xs
xsm
sm
md
lg

สลด! พะยูนตรังตายอีกหนึ่ง หมอยันโดนพิษเงี่ยงปลากระเบน “วราวุธ” กำชับทุกฝ่ายทำงานหนักขึ้น เพิ่มจำนวนพะยูนตามเป้าเดิมให้ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์นี้ตนได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของพะยูนถึง 2 ตัว โดยเมื่อ 3-4 วันก่อน พะยูนเสียชีวิตพร้อมลูกในท้อง บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ระหว่างเกาะแหวน กับเกาะกระดาน สาเหตุคาดว่าถูกของมีคมกระแทกช่วงหลังอย่างแรง ล่าสุด วานนี้ (20 ธ.ค.) ได้รับรายงานการเสียชีวิตของพะยูนเพศผู้ บริเวณเกาะมุก จ.ตรัง แต่ครั้งนี้คาดว่า เกิดจากถูกเงี่ยงปลายหางปลากระเบน ซึ่งเป็นเหตุจากการต่อสู้ตามธรรมชาติของสัตว์ทะเล อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังรู้สึกกังวลกับจำนวนพะยูนที่ลดจำนวนลง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ซึ่งทุกฝ่ายคงต้องทำงานกันให้หนักขึ้น ละเอียดขึ้น และร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันการสูญเสียและลดจำนวนของพะยูน 

 


นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ตนได้สั่งการให้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กำกับการชันสูตรหาสาเหตุการตาย และหามาตรการในการเฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายในพื้นที่ให้เพิ่มขึ้น อีกทั้งเร่งดำเนินโครงการตามแผนพะยูนแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มจำนวนพะยูนให้ได้ตามเป้าหมายเดิมกำหนดไว้ จำนวน 280 ตัว ในปี 2565


ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า วันนี้ตนได้รับรายงานจาก ทช. เกี่ยวกับผลการชันสูตรโดยคณะสัตวแพทย์ของ ทช. และสัตวแพทย์หญิงปิยฉัตร บัวศรี สัตวแพทย์ประจำสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง พบว่า พะยูนตัวดังกล่าวเป็นพะยูนเพศผู้ ขนาดโตเต็มวัย น้ำหนักประมาณ 350 กก. สภาพซากเน่า คาดว่า จะเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 3 วัน ลักษณะภายนอกพบบาดแผลจากรอยเขี้ยวของพะยูนตัวอื่น ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมในฝูงของพะยูนตามธรรมชาติ และรอยบาดแผลถูกของมีคมขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร เมื่อเปิดผ่าชันสูตรพบว่าอวัยวะภายในเน่าสลาย ไม่สามารถระบุรอยโรคบ่งบอกสาเหตุความผิดปกติได้ ส่วนของทางเดินอาหารเต็มไปด้วยหญ้าทะเลอัดแน่นเต็มกระเพาะอาหาร และตลอดทั้งทางเดินอาหาร ไม่พบสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ผนังของกระเพาะอาหารเป็นแผลหลุมเล็กน้อย

“นอกจากนี้ ยังพบเงี่ยงปลายหางของปลากระเบน ขนาดความยาวประมาณ 11 เซนติเมตร ปักติดอยู่ภายในเนื้อเยื่อบริเวณกระดูกซี่โครงอกด้านซ้ายซี่ที่ 1 และ 2 ทางคณะแพทย์ผู้ชันสูตรจึงสรุปสาเหตุการเสียชีวิตได้ว่าเกิดจากเมือกพิษบริเวณเงี่ยงปลายหางกระเบนแทงทะลุเข้าบริเวณช่องอก ทำให้พะยูนเสียชีวิตโดยฉับพลัน”

นายจตุพร เผยอีกว่า ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. กำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ในการตรวจลาดตระเวนให้เข้มงวดขึ้น หากพบพะยูนที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยให้รีบประสานทีมสัตวแพทย์เพื่อลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือทันที เพื่อจะได้ลดการสูญเสียพะยูนในธรรมชาติ อีกทั้งให้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการลาดตระเวนและอนุรักษ์พะยูนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ต่อไป


ส่วนทาง นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า จากรายงานสถิติการเสียชีวิตของพะยูนปี 2562 มีทั้งหมด 23 ตัว และในปี 2563 จนถึงวันที่ 20 ธ.ค. 63 มีพะยูนเสียชีวิต 20 ตัว ปัจจุบันมีพะยูนในธรรมชาติเพียง 255 ตัว โดยที่ จ.ตรัง มีจำนวนพะยูนมากที่สุด จำนวน 185 ตัว อย่างไรก็ตาม ทช. อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบประกาศ ทส. เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่ อ.ปะเหลียน อ.หาดสำราญ อ.ย่านตาขาว อ.กันตัง และ อ.สิเกา จ.ตรัง เพื่อกำหนดเขตอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ซึ่งจะครอบคลุมถึงการลดและปล่อยมลสารลงในทะเล การจัดการการท่องเที่ยวเพื่อชมพะยูนและการกำหนดเส้นทางการนำเรือเข้าไปในแนวหญ้าทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแผนงานโครงการเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนพะยูนในประเทศไทยอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น