รองนายกรัฐมนตรี “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” นั่งหัวโต๊ะ ถกประเด็นแผนพัฒนากำลังคน ครั้งที่ 2 ตั้งอนุกรรมการเดินหน้ารับ S-Curve พร้อมขับเคลื่อนช่วยเหลือคนจนและคนพิการ
วันที่ 7 มกราคม 2564 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 2 หลังจากมีการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อ 1 ตุลาคม 2563 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่นและศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การประชุมในครั้งนี้จึงจัดประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน โดยผู้แทนแต่ละหน่วยงานที่เป็นคณะกรรมการจะร่วมประชุมอยู่ ณ ที่ตั้งของหน่วยงาน มีบางส่วนที่มาอยู่ในห้องประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดดังกล่าว สำหรับประเด็นหลักของการประชุมในครั้งนี้ ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน คือการเสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่คนพิการ และการตั้งอนุกรรมการพัฒนาทักษะแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในฐานะเลขาคณะทำงาน ได้จัดทำร่างคำสั่งทั้ง 3 คณะเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจาณาให้ความเห็นชอบ
รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า จากการประชุมครั้งที่แล้วนอกจากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแล้ว ได้เสนอให้ฝ่ายเลขารวบรวมข้อมูลแผนงานและโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับ S-Curve ซึ่งฝ่ายเลขาได้จัดประชุมฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีผลสรุปว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม 2 กลุ่มคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จึงเสนอให้ปี 2564-2566 จะนำร่องขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนใน 2 อุตสาหกรรมนี้ก่อน โดยให้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและ IOT และจัดตั้งสถาบันพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และจะมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
ด้านการพัฒนาทักษะให้แก่คนพิการนั้น มีการประชุมกลุ่มย่อยและรับทราบว่าหน่วยงานต่างๆ ได้จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือคนพิการด้วยแล้ว อาทิ สมาคมคนพิการ 7 ประเภท ได้จัดทำร่างโครงการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ เสนอของบประมาณจำนวน 12 โครงการเป็นเงินกว่า 185 ล้านบาท เช่น โครงการสนับสนุนการจ้างงานสำหรับบุคคลออทิสติก ส่งเสริมอาชีพทำร้านกาแฟครบวงจร อบรมอาชีพอิสระ ทางการเกษตร ส่งเสริมอาชีพการปลูกฮอปส์ เพื่อพัฒนาอาชีพคนพิการทางการเคลื่อนไหว การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนและส่งเสริมการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และอบรมการสร้างซ่อมบำรุงรถสามล้อโยกและรถเข็นนั่ง เป็นต้น
อีกคณะที่เสนอที่ประชุมพิจารณาขับเคลื่อนคือการพัฒนาทักษะเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดทำโครงการเสนอของบประมาณช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมอีกว่า 130,000 คน รวม 1,429 ล้านบาท เพื่อให้แรงงานที่มีรายได้น้อย มีความรู้ที่จะไปประกอบอาชีพและมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น สามารถก้าวผ่านเส้นความยากจนนี้ไปได้
“คณะอนุกรรมการแต่ละชุดที่ได้จัดทำร่างคำสั่งขึ้นมาในครั้งนี้ จะเป็นคณะทำงานชุดขับเคลื่อนเพื่อให้การทำงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสามารถช่วยให้การดำเนินงานในแต่ละด้านบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และจะมีการติดตามผลพร้อมรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการชุดใหญ่ได้ทราบในการประชุมครั้งต่อไป” รมช.กล่าวในท้ายสุด