พีเทค สวทช. และ ดีป้า นำร่องอบรม 2 เทคโนโลยี คือ เทคโนโลยีไอโอที (Internet of Things) และ อากาศยานไร้คนขับ (Drone) UAV คาดว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะของไทย ให้สามารถออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไทยได้ตามมาตรฐานสากล เผยข่าวดี ผู้อบรมสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบไปขึ้นทะเบียนบัญชีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Provider) ของดีป้าได้ พร้อมการรับรองจาก 2 ตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพมาตรฐาน ด้วย P-mark จากพีเทค และ dSure จากดีป้า
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) กล่าวว่า สวทช. เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศและ SMEs ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงวางนโยบายโดยใช้ยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสากลเป็นแนวคิดหลัก และนำเอาความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้แก่ผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ตั้งหน่วยงานด้านวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานสากลขึ้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบคุณภาพจาก พีเทค สวทช. จะได้รับเครื่องหมาย P-mark สัญลักษณ์คุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อไปอีกว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต และการทำธุรกิจในทุกภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการปรับตัวรับกับความท้าทายและใช้โอกาสความเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอุปกรณ์ IoT และ Drone เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบและพัฒนาอย่างรวดเร็วตามกระแสความนิยม แต่เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานอย่างชัดเจน การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงการใช้งานแต่ไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานอาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดความเสี่ยง เช่น ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพเร็ว ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือ ไม่สามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว สวทช.จึงได้ร่วมมือกับ ดีป้า จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านมาตรฐาน และการทดสอบอากาศยานไร้คนขับ และ IoT ประกอบด้วยการถ่ายทอดความรู้ทั้งทางทฤษฎี และปฏิบัติ เพื่อเพิ่มทักษะและขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยยกระดับการพัฒนาและการผลิตให้สามารถนำออกให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมั่นใจตามหลักมาตรฐานสากล และยังสามารถต่อยอดสู่การขอรับเครื่องหมาย dSure (ดีชัวร์) เพื่อผลักดันสู่ตลาดในประเทศต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการอบรม สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบไปขึ้นทะเบียนในบัญชีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Provider) ของดีป้า เมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วเสร็จสามารถส่งห้องปฏิบัติการทดสอบ เช่น PTEC หรือ NECTEC เมื่อผ่านการทดสอบ ยังสามารถต่อยอดขอรับเครื่องหมาย dSURE เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่าปลอดภัยได้มาตรฐาน เป็นการสร้างความมั่นใจในภาคผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี สำหรับการบูรณาการการทำงานระหว่าง ดีป้า และ สวทช. ในครั้งนี้เกิดจากความเชื่อมั่นในความสามารถของคนไทย และความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการบ่มเพาะผู้มีความสามารถให้มีความรู้ และมีโอกาสเติบโตเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป