xs
xsm
sm
md
lg

ศาลจำคุกอดีตที่ปรึกษา กสม. 1 ปี ไม่รอลงอาญา แอบเพิ่มเงินเดือนให้ตัวเองขณะช่วยงานไทยพีบีเอส

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก “โสภณ ตะติโชติพันธุ์” อดีตที่ปรึกษา กสม. 2 ปี ไม่รอลงอาญา รับสารภาพ ลดโทษเหลือคุก 1 ปี จากการแอบแก้สัญญาเพิ่มเงินเดือนให้ตัวเอง จาก 8 หมื่นบาท เป็น 1.2 แสนบาท ขณะช่วยราชการไทยพีบีเอส เมื่อปี 2551

วันนี้ (27 ธ.ค. 2563) สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าคดี นายโสภณ หรือ โสภณธีณ์ หรือ อภิวิชญ์ ตะติโชติพันธุ์ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อครั้งช่วยราชการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส ) เปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินค่าจ้างโดยทุจริต ทำให้องค์การต้องจ่ายเงินเดือนสูงกว่าที่ควรจะเป็น

ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 161 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 157 จำคุก 2 ปี

จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี

เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ลงมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีคำสั่งที่ 29/2552 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2552 ให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ นายโสภณ ตะติโชติพันธุ์ ข้าราชการสามัญตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักงานฯ (เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน 9 ช ช) ระดับ 9 เนื่องจากได้กระทำผิดร้ายแรง

โดยในคำสั่งระบุว่า ระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2551 ถึง วันที่ 19 เมษายน 2551 นายโสภณ ได้ไปช่วยปฏิบัติงานที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และได้ทำสัญญาจ้างได้รับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ด้านบริหารจัดการองค์การและกฎหมาย รับค่าตอบแทนเดือนละ 8 หมื่นบาท เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยสัญญาให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 16 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่ไปปฏิบัติงานจริง ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2551 นายโสภณได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลและปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 10 ประการ

และต้นเดือนเมษายน 2551 นายโสภณได้เจรจาขอให้ นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ในขณะนั้น) เพิ่มค่าตอบแทนให้เป็นเดือนละ 1 แสนบาท โดยกลางเดือนเมษายน นายโสภณได้นำร่างสัญญาจ้างฉบับใหม่ไปให้นายเทพชัยลงนาม ซึ่งนายเทพชัยก็ได้ลงนามให้ โดยให้มีผลนับแต่วันลงนามในสัญญาจ้างฉบับใหม่

แต่นายโสภณไม่ได้นำร่างสัญญาจ้างฉบับนี้ไปดำเนินการให้เป็นผลทางปฏิบัติ แต่กลับใช้อำนาจให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำสัญญาจ้างฉบับเดิมมาให้ แล้วนายโสภณได้ทำการเปลี่ยนแปลงยอดเงินค่าตอบแทนที่อยู่ในเอกสารแผ่น 2 ของสัญญาเดิม โดยดึงเอกสารซึ่งมีค่าตอบแทนเดือนละ 8 หมื่นบาทออก แล้วนำเอกสารแผ่นใหม่ที่มีค่าตอบแทนเดือนละ 1.2 แสนบาทใส่เข้าไปแทน

ทั้งนี้ นายโสภณ ยังได้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งควบคุมการจ่ายเงินเดือนของพนักงานองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่า ให้เงินเดือนใหม่มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 16 มกราคม 2551 เป็นเหตุให้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย จ่ายเงินค่าตอบแทนแก่นายโสภณเกินกว่าข้อตกลงตามสัญญาจ้างฉบับจริง

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้ว เห็นว่า พฤติกรรมของนายโสภณ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงควรได้รับโทษไล่ออกจากราชการ อาศัยตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 20 ประกอบกับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 53 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการ ซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ. 2535


กำลังโหลดความคิดเห็น