มาดูความเงิบของ “รุ้ง ปนัสยา” แกนนำม็อบคณะราษฎร 2563 ไปออกรายการจอมขวัญ เจอ อ.อานนท์ จากนิด้า ขยี้เต็มๆ ปม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561 และหุ้น SCB
วันนี้ (27 พ.ย.) รายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ดำเนินรายการโดย น.ส.จอมขวัญ หลาวเพ็ชร ในหัวข้อ 2 มุมมอง ต่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561 โดยได้เชิญ ศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิทย์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หนึ่งในภาคีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 และเป็น 1 ใน 100 ผู้หญิงที่เป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลง จากบีบีซี ประเทศอังกฤษ
ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทรัพย์สินรัฐบาล หรือทรัพย์สินราษฎร เพราะตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา เปรียบเทียบกับการเล่นหุ้นแล้วไปจ้างผู้จัดการกองทุน เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะไปทำบลายด์ทรัสต์ (blind trust) หรือการทำให้ตนเองไม่เข้าไปมีส่วนยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สิน ก็ไปจ้างใครสักคนเป็นผู้จัดการกองทุน นายธนาธร เข้าไปยุ่งในการบริหารกองทุนไม่ได้แล้ว แต่ยังได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่องมาตลอด เรียกว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์ (beneficiary) ในขณะที่ผู้จัดการกองทุนก็บริหารไป ในช่วงนั้นอาจจะห้ามเจ้าของลงไปบริหาร แต่พอหมดสัญญาหรือเปลี่ยนสัญญา คนที่ยังเป็นเจ้าของและมีอำนาจในการบริหาร ก็คือ คนที่ได้รับผลประโยชน์มาตลอด ผู้จัดการกองทุนอาจจะโกงไปบ้าง ปล้นไปบ้าง หาเศษหาเลยไปบ้าง ทุจริตไปบ้าง เป็นของที่มีมาในประวัติศาสตร์
แบบเดียวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็เป็นเช่นนั้น เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้ดอกผล ใช้กำไรทั้งหมดของทรัพย์สินได้ตั้งแต่ปี 2479, 2481 และ 2491 แต่สามช่วงนั้นผู้จัดการกองทุนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยปี 2479 ผู้จัดการกองทุนเป็นของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับ รมว.คลัง, ปี 2481 รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการ (บอร์ด) มาถึงปี 2491 ยุครัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เริ่มตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ก็ยังกำหนดให้ประธานบอร์ดทรัพย์สินฯ เป็น รมว.คลัง อยู่ เปรียบได้กับกระทรวงการคลังในฐานะประธานบอร์ดเป็นผู้จัดการกองทุน แต่ดอกผลทั้งหมดก็ยังเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน
เพราะฉะนั้นดอกผลทั้งหมดคือเจ้าของตัวจริง และเจ้าของตัวจริงก็มีสิทธิ์ที่จะเลิก หรือไล่ผู้จัดการกองทุนออกไปเมื่อไหรก็ได้ถ้าหมดสัญญาหรือไม่พอใจ เป็นหลักของกฎหมายว่าด้วยการถือครองทรัพย์สินโดยปกติ ไม่ใช่กฎหมายปกครองด้วยซ้ำ พูดถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยทั่วไป เป็นหลักสากลทั่วโลก เพราะฉะนั้นความเป็นเจ้าของ (Ownership) ยังตกอยู่ที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ ผู้จัดการกองทุนไม่มีสิทธิมาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นหลักการทั่วไปในการถือครองทรัพย์สิน และเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการถือครองทรัพย์สิน ถ้าไม่ได้ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ที่จะต้องเอาทรัพย์สินทุกอย่างมาแบ่งปันกันให้หมด เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้
น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า หนึ่งในข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สิ่งที่เรียกร้องคือการแบ่งทรัพย์สินอย่างชัดเจน ระหว่างทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่ใช้ในชีวิตปกติ กับทรัพย์สินส่วนที่ใช้ในสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ไม่ใช่ส่วนของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว เป็นส่วนที่ใช้ในการทำโครงการต่างๆ ของพระองค์ ไม่ใช่เรียกร้องว่าให้เงินตรงนี้มาแบ่งกัน ตนก็ไม่รู้มายังไง คือไม่ใช่แบบนั้น แต่เรากำลังเรียกร้องให้แบ่งส่วนอย่างชัดเจน เพื่อตรวจสอบได้ และมีความโปร่งใส
