปฯนั้นเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้เสียหายผ่านทางเฟซบุ๊ก, ไลน์, โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่หมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
“รูปแบบการให้กู้ยืมเงินผ่านแอปต่างๆ ผู้กู้จะไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน โดยแอปพลิเคชันเงินกู้ดังกล่าวจะมีการหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น กู้ยืมเงิน 4,000 บาท ผู้กู้จะได้รับเงินเพียง 2,600 บาท โดยเงิน 4,000 บาท จะต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 14 วัน หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนจะมีค่าปรับตามจำนวนอัตราที่แอปฯ นั้นกำหนดไว้ เช่น กู้เงิน 4,000 บาท หากส่งคืนล่าช้า จะมีค่าปรับวันละ 400-600 บาท และจะมีการทวงถามไปยังบุคคลใกล้ชิดของผู้กู้ ตามที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดโทรศัพท์ที่แอปฯ นั้นได้ข้อมูลไป มีการเอารูปภาพไปประจาน นอกจากนี้ ยังมีการข่มขู่คุกคามผู้กู้และคนใกล้ชิด ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง บางรายถึงขั้นถูกไล่ออกจากงาน”
พ.ต.ท.กรวัชร์ เผยต่อว่า จากการสืบสวนพบว่า มีคนต่างด้าวเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นนายทุนอยู่เบื้องหลัง มีการสร้างแอปพลิเคชันโดยจะตั้งชื่อเลียนบริษัทที่มีชื่อเสียง True Cash, Cash 2 you เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มกวดขันมากขึ้น ก็จะเปลี่ยนชื่อและกระทำในลักษณะเดียวกันมากกว่า 30 แอปฯ เช่น มีเหรียญ ให้กู้เถอะ ยืมเงินด่วน กู้ง่าย Cash 24 h Big Money Cash Loan เป็นต้น ตรวจสอบเบื้องต้นตั้งแต่ปลายปี 2562 พบบัญชีผู้เกี่ยวข้อง 15 บัญชี มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 1,500 ล้านบาท และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้อายัดบัญชีที่เกี่ยวข้องกว่า 157 บัญชี เพื่อขยายผลให้ถึงเครือข่ายและตัวการใหญ่ต่อไป
พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจค้นจับกุมช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ทาง ดีเอสไอได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน Universal Precautions (UP) ตามแนวทางที่ได้ร่วมหารือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และขอขอบคุณอธิบดีกรมควบคุมโรคที่ให้คำแนะนำและมอบหมายเจ้าหน้าที่มาร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย โดยขอเตือนให้ประชาชนระวังอย่าเปิดบัญชีเงินฝากให้กับมิจฉาชีพ เพราะอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และหากท่านพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งเบาะแสได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน “รู้ทัน-Rootan” ของศูนย์สืบสวนไซเบอร์ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