xs
xsm
sm
md
lg

10 ประเด็น! สรุปเบื้องต้นโศกนาฏกรรม เครื่องบิน SJ182 ดำดิ่งตกทะเลอินโดนีเซีย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สรุปเบื้องต้นโศกนาฏกรรมอุบัติเหตุทางเครื่องบินในอินโดนีเซียครั้งล่าสุด เครื่องบินโบอิ้ง 737-500 ของสายการบินศรีวิจายาแอร์ (Sriwijaya Air) เที่ยวบินที่ SJ182 เส้นทางจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไปยังเมืองปอนเตียนัค จังหวัดกาลิมันตันตะวันตก บนเกาะบอร์เนียว ประสบอุบัติเหตุตกทะเลชวา เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา

1. เที่ยวบินที่ SJ182 ออกจากท่าอากาศยานซูการ์โน-ฮัตตา เมื่อเวลา 14.36 น. ก่อนที่จะขาดการติดต่อเมื่อเวลา 14.40 น. ข้อมูลจากเว็บไซต์ Flightradar24.com ระบุว่า เครื่องบินลำนี้อยู่ในระดับความสูงที่ 10,900 ฟุต แต่ความสูงครั้งสุดท้ายที่บันทึกไว้อยู่ที่ 250 ฟุต ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป


2. เที่ยวบินนี้มีผู้โดยสารทั้งหมด 62 คน แบ่งเป็นนักบิน 2 คน ลูกเรือ 4 คน ผู้โดยสารอีก 56 คน แบ่งออกเป็นผู้ใหญ่ 46 คน โดยพบว่า 6 คน เป็นลูกเรือที่มาในฐานะผู้โดยสาร ส่วนเด็กมี 7 คน และทารกอีก 3 คน โดยกัปตันมีชื่อว่า อัฟวาน (Afwan) ซึ่งมีประสบการณ์เคยเป็นอดีตนักบินกองทัพอากาศอินโดนีเซีย

3. ต่อมาได้รับการยืนยันว่า เครื่องบินลำดังกล่าวตกลงสู่ทะเลชวา บริเวณหมู่เกาะเธาว์ซันไอแลนด์ ระหว่างเกาะลันจัง (Lanchan) กับเกาะลากี (Laki) ซึ่งอยู่เหนือกรุงจาการ์ตาขึ้นไป พร้อมกันนี้ ในทีวีและสื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพของวัตถุคล้ายเศษซากเครื่องบินในทะเล

4. เที่ยวบินนี้ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-500 หมายเลขทะเบียน PK-CLC (MSN 27323) ผลิตเมื่อปี 2537 อายุการใช้งาน 26 ปี สายการบินศรีวิจายาแอร์ ซื้อต่อจากสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2555 ในวันเกิดเหตุเครื่องบินลำดังกล่าวทำการบินไปแล้ว 4 เที่ยวบิน คือ จาการ์ตา-ปอนเตียนัค-จาการ์ตา และ จาการ์ตา-ปังกาลปีนัง-จาการ์ตา

5. ปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินเริ่มต้นตั้งแต่หลังเกิดเหตุ โดยมีท่าเทียบเรือ JICT ทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา เป็นสถานที่รวบรวมซากเครื่องบินและสัมภาระ โดยการค้นหามีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การค้นหาทางอากาศ การค้นหาทางเรือ และการค้นหาใต้น้ำ มีหน่วยงานทั้งกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (TNI) หน่วยค้นหาและกู้ภัยอินโดนีเซีย (BASARNAS) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

6. ทีมนักประดาน้ำของกองทัพเรืออินโดนีเซียทำการค้นหาชิ้นส่วนเครื่องบินที่ระดับความลึก 20-30 เมตร ขึ้นอยู่กับกระแสน้ำ พบกับอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะทัศนวิสัยใต้น้ำที่จำกัด ขณะที่นักประดาน้ำจากรักษาความปลอดภัยทางทะเลอินโดนีเซีย (BAKAMLA) ตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องบินลำดังกล่าวตกอย่างรุนแรงจนชิ้นส่วนกระจัดกระจาย ทำให้ยากต่อการค้นหา


7. การค้นหาตลอดวันที่ 10 ต.ค. พบชิ้นส่วนล้อเครื่องบิน ตัวเครื่องบินที่บ่งบอกว่าเป็นสายการบินศรีวิจายาแอร์ และเสื้อผ้าเด็กสีชมพูซึ่งตรงกับผู้เสียชีวิต กระทั่ง BASARNAS ส่งมอบกระเป๋า 8 ใบให้หน่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้ประสบภัยพิบัติ (DVI) และ KNKT นำไปตรวจสอบ โดย 3 ใบบรรจุทรัพย์สินของผู้โดยสาร และอีก 5 ใบเป็นชิ้นส่วนศพผู้เสียชีวิต

8. ทีม DVI โรงพยาบาลตำรวจการ์มัตจาติ รับถุงบรรจุร่างผู้เสียชีวิต 7 ราย เพื่อนำไปพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากข้อมูลของครอบครัวผู้เสียชีวิต ขณะเดียวกัน ได้ร้องขอให้ญาติผู้สูญหายติดต่อตำรวจที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ข้อมูล ขณะที่ครอบครัวผู้สูญหายส่วนหนึ่งรอคอยฟังข่าวที่อาคารผู้โดยสาร 2 ท่าอากาศซูการ์โนฮัตตา ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานชั่วคราว

9. การค้นหาซากเครื่องบินและร่างผู้เสียชีวิตหยุดลงเมื่อเวลา 17.00 น. เนื่องจากสภาพอากาศที่มีเมฆมากและลมแรง โดยในวันนี้ (11 ม.ค.) จะขยายพื้นที่ค้นหาไปทางชายฝั่ง เนื่องจากกระแสน้ำไหลไปทางชายฝั่ง อีกด้านหนึ่ง พบตำแหน่งกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบินและข้อมูลการบินแล้ว ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอินโดนีเซีย ระบุว่า กำลังพยายามที่จะนำกล่องดำออกมา

10. ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์เครื่องบินพาณิชย์ตกในอินโดนีเซียเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ สายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ QZ8501 สุราบายา-สิงคโปร์ ตกในทะเลที่ช่องแคบการีมาตา เมื่อปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 162 ราย และสายการบินไลอ้อนแอร์ เที่ยวบินที่ JT610 จาการ์ตา-ปังกัลปีนัง ตกในทะเลใกล้กับเมืองการาวัง จังหวัดชวาตะวันตก มีผู้เสียชีวิต 189 ราย

(ที่มา : เรียบเรียงจาก Flightradar24.com / Metro TV / Media Indonesia และ Wikipedia)
กำลังโหลดความคิดเห็น