ท่าทีและน้ำเสียงเงียบจัง ไม่คึกคักเหมือนช่วงพ่อฟ้าฟีเวอร์เลย พบสารพัดเพจดังที่มีแนวคิดออกไปในทางหนุน “ธนาธร” แทบจะไม่ค่อยพูดถึงกรณีคณะก้าวหน้าแพ้เลือกตั้ง อบจ.แบบแลนด์สไลด์ มีเพียงเพจของ “อาจารย์บอย” เพจตุ๊ดส์รีวิว บอก การเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนยาก โยงระบบบารมี อิทธิพล และอำนาจของแบรนด์ฝังรากลึก
วันนี้ (22 ธ.ค.) หลังจากที่การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. และ ส.อบจ. 42 จังหวัดทั่วประเทศ โดยได้เปิดใจว่า “คณะก้าวหน้า จะต้องชนะแบบแลนด์สไลด์ และเชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นส่งผลต่อการเมืองระดับชาติ” ปรากฏว่า วันเลือกตั้งจริงแพ้การเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด
จากการสำรวจสำนักข่าวและเพจอินฟลูเอนเซอร์ที่ชาวเน็ตเชื่อกันว่าเปิดพื้นที่และมีแนวคิดออกไปในทางสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะนายธนาธรแห่งคณะก้าวหน้า ไม่พบว่ามีการวิจารณ์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่คณะก้าวหน้าของนายธนาธรแพ้การเลือกตั้ง ไล่ตั้งแต่เฟซบุ๊กเพจ Suthichai Live ของ นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส หันไปให้ความสนใจกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร, บุกออฟฟิศ Bitkub สตาร์ทอัพไฟแรงวงการสินทรัพย์ดิจิทัล และวิเคราะห์กรณีที่ นางลัดดา แทมมี่ นักการเมืองอเมริกัน เชื้อสายไทย ชวดสองตำแหน่งใหญ่ในคณะรัฐมนตรีนายโจ ไบเดน แทน
ด้าน สำนักข่าวเดอะแมทเทอร์ (The MATTER) พบว่า ให้ความสนใจกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พร้อมกับยกบทเรียนของสิงคโปร์ รับมือการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ, รู้จัก COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในอังกฤษ นักวิทยาศาสตร์พบ ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงเท่าเดิม และประเด็นข่าวต่างประเทศ รวมทั้งกระแสโซเชียลฯ กรณี “หวัดดี เบล” และการใช้มาตรา 112 กับผู้ชุมนุม หลังนายกฯ ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม เป็นต้น ส่วนประเด็นเลือกตั้ง อบจ. พบว่ามีเพียงแค่สรุปข่าว กกต. แถลงเลือกตั้ง อบจ. พบมีเหตุร้องเรียน-ฉีกบัตร เท่านั้น
ส่วนเฟซบุ๊กเพจ “Poetry of Bitch” หรือ ลำนำเดอะบิทซ์ ซึ่งสรุปข่าวน่าสนใจไทย-ต่างประเทศ และมักเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พบว่ามีเพียงแค่ “อัปเดต 7 ประเด็นร้อน #เลือกตั้งท้องถิ่น 63” กรณีที่ นายอัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.พะเยา, ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย อดีตภรรยานายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ ชนะคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ แบบเหมายกจังหวัด, พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น. ชนะ นายชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายก อบจ.ปทุมธานี 3 สมัยได้สำเร็จ คนแห่ยินดีเต็มบ้าน
นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ที่ นายทักษิณ ชินวัตร ให้การสนับสนุน ชนะ นายบุญเลิศ บุรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ 2 สมัย, หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในพิษณุโลก มีคนมาลงคะแนนเพียง 1 คน เพราะชาวบ้านประท้วงไม่ยอมปรับปรุงถนนทางเข้าหมู่บ้าน และกรณี นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย โพสต์รูปที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยพูดว่าคณะก้าวหน้าจะชนะเลือกตั้ง อบจ.แบบแลนด์สไลด์ แล้วถามว่า “ได้กี่คะแนนครับ...เชียร์อยู่” หลังมีแนวโน้มว่าคณะก้าวหน้าอาจไม่ชนะเลือกตั้งเลย หรือชนะน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้มาก แต่ไม่ได้ระบุว่า คณะก้าวหน้าแพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้นายก อบจ.สักแห่งเดียว
ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ “Drama-addict” ของนายวิทวัส ศิริประชัย อดีตแพทย์และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง พบว่า ได้ให้ความสนใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ และกล่าวถึงเฟกนิวส์ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. ซึ่งเป็นภาพเก่าตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 และประเด็นการถอดถอนนายอนุทินออกจากรัฐมนตรี แต่ไม่พูดถึงกรณีที่คณะก้าวหน้าของนายธนาธร แพ้การเลือกตั้งนายก อบจ. เลย
ส่วนเฟซบุ๊ก “Branding by Boy” ของนายธนบัตร ชายด่าน หรือ อาจารย์บอย จากเพจ “ตุ๊ดส์review” ที่เคยขึ้นเวทีพรรคอนาคตใหม่ โพสต์บทความหัวข้อ การเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนยาก “ระบบบารมี อิทธิพล และอำนาจของแบรนด์ ฝังรากลึกจนไม่อาจเปลี่ยนแปลง” โดยอ้างมุมการตลาดกรณีที่คณะก้าวหน้าของนายธนาธรแพ้การเลือกตั้ง อบจ. ระบุว่า 1. พรรคก้าวไกล คือ แบรนด์ใหม่ที่เบียดพื้นที่คนท้องถิ่นหน้าเก่ายากเกินไป 2. ความผูกพัน และความภักดีมีมาอย่างยาวนาน 3. การเป็นแบรนด์หน้าใหม่ ทำให้คนรู้สึกไม่มั่นใจ 4. ระบบเครือญาติ หรือฐานอำนาจ 5. ภาพของการเมืองท้องถิ่น แตกต่างจากภาพของการเมืองในระดับประเทศ ที่นโยบายเป็นไปในระดับย่อย และไม่ใช่การนำเสนอภาพใหญ่
นายธนบัตร อ้างว่า การปรากฏตัวของนายธนาธรในการเลือกตั้งระดับประเทศครั้งก่อน มีความน่าสนใจ ในแง่ของความโดดเด่น คนรุ่นใหม่ไฟแรง และมีนโยบายที่น่าสนใจ แต่พอมาปีนี้ถูกดิสเครดิตผ่านคดีต่างๆ และเชื่อมโยงกับกระบวนการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอคติของคนในท้องถิ่นเคลือบแฝงอยู่ด้วย และการลงพื้นที่เพื่อต่อสู้ทางความคิดกับคนที่มีอคติ ไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับนโยบายท้องถิ่น มีคนท้องถิ่นสานต่อจากปีก่อนหน้าอยู่แล้ว เป็นคนละระดับกับปัญหาในระดับชาติ ที่การแก้ปัญหาเชิงนโยบายไม่ได้ต่อเนื่องกัน จึงกล่าวว่า การไม่ชนะเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ใช่ความผิดพลาดในการทำตลาดของพรรค แต่คนยังไม่ยอมเปลี่ยน เพราะปัจจัยที่ผูกติดยึดโยง เปลี่ยนการเมืองท้องถิ่น เปลี่ยนแปลงยากมาก