มีพระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในโลก ๒ องค์ สร้างด้วยวิธีแกะสลักลงในหน้าผาของภูเขาเหมือนกัน แต่สร้างต่างยุคสมัยกันมาก จึงสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ห่างกันราว ๑,๕๐๐ ปี
องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ของโลก คือพระพุทธรูปสลักที่หน้าผาหินในหุบเขาบามียาน บนเส้นทางสายไหมระหว่างจีน ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอาฟกานิสถาน และเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในย่านนั้นก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามา เป็นพระพุทธรูปยืน สูง ๕๕ เมตร คาดว่าสร้างโดยราชวงศ์ตุปตะ ของอินเดีย และถือว่าเป็นพระพุทธรูปแกะสลักฝาผนังใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อพระถังซำจั๋งเดินทางไปชมพูทวีปใน พ.ศ.๑๑๗๓ ผ่านมาทางนี้ ท่านเล่าว่าพระพุทธรูปองค์นี้เหลืองอร่ามไปด้วยทองคำและอัญมณี และมีพระอารามแห่งหนึ่งที่พระราชาแห่งแคว้นทรงสร้างขึ้น มีพระสงฆจำพรรษาอยู่ราว ๑,๐๐๐ องค์
แต่ทว่าน่าเสียดาย แม้ชาวมุสลิมจะรักษาศาสนสถานแห่งนี้ให้ผ่านสงครามที่เกิดขึ้นในย่านนี้มาหลายครั้งได้ก็ตาม แต่แล้วในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔พระพุทธรูปองค์นี้ก็ถูกวางระเบิดทลายลงพร้อมพระพุทธรูปที่อยู่ข้างๆ อีก ๒ องค์ อันเป็นข่าวสั่นสะเทือนไปทั้งโลก เพราะถือกันว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นสมบัติของโลก
มือวางระเบิดได้ยอมรับภายหลังว่า หัวหน้าตาลีบันได้สั่งให้เขาเป็นผู้ทำลาย ถ้าเขาไม่ทำก็จะถูกฆ่า เพราะก่อนหน้านั้นหัวหน้าตาลีบันผู้นี้ก็ฆ่าลูกชายตัวเอง ๒ คนที่ขัดคำสั่งเขามาแล้ว
ปัจจุบัน องค์การยูเนสโกได้นำชิ้นส่วนต่างๆ ที่ถูกระเบิด นำมาฟื้นฟูพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ให้กลับคืนมาอีกครั้ง และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ๒๕๔๖
ส่วนพระพุทธรูปบนหน้าผาใหญ่อีกองค์หนึ่ง ที่สร้างในยุคใหม่ห่างจากองค์ก่อนราว ๑,๕๐๐ ปี ก็คือพระพุทธรูปที่แกะสลักบนหน้าผาเขาชีจรรย์ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทางเข้าวัดญาณสังวรราม ที่ถูกระเบิดหินไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้างจนเป็นหน้าผาเรียบ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ทรงมีพระดำริจะรักษาเขาชีจรรย์ไว้ให้เคียงคู่กับเขาชีโอนซึ่งอยู่ในเขตพุทธาวาสของวัดญาณสังวรารามวรวิหาร จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ ๙ ขึ้นจากภูเขานี้ ในโอกาสที่ทรงครองราชย์เป็นปีที่ ๕๐ แต่เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายแบบขึ้นไป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานพระราชวินิจฉัยว่า สร้างแบบนั้นไม่เหมาะ เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูน นานวันพระพุทธรูปจะสึกกร่อน ทรงแนะนำให้สร้างเป็นลายเส้นจะดีกว่า ให้เป็นเส้นลึกเห็นได้ชัดแต่ไกล ซึ่งจะมีค่าก่อสร้างไม่มากและตัดปัญหาเรื่องการบำรุงรักษา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายของกรมศิลปากรที่เคยสร้างพระพุทธรูปมามากแต่ก็ไม่เคยสร้างพระพุทธรูปแบบนี้มาก่อน ทั้งยังไม่มีที่ไหนในโลกทำไว้ให้เป็นตัวอย่าง อาจารย์กนก บุญโพธิ์แก้ว หัวหน้ากองหัตถศิลป์ จึงร่างแบบเป็นลายเส้นไว้ก่อน
ในที่สุด ก็มีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เข้ามาร่วมคณะกับกรมศิลปากร ตกลงใช้เลเซอร์ระเบิดหินเป็นร่องลึกตามแนวเส้นโครงร่างพระพุทธรูป ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการสร้างพระพุทธรูป แต่ต้องทำเมื่อพระอาทิตย์ตกแล้วอาศัยความมืดยิงเลเซอร์ โดยมีทีมงานส่วนหนึ่งโหนตัวอยู่บนหน้าผา คอยทาสีขาวทับร่องหินตามแสงเรเซอร์ แล้วตกแต่งกันอีกครั้งในตอนกลางวัน
ด้วยเทคโนโลยีนี้ หน้าผาเขาชีจรรย์จึงถูกแกะสลักเป็นเส้นลงบนหินด้วยแสงเลเซอร์ เป็นร่องกว้าง ๓๐-๔๐ ซม. ลึก ๑๐ ซม. แล้วบุด้วยโมเสกทองคำ ซึ่งทำมาจากแผ่นทองบางๆ ทับด้วยแก้ว เป็นความยาวรวมของเส้นที่เป็นองค์พระและฐานดอกบัวถึง ๑๒ กิโลเมตร สำเร็จภายในเวลา ๑ ปี เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย เลียนแบบพระพุทธนวราชบพิตร ศิลปะสุโขทัยผสมล้านนา ขนาดความสูง ๑๐๙ เมตร หน้าตักกว้าง ๗๐ เมตร ฐานบัวหรือบัวบัลลังก์สูง ๒๑ เมตร รวมความสูงขององค์พระและบัลลังก์ทั้งสิ้น ๑๓๐ เมตร
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระกรัณฑ์ไม้จันทน์ทอง เงิน นาค ตามลำดับ พร้อมทั้งทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระกรัณฑ์ศิลา ประดิษฐานบนพระอุระพระพุทธรูป และพระราชทานนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” มีความหมายว่า "พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดา ที่รุ่งเรือง สว่าง ประเสริฐสุดเพียงมหาวชิร" นับเป็นพระพุทธรูปแกะสลักในลักษณะพระพุทธฉายใหญ่ที่สุดในโลก
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเป็นองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการ และเสด็จไปทรงตรวจตราการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้อย่างใกล้ชิด ทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเริ่มการก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๓๘ และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้แทนพระองค์ทรงรับพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๔ ด้วย