เมื่อถามว่าข้อเรียกร้องต้องการกลับไปก่อนปี 2560 น.ส.ปนัสยา อธิบายว่า ตรงนี้ให้มองว่าเป็นเรื่องใหม่ การเปรียบเทียบกันมีปัจจัยบางอย่างไม่เหมือนกัน ให้เรามองว่าเป็นเรื่องใหม่ในการจะแบ่งทรัพย์สินตรงนี้ เพราะ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561 คือ การรวมเงินและทรัพยากรไว้ที่พระองค์ฝ่ายเดียว ซึ่งไม่ใช่ทั้งสถาบัน เป็นอะไรที่จะตรวจสอบไม่ได้ และผลประโยชน์ของสถาบันจะหายไปด้วย เมื่อเงินมาไว้ที่พระองค์ฝ่ายเดียว ในอนาคตถ้าเกิดอะไรขึ้นมา รัชกาลต่อไปขึ้นครองราชย์ ส่วนที่ถือครองตรงนี้จะโอนย้ายไปอย่างไร
ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า หลักการเจ้าของทรัพย์สินนั้นของใคร ย่อมชอบธรรมที่จะกลับไปเป็นของเจ้าของเดิมนั้น และมีอำนาจจัดการ เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2475 ส่วนปี 2561 เป็นการทำให้อำนาจในการจัดการกลับไปสู่เจ้าของ และการถือครองกรรมสิทธิ์กลับไปสู่เจ้าของแค่นั้น ในปี 2560 แก้คำจาก “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เป็น “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงจะมองว่าใช้คำฟุ่มเฟือย ไม่ต้องไปเติมส่วนเติมฝ่าย ใช้คำไทยให้สั้นลง รัดกุม ส่วนที่สองคือ เดิมมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ เดิมอยู่ในวังสระปทุม และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พอมาถึงรัชกาลที่ 10 ผู้บริหารสำนักทรัพย์สินส่วนพระองค์ และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ คือ ชุดเดียวกันทั้งหมด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รวมผู้จัดการให้เป็นคนเดียวกัน และในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ก็ยังแยกทรัพย์สินในพระองค์ กับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน ไม่ใช่การเอาทรัพย์สินมารวมกัน ตามที่ น.ส.ปนัสยา เข้าใจผิดแล้วไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจผิด และที่บอกว่าตรวจสอบได้หรือไม่นั้น สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ต้องมีการทำรายงานประจำปี มีผู้ตรวจสอบบัญชี และมีการเผยแพร่รายงานทางการเงิน ซึ่งเข้าไปดาวน์โหลดดูได้
“และเมื่อทรงมีพระราชอำนาจเต็มในการจัดการ ยิ่งชัดเจนว่า พระองค์ทรงแจงการบริจาคที่ดิน ทรัพย์สิน และพระราชทานรวมแล้วหลายแสนล้านบาท ให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถือที่ดินแค่ 40,000 กว่าไร่ ประเทศไทยมีที่ดินเยอะมาก ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือที่ดินแค่ 0.01% ในขณะที่เจ้าสัวใหญ่ๆ ถือที่ดินอาจจะ 10-20% ของประเทศ ไม่ได้เป็นคนที่ถือครองที่ดินอะไรเยอะแยะมากมาย” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว
เมื่อถามว่า ประเด็นการชุมนุมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สำนักงานใหญ่ เมื่อผู้ถือหุ้นเป็นพระนามของรัชกาลที่ 10 แทนที่จะเป็นเมื่อก่อน ที่มีพระนามและสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จะอธิบายอย่างไร ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักมีเรื่องเดียว คือ ต้องการจ่ายภาษี เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้รับการยกเว้นภาษีมาตั้งแต่ปี 2479 พระองค์มองว่า ควรจะต้องเท่าเทียมกับราษฎร จึงมีพระราชประสงค์เสียภาษีรายได้ให้กับประเทศชาติเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นถ้าถือครองเอง จัดการเอง และเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งเยอะมาก ทำให้ภาษีตกประเทศชาติ แม้จะมีคนคำนวณว่าจำนวนมาก แต่พระองค์ยินดีเสียพระราชทรัพย์ทั้งหมด เพื่อให้เสียภาษีได้ถูกต้อง 100% และครบทุกบาททุกสตางค์
