xs
xsm
sm
md
lg

เออาร์วีจีบพันธมิตร รุกโดรน บิซิเนสในปี64

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เออาร์วี เจรจาพันธมิตร รุก “โดรน บิซิเนส” คาดชัดเจนต้นปี2564 ส่วน กฟผ.จีบเออาร์วีร่วมธุรกิจนำโดรนให้บริการตรวจสอบสภาพระบบส่ง ช่วยลดต้นทุน

นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม( ปตท.สผ. )เปิดเผยว่า เออาร์วี อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร เพื่อเตรียมจัดทำธุรกิจนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน บิซิเนส โดยเบื้องต้นจะเน้นการใช้โดรนกับงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี2564

“ตอนนี้ เออาร์วี รุกธุรกิจเต็มที่แล้ว จะเห็นว่าปีนี้ เราขยายความร่วมมือกับพันธมิตรหลายรายทั้ง บริษัทในเครือของไทยคม ทำเรื่องโดรนเกษตรอัจฉริยะ และจับมือกับบริษัท เมอร์เมด ยกระดับบริการงานวิศวกรรมใต้ทะเลด้วยหุ่นยนต์และเอไอ และปีหน้าเราก็จะมี โดรน บิซิเนส”

ทั้งนี้ ในปี 2564 การดำเนินธุรกิจของเออาร์วี จะเป็นเชิงรุกในทุกภาคส่วนทั้ง โดรน บิซิเนส,งานวิศวกรรมใต้ทะเล ภาคพื้นน้ำ และภาคสมาร์ทฟาร์ม หรือ เกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น ส่งผลให้ ปี2564 บริษัทมีรายได้เติบโตก้าวกระโดด หรือ โตขึ้นเกิน 100% จากปีนี้รายได้ของเออาร์สีเติบโตได้แต่ไม่มากสืบเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาสงครามราคาน้ำมัน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ ผู้ประกอบการในธุรกิจอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) เลื่อนแผนการตรวจสอบและงานซ่อมบำรุงต่างๆ ออกไป

แต่ในปีหน้า บริษัทเตรียมเร่งจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2564 เช่น โดรนเพื่อการเกษตร “เจ้าเอี้ยง” กำหนดวางจำหน่ายในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 อีกทั้ง หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (Subsea Flowline Control and Repair Robot – SFCR) หรือ หุ่นยนต์นอติลุส (NAUTILUS) ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลสำหรับใช้ในการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำ หากการทดสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คาดว่าจะทำตลาดเชิงพาณิชย์ได้ในปี2564

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างหารือกับ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ปตท. สผ. เพื่อหาโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต เบื้องต้นมองการใช้โดรนเพื่อตรวจสอบระบบส่งและสายส่งของกฟผ. ที่มีระยะทางประมาณ 3 หมื่นกิโลเมตร ช่วยลดค่าใช้จ่ายลง คาดว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น