xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ กศน.แจงข้อมูลเพิ่ม หวั่นชาวเน็ตเข้าใจข้อมูล ศศช.คลาดเคลื่อน หลังมีดรามาเน็ตไอดอลช่วยเด็กบนดอย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย กศน. ออกมาระบุข้อความถึงประเด็นดรามาในโซเชียลฯ หลังเน็ตไอดอล ออกไปช่วยเหลือน้องๆ ที่อยู่บนดอยสูง ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยผู้โพสต์ได้เข้ามาอธิบายถึงการทำงานของ ศศช. เป็นศูนย์​การเรียน​ชุมชน​ชาวไทย​ภูเขาที่มีมายาวนานกว่า 40 ปี พร้อมเผยข้อมูลสำคัญ ทั้งเรื่อง “ไฟ-ไข่เจียว และการปลูกผัก”

จากกรณี “พิมรี่พาย” หรือ น.ส.พิมพ์พรรณ สรัลรัชญ์ เน็ตไอดอล และแม่ค้าออนไลน์จำหน่ายน้ำหอมชื่อดัง โพสต์วิดีโอคลิประบุว่าได้นำเงิน 550,000 บาทมาซื้อทีวี ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และสร้างแปลงผักให้แก่เด็กๆ ที่หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นของขวัญในวันเด็กแห่งชาติ โดยอ้างว่าเด็กๆ เรียนไม่ถึงชั้นมัธยมเพราะไม่มีความฝัน อยู่ในโลกแคบๆ ไม่รู้ว่าโตขึ้นอยากทำอาชีพอะไร ไม่มีทีวี หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต และเด็กบางคนไม่เคยกินข้าวไข่เจียว อาหารที่ดีที่สุด คือ น้ำพริก กระทั่งได้รับเสียงชื่นชมจากชาวเน็ตจำนวนมากนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “อรอานันท์ แสงมณี” นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ ที่สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาโพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลบางอย่างที่อาจจะทำให้ชาวเน็ตเข้าใจเกี่ยวกับ ศศช.หรือศูนย์​การเรียน​ชุมชน​ชาวไทย​ภูเขา ​“แม่ฟ้าหลวง” เป็นสถานศึกษา​ในสังกัด​สำนักงาน​ กศน.
กระทรวง​ศึกษาธิการ​ คลาดเคลื่อนได้ โดยผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า

“เนื่องจากมีกระแสในโลกออนไลน์จากยูทูปเบอร์ชื่อดังคนหนึ่ง และเราได้มีส่วนร่วมในการทำงานของ ศศช. ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และมีข้อมูลบางอย่างที่คลาดเคลื่อน จึงขออนุญาต​ใช้พื้นที่เล็กๆ​แนะนำให้ทุกท่านรู้จัก​ ศศช.หรือศูนย์​การเรียน​ชุมชน​ชาวไทย​ภูเขา ​“แม่ฟ้าหลวง” เป็นสถานศึกษา​ในสังกัด​สำนักงาน​ กศน. กระทรวง​ศึกษาธิการ​ เป็นการจัดการศึกษา​ชุมชน ที่ยึดชุมชนเป็นหลัก​ จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนทั้งชุมชน​ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งการศึกษา​ต่อ​ มีอาชีพ​ และพัฒนาอาชีพของตนเอง​ ให้สามารถ​ดำรงชีวิตด้วยความสมดุลของธรรมชาติ​และสิ่งแวดล้อม​และนำมาเป็นส่วนร่วมในการจัดการศึกษา​ให้แก่ชุมชน​มามากกว่า​ 40​ กว่าปี

มีกลุ่มเป้าหมาย​ 4 กลุ่ม​ ดังนี้
1. เด็กก่อนวัยเรียน​ อายุ​ 3-6 ปี จัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก​ โภชนาการ และดูพัฒนาการเด็กจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​

2. เด็กวัยเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษา ในระบบโรงเรียน​ อายุ​ 7-14​ ปี กลุ่มนี้​ ศศช.​บางแห่งเป็นสถานศึกษา​พื้นที่เป้าหมาย การพัฒนา​เด็ก​และ​เยาวชน​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร ตามพระราชดำริ​สมเด็จพระ​กนิษฐา​ธิราช​เจ้า​ กรม​สมเด็จพระ​เทพ​รัตน​ราชสุดา​ฯ​ สยาม​บรม​ราช​กุมารี​ ที่ดูแลทั่งด้านโภชนาการ​ สุขอนามัย​ วิชาการ​จริยธรรม​ ฯลฯ​ ให้มีคุณภาพชีวิต​ที่ดี

3. กลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่​ อายุ​ 15​ -​59 ปี กลุ่มนี้จัดการศึกษา​พัฒนาอาชีพและทักษชีวิต การศึกษา​ขั้นพื้นฐาน​ รวมถึงทักษะ​ฟังพูดอ่านเขียน ภาษาไทยเพื่อสื่อสารและรับบริการ​เช่นสถานพยาบาลเวลาเจ็บป่วยจะได้แจ้งอาการถูก เป็นต้น

4. ผู้สูงอายุ​ อายุ​ 60​ ปีขึ้นไป จัดกิจกรรม​ตามความสนใจของผู้เรียน

ปกติครูทำหน้าที่สอนเด็กและประชาชนในชุมชน เป็นการจัดการศึกษาตามบริบทชุมชนและโครงการอื่นๆ ในพื้นที่จากหลายหน่วยงานโดยให้​ ครู​ศศช.เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ​ (บาง​ ศศช.เป็น​ 10 โครงการก็มี)​
และมักมีเครือข่ายมาให้การสนับสนุนอยู่บ่อยๆ ทั้งเรื่องของ​อาคารเรียน​ ศศช.​ ที่จะถูกสร้างการสนับสนุนจากผู้ที่สนใจ​ (แต่เดิมชาวบ้านในชุมชนเป็นคนสร้างอาคาร​ ศศช.)​ ข้าวของเครื่องใช้​ อาหารและยารักษาโรค​ต่างๆ​ ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตามพื้นฐาน​หรือจากผู้ให้การสนับสนุน ด้วยพื้นที่ห่างไกล​ระบบการใช้พลังงานไฟฟ้าไปไม่ถึงในบางพื้นที่ใช้พลังงานทดแทน​ พลังงานแสงอาทิตย์​ หรือน้ำ​ แต่อาจจะไม่ได้มีทั้งชุมชน ภายใน​ ศศช.​จะมีพลังงานทดแทนเหล่านี้สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนภายใน​ ศศช.

จากกระแสเรื่องราวของ​ ศศช.ที่ได้ถูกประชาสัมพันธ์​และเผยแพร่​อยู่​ในขณะนี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย​ หากท่านใดสนใจข้อมูล​ อยากให้การสนับสนุน​ ศศช.​808 แห่งในพื้นที่​ 14​ จังหวัด​ ได้แก่​ เชียงราย​ เชียงใหม่​ ตาก​ น่าน​ แม่ฮ่องสอน​ แพร่​ พะเยา​ ลำพูน​ ลำปาง​ กาญจนบุรี​ ราชบุรี​ ประจวบคีรีขันธ์​ เพชรบุรี​ พังงาสามารถ​ติดต่อสำนักงาน​ กศน.จังหวัด​ ทั้ง​ 14​ จังหวัด ที่ได้แจ้งไว้

ขอบพระคุ​ณ​ทุกท่านที่ให้ความสนใจ และยินดี​อย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุน​ ศศช.​นะคะ”

นอกจากนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กยังได้ระบุให้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ประเด็นที่ 1 เด็กในพื้นที่ที่เขาไม่รู้จัก “ไข่เจียว” เนื่องจากเขาเรียกกันว่า “ทอดไข่”

ประเด็นที่ 2 ถ้าเด็กๆ ไม่รู้จักวิธีปลูกผัก เขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีผักรับประทาน

และยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าคิด เช่น ในคลิปบอกว่าในหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ การศึกษาเข้าไม่ถึง แต่ในคลิปของยูทูปเบอร์ท่านนั้นที่ถ่ายตอนต้นคลิป (มุมสูง) ยังมีจานดาวเทียมตั้งตระหง่านอยู่ในหมู่บ้านเลย คือ??

อยากให้ทุกท่านได้เข้าไปดูในเพจของ ศศช.บ้านแม่เกิบ จะช่วยอธิบายอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อความเป็นกลางค่ะ ขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ



กำลังโหลดความคิดเห็น