“นพ.ธีระวัฒน์” ชี้ไทยยังไม่เข้าข่ายโควิด-19 ระบาดรอบ 2 มั่นใจเอาอยู่ เจอมาหมดแล้วทุกสายพันธุ์ ขอเพียงมีวินัยการ์ดอย่าตก ยันไม่ต้องล็อกดาวน์เชียงราย รอบนี้ต้องไม่ใช้ความกลัวนำ ห่วงวัคซีนมีผลข้างเคียง ไทยไม่จำเป็นต้องรีบ รอดูประเทศอื่นก่อน ส่วนวัคซีนใบยาของไทย เตรียมแถลงข่าวใหญ่ 14 ธ.ค. นี้
วันที่ 9 ธ.ค. 2563 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน”
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ถ้ามีการติดเชื้อในประเทศ โดยไม่สามารถสืบสาวได้ว่าติดมาจากไหน ถึงจะขึ้นธงแดงว่าอาจเป็นการระบาดระลอกที่ 2 ซึ่งตอนนี้ยังไม่ปรากฏอย่างนั้น ฉะนั้น เราไม่ควรตื่นตระหนกหรือกลัวเกินเหตุจนไม่ยอมไปเที่ยว
ส่วนคำถามที่ว่าเป็นไปได้ไหมว่ามีผู้ติดโควิด-19 ในเชียงรายมากกว่าตัวเลขที่รับรู้ เป็นไปได้แน่นอน แต่สิ่งที่คนไทยต้องทราบ ที่ผ่านมา มีการติดเชื้อเนิบๆ มาตลอด บางพื้นที่มีการติดเชื้อที่แพร่มาจากคนละหมู่บ้าน แพร่มาเงียบๆ แต่ไม่แสดงอาการ เป็นที่น่าสังเกตบางพื้นที่ พบว่าคนที่สมควรที่น่าจะติดอย่างยิ่ง อย่างคนในครอบครัวเดียวกันกลับไม่ติด
แล้วยังพบด้วยว่ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นจากการเจาะเลือดตรวจ แต่ไม่แสดงอาการป่วย นั่นแสดงว่า คนไทยเองบางพื้นที่ เกิดจากการเคยติดเชื้อไวรัสหน้าตาคล้ายโควิดมาก่อน จึงมีภูมิคุ้มกันในตัว พอเจอหน่วยความจำตรงนั้นเลยลุกขึ้นมาต่อสู้
แต่การที่เรื่องแดงขึ้น ประเทศไทยเราเอาอยู่แน่ เพราะทุกพื้นที่ตื่นตัวกัน เราจะรอดหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ทางการ หรือลักษณะเชื้อโรค แต่ขึ้นกับว่าเราต้องมีวินัย 2 เดือนที่ผ่านมานี้คนไทยการ์ดตกมาก เห็นได้จากมีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจจำนวนมาก สามารถเป็นดัชนี้ชี้วัดว่าเราขี้เกียจใส่หน้ากากอนามัยหรือเปล่า
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีข่าวว่าเชื้อพม่า สายพันธุ์ G ดุร้ายกว่าปกติ จากการศึกษาของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ เรามีทุกสายพันธุ์แล้ว เราเอาอยู่ตั้งแต่ มี.ค.- พ.ค. จริงๆ แล้วไม่อยากให้ดูแรงไม่แรงจากตัวอักษร เพราะมาจากการตั้งสมมติฐาน จะสรุปได้ต้องมีหลักฐานเยอะกว่านี้
เราไม่ต้องล็อกดาวน์เชียงราย เพราะถ้าล็อกดาวน์ก็ต้องลามไปอีก 6-7 จังหวัด ไม่มีความจำเป็น ตอนแรกเราตื่นตระหนกปิดจังหวัด แต่ตอนนี้เราไม่ใช้ความกลัวนำ แต่ใช้หลักฐานนำ
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงวัคซีนว่า วัคซีนทุกชนิดผลิตผลที่ได้ ต้องการให้ได้โปรตีน ซึ่งโปรตีนตรงนี้เป็นลักษณะจำลองของไวรัส ซึ่งเป็นตัวที่สามารถไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันนี้ควรมีทั้ง 3 โหมดด้วยกัน คือ 1. ภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง 2. เซลล์ 3. สามารถจารึกในโหมดของความทรงจำได้ แม้ว่า 2 โหมดแรกเลือนหายไปแล้ว แต่เมื่อติดเชื้อมาใหม่ ก็มีการกระตุ้นขึ้นมาทันที ทีนี้เวลาจะเอาวัคซีนมาให้มนุษย์ ก็อาจเป็นในรูปโปรตีนสำเร็จรูป ยกตัวอย่างเช่น โปรตีนของวัคซีนใบยา ซึ่งจะมีการแถลงข่าวใหญ่วันที่ 14 ธ.ค. นี้ อันนี้เป็นของไทยตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
วัคซีนอีกประเภทเรียกว่า mRNA อย่างที่อังกฤษเริ่มใช้ตอนนี้ เหมือนรหัสพันธุกรรมก่อนหน้าที่จะมาสร้างเป็นโปรตีน หรือบางชนิดแทนที่จะฉีดโดยตรงเข้าเซลล์มนุษย์ แล้วให้มนุษย์สร้างตามคำสั่ง วัคซีนบางชนิด เช่น ของอ็อกซ์ฟอร์ด แอสตราเซเนกา จะฝากเข้าไปกับไวรัสที่มีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยแทรกตัวพันธุกรรมของโควิด-19 ไปกับไวรัสนั้นๆ โดยพบว่าประสิทธิภาพขั้นต้น 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน ก็พบว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 คน ผลแทรกซ้อนค่อนข้างรุนแรง คนนึงไขสันหลังอักเสบ ขาอ่อนแรง 2 ข้าง อีกคนไข้สูง 40 องศา แต่ก็ดีขึ้น ดังนั้น คิดว่าเรารอให้เขาใช้ไปก่อนก็ไม่เลว
และสิ่งที่เราอยากรู้อีก โควิด-19 ฉลาดมาก มันคอยเปลี่ยนหน้าตา จะได้รู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป วัคซีนยังสามารถปกป้องไวรัสที่เพี้ยนไปได้ไหม และต้องระวังคนที่เคยติดแล้ว สามารถติดใหม่ได้ในระยะเวลาห่างกันแค่ 6 สัปดาห์ แล้วครั้งที่ 2 รุนแรงกว่าครั้งแรก เป็นอุทาหรณ์ว่าแม้ฉีดไปแล้ว หากเจอเชื้อตัวที่หน้าตาเปลี่ยนไป ไม่เหมือนที่วัคซีนสร้างแบบขึ้นมา ก็อาจไม่ได้ผล และที่กลัวอีกว่าภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนนั้นอาจไปแปรพักตร์เข้าพวกกับโควิด ตรงนั้นคนที่ฉีดไปอาจอาการหนักกว่าคนไม่ฉีด
ยุโรป สหรัฐฯ ติดเชื้อจำนวนมาก เขาไม่มีทางเลือก แต่ไทยมีทางเลือก ฉะนั้น ใจเย็นไว้นิด รอดูชาวบ้านชาวโลกก่อน แล้วจะได้เลือกใช้ของอะไร