xs
xsm
sm
md
lg

“พระราชินี” ทรงเยี่ยมราษฎร มีพระราชเสาวนีย์ให้โครงการหลวงปลูก “ดอกเอเดลไวส์” สนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 เวลา 19.50 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ทรงเยี่ยมราษฎรชาวจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงที่มารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จและชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด โอกาสนี้ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองแพทย์หลวง ร่วมกับกรมการแพทย์ทหารบก สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลในพื้นที่ มาออกหน่วยตรวจรักษาโรค ให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในพื้นจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ปกครองบัณฑิต ได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว

โดยในวันนี้ได้นำเครื่องมือพิเศษที่เป็นเครื่องมือเฉพาะทางซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการตรวจรักษาประชาชน เช่น เครื่องตรวจจอประสาทตา เครื่องตรวจการทำงานของหัวใจ เครื่องอัลตราซาวด์, รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยเครื่องมือดังกล่าวสามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ โดยมีแพทย์เฉพาะทางมาให้บริการตรวจรักษาประชาชน เช่น อายุรแพทย์โรคหัวใจ อายุรแพทย์โรคไต จักษุแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ กระดูกและข้อ

ในการนี้ ทรงรับผู้ป่วยจำนวน 6 ราย ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว 2 ราย โรคเนื้องอกในสมอง กระดูกข้อสะโพกซ้ายหัก ผู้ป่วยงูเห่ากัดตอนอายุ 2 ขวบ ส่งผลให้เป็นพังผืดที่แขนซ้ายกระดิกนิ้วมือไม่ได้ ทำให้แขนงอใช้การไม่ได้ และโรคทางพันธุกรรม ทำให้เซลล์ในร่างกายเจริญผิดปกติ มีอาการชักเกร็งตลอดเวลา

พร้อมกันนี้ทรงรับฟังการถวายรายงานมาตราการการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19

จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการผลสำเร็จของโครงการโครงการหลวง จากพระราชประสงค์รัชกาลที่ ๙ สู่การสืบสานตามพระราชปณิธานรัชกาลที่ ๑๐ โดยเน้นวิธีการวิธีการขับเคลื่อนไปสู่ผลสำเร็จของโครงการหลวง ทรงเน้นหลักการทรงงาน 3 ประการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

การนี้ระหว่างที่ทอดพระเนตรนิทรรศการมูลนิธิโครงการหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสนพระทัยงานวิจัยที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะการเพาะพันธุ์ดอกไม้เมืองหนาวอย่างดอกเอเดลไวส์ อันเป็นพืชต่างถิ่นที่มีถิ่นกำเนิดและเจริญเติบโตได้ดีในแถบยุโรป บริเวณเทือกเขาแอลป์ ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,500-3,000 เมตร โดยได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ให้แก่มูลนิธิโครงการหลวงเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2562 เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนาร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพืช ซึ่งฝ่ายงานวิจัยและพัฒนาได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงเนื้อยื่อ และพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเดิบโตในสภาพปลอดเชื้อเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณต้น และเก็บรักษาพันธุ์ เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตแข็งแรงและมีระบบรากที่สบูรณ์ จึงนำออกปลูกและอนุบาลในโรงเรือนสภาพปิด ป้องกันแมลง จากนั้นนำต้นกล้าไปทดสอบปลูกเลี้ยงในพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และสถานีวิจัยพบว่า ต้นเอเดลไวส์สามารถจริญเติบโตและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระราชเสาวนีย์ชื่นชมเจ้าหน้าที่โครงการหลวงที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธ์ุ ในอนาคตข้างหน้าคนไทยไม่ต้องไปชื่นชมดอกไม้พันธุ์นี้ไกลถึงยุโรป แค่มาที่โครงการหลวงก็สามารถชื่นชมความงดงามของดอกเอเดลไวส์ได้แล้ว

ต่อมาทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์จากโครงการตามพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระราชดำริเริ่มโครงการเพื่อสร้างอาชีพให้แก่ราษฎรสามารถเลี้ยงอาชีพได้อย่างยั่งยืนพร้อมไปกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยและทรัพยากรธรรมชาติ อเช่น งานแกะสลักไม้ ผลิตภัณฑ์เซรามิก การสาธิตปักลูกเดือยบนเสื้ออันเป็นอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง งานทอกี่กระตุก ผ้าปักชาวเขาเผาต่างๆ กระเป๋า ฯลฯ

ทรงเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานจากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ได้น้อมนำพระบรมราโชบายมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยการจัดการเรียนการสอนและงานวิจัยเข้ากับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และรักษาความเป็นอัตลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่จากรุ่นสู่รุ่น

ต่อมาทรงเยี่ยมชมและทอดพระเนตรโครงการจัดแสดงและจำหน่ายภูมิปัญญา OTOP เชิงบูรณาการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” โดยกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้มีการสาธิตการทอกี่เอวผ้าปักชนเผ่าม้ง จ.เชียงใหม่ อันเป็นการทอผ้าของชนเผ่าชาวกะเหรี่ยง เป็นการทอแบบวิถีดั้งเดิม เรียกว่าทอแบบกี่เอว หรือการทอแบบห้างหลัง โดยใช้อุปกรณ์เครื่องทอขนาดเล็กเรียกว่า “กี่เอว” การสาธิตเพนต์ร่มกลุ่มร่มหลวงลุงวงศ์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งร่มเป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาของชาวเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยโบราณและสืบทอดกันมายาวนานจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อก่อนนี้ภูมิปัญญาชาวบ้านทำแต่ร่มกระดาษสา แต่ต่อมาได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนมาเป็นร่มผ้าหลายๆ รูปแบบ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ทั้งจาก 17 จังหวัดภาคเหนือกว่า 30 ร้าน ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มผ้าไหม ผ้าชนเผ่า ผ้าชาวเขา ผ้ามัดย้อม ผ้าซิ่นตีนจก การแกะสลัก การตีลายแผ่นแร่ เครื่องประดับเงินสลุงหลวง เป็นต้น โอกาสนี้ทรงอักษรพระนาม “สุทิดา” ลงบนแก้วกาแฟศิลาดล เครื่องดินเผาเขียวหยกมรดกแห่งล้านนา หนึ่งในผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ช่วยกันรักษาสืบสานศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย
















กำลังโหลดความคิดเห็น