เมื่อถาม น.ส.ปนัสยา ถึงประเด็นการชุมนุมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือครองหุ้น SCB จำนวน 25% ของมูลค่าหลักทรัพย์ การเคลื่อนไหวดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่า จำนวนทรัพย์สินที่พระมหากษัตริย์ถือครองอยู่มากเกินความจำเป็นหรือไม่ ไม่ได้มีปัญหาว่าจะถือหุ้นหรือไม่ แต่พยายามชูประเด็นว่า งบประมาณส่วนตัวของพระมหากษัตริย์มากเกินความจำเป็นหรือไม่ ในเมื่อประเทศไทยยังมีคนต้องอดอยากอยู่ ยังต้องหาเช้ากินค่ำ
เมื่อถาม ผศ.ดร.อานนท์ ว่า เมื่อหุ้น SCB อยู่ในพระนามของพระองค์ ไม่ได้น่าเป็นห่วงเรื่องการตั้งคำถามเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องการแข่งขัน มีได้ มีเสียทางเศรษฐกิจ หรือการประชุมผู้ถือหุ้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า ก็ไม่มีอะไรต่าง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ก็ลงทุนมาอย่างนี้ตลอด สยามกัมมาจล หรือ บุคคลัภย์ (Book Club) เกิดขึ้นเพราะต้องการสู้กับธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ และระบบโพยก๊วน ซึ่งเป็นการเอาการเงินของประเทศทั้งหมดไปไว้ในมือต่างชาติ
กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เล็งเห็นว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ เพราะให้ธนาคารอยู่ในมือต่างชาติทั้งหมดไม่ได้ และการกินดอกเบี้ยโดยต่างชาติทั้งหมด ทำให้ระบบเศรษฐกิจอ่อนแอ เป็นที่มาของธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่ใช่ว่าจะมาเอาเปรียบ แต่เป็นการสร้างรากฐานพัฒนาประเทศ ทำธนาคารให้เข้มแข็ง กระทั่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทรงต้องตัดสินพระทัยลาออกจากราชการมาเป็นกรรมการบุคคลัภย์กับสยามกัมมาจล เพื่อทำให้กิจการของประเทศเป็นกิจการสำคัญ และเป็นกิจการที่วางรากฐานการพัฒนาประเทศ
“ถ้าคุณกังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม หรือคิดว่าจะมีอภิสิทธิ์อะไร ธนาคาร กิจการพวกนี้ก็มีระบบธรรมาภิบาลที่ดีพอสมควร แล้วถ้าจะเล่นเรื่องนี้จริง มันมีประเด็นอีกเยอะ เช่น การควบรวมกิจการค้าปลีก ซึ่งเป็นเรื่องขัดต่อ พ.ร.บ.ป้องกันการผูกขาดทางการค้า ทำไมไม่ไปเล่นเรื่องอื่น เศรษฐีไทยที่ถือครอง โทษนะครับ 25% ของมูลค่าธนาคารไทยพาณิชย์ 3 แสนล้านบาท พระเจ้าอยู่หัวท่านบริจาค พระราชทานที่ดินไปหลายแสนล้าน เกินกว่ามูลค่าหุ้นที่ทรงถือครองในธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยซ้ำ ความเหลื่อมล้ำตรงนี้มันมาจากอย่างอื่น และความได้เปรียบ เช่น การผูกขาดในสังคมไทยมีอีกเยอะ
กิจการธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ใช่กิจการผูกขาด กรณีของปูนซิเมนต์ไทยยิ่งชัด ปตท. ทำเรื่องปิโตรเคมีในยุคนั้น แล้วก็มีทีพีไอ ถ้าไม่มีปูนซิเมนต์ไทยเข้าไปลงทุนในเรื่องปิโตรเคมี ป่านนี้ก็จะผูกขาดโดย ปตท.คนเดียวแล้ว ทีพีไอตอนนี้ก็ย่ำแย่ลง มีกิจการปิโตรเคมีของปูนซิเมนต์ไทยที่เป็นคู่แข่ง ไม่เกิดการผูกขาด นี่คือ หน้าที่ของเครือซิเมนต์ไทยด้วยซ้ำที่ป้องกันการผูกขาด ในขณะที่ตลาดค้าปลีกตอนนี้ กำลังซื้อกิจการกันแล้วจะผูกขาดเกินมากกว่า 60-70% ทำไมน้องไม่ไปดูของที่มันเป็นเรื่องจริงอย่างนั้นบ้าง” ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว
เมื่อถามว่า ความหมายของอาจารย์ถ้าจะพูดถึงในแง่ของความเหลื่อมล้ำ ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า การแข่งขัน ความได้เปรียบ การผูกขาด ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ใช่เลย เพราะประเทศไทยมีธนาคารกว่า 20 แห่ง และถึงแม้ว่าจะอันดับหนึ่ง ส่วนแบ่งการตลาดก็ไม่ได้เกิน 20-30% เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจ พ.ร.บ.ป้องกันการผูกขาดทางการค้า มันจบแล้ว
เมื่อถาม น.ส.ปนัสยา ว่า ประเด็นที่ ผศ.ดร.อานนท์ พยายามจะพูด กับสิ่งที่ น.ส.ปนัสยา พยายามจะสื่อในเวทีชุมนุม คือ มุมเดียวกันหรือไม่ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า จริงๆ ตนคิดว่าน่าจะคนละมุม อาจารย์พูดเปรียบเทียบกับผู้จัดการกองทุน แต่สิ่งที่ตนมอง พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นข้อกฎหมาย แต่ผู้จัดการก็เป็นเรื่องหนึ่ง ข้อกฎหมายจะเป็นสิทธิให้อยู่อย่างนั้นตลอดไป พวกเรามีคำถามต่อเรื่องนี้ว่า การที่พอทรัพย์สินเป็นการรวบรวมทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ ให้เข้าเป็นทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ ไม่แยกกันโดยชัดเจนจะเกิดปัญหาอย่างที่เราพูดเรื่อง SCB
ผศ.ดร.อานนท์ ตอบ น.ส.ปนัสยา ว่า SCB ตาม พ.ร.บ.ปี 2491 ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ ควรแยกให้ออกคนละส่วน
น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า ผู้ถือหุ้น SCB ตอนนี้ชื่อพระนามของรัชกาลที่ 10 จากตอนแรกเป็นชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งคำถามว่าจะส่งผลต่อความโปร่งใสของทรัพย์สินตรงนี้หรือไม่ เพราะพอเป็นพระนามรัชกาลที่ 10 ไม่มีใครกล้าที่จะไปตรวจสอบ ก็ต้องยอมรับ เพราะในสังคมเรามีบรรทัดฐานแบบนี้อยู่
ถึงตอนนั้น ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นนิติบุคคล ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ทำบัญชีที่ต้องลงนามงบการเงินรับรอง มีการออกรายงานการเงินประจำปีทุกปี ก็ต้องมีงบดุล งบกำไร ขาดทุน เอกสารเหล่านี้เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้หมดทุกอย่าง เหมือนบริษัทจดทะเบียนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์
เมื่อถามว่า เมื่อผู้ถือหุ้นเป็นพระนามรัชกาลที่ 10 ประเด็นการประชุมผู้ถือหุ้น ลักษณะของการตัดสินใจรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่อ SCB จะเป็นอย่างไร และจะกลายเป็นว่าดึงพระองค์ลงมามีความเสี่ยงในมิติต่างๆ ทำให้สถานะของพระองค์มีสถานะที่ต่างไปจากก่อนหน้านี้ คือ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า เป็นแบบเดียวกัน หลักการเดียวกันว่า พระเจ้าอยู่หัวเป็นเจ้าของพระราชทรัพย์ แต่ผู้จัดการกองทุน คือ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตามหลักประชาธิปไตย The King can do no wrong, Constitutional monarchy ก็ไม่ได้ประชุมผู้ถือหุ้นเอง แต่คนที่ไปจัดการแทนพระองค์ คือผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือผู้แทน
เมื่อถามว่า ซึ่งพระองค์เป็นผู้เลือก ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า พระองค์เป็นผู้เลือก แต่ก็เป็นหลักการเลือกตัวแทนทั่วไป ถ้าอย่างนั้นพระเจ้าแผ่นดินจะถือพระราชทรัพย์อะไรไม่ได้เลยก็ไม่ใช่ เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการถือครองทรัพย์สิน ถามว่าตรวจสอบได้ไหม ก็ตรวจสอบได้ ลงไปเจ้ากี้เจ้าการอะไรเองไหม ก็เปล่า ท่านก็ตั้งผู้แทน ไม่อย่างนั้นทุกอย่างที่บริหารในแผ่นดินนี้ จะตั้งนายกรัฐมนตรี จะเลือกตั้ง ส.ส. จะลงพระนามาภิไธยในกฎหมาย ก็กลายเป็นพระเจ้าแผ่นดินยุ่งทุกอย่าง ซึ่งไม่ใช่ เพราะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีผู้แทนพระองค์ไปจัดการอยู่ นี่คือ หลักการของ The King can do no wrong, Constitutional monarchy ทุกประการ
เมื่อถามว่า เมื่อเปรียบเทียบแบบนี้กำลังจะบอกว่า ผู้แทนพระองค์ ณ ตอนนี้ เป็นเหมือนชื่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่ส่งขึ้นไป เทียบกันว่าเหมือนกันเลยหรือไม่ ผศ.ดร.อานนท์ อธิบายว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของ ทรงใช้อำนาจทั้งสาม ผ่านสามสถาบัน โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หลักแบบเดียวกันว่าทรงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้ทรงเข้าไปมีอำนาจอะไรในการจัดการ ก็มีคนอื่นจัดการ
น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า แล้วถ้าเช่นนั้นในเมื่อพูดถึง The King can do no wrong ในเมื่อเอาพระนามของพระองค์มาไว้เป็นชื่อผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาอะไร ก็แปลว่าสามารถจัดการตามกฎหมายทั่วไป พูดอย่างนี้ได้ใช่ไหม ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า แปลความว่าอย่างไร น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า ปกติถ้าพูดถึง The King can do no wrong แปลว่ามันต้องมีคนทำให้ ซึ่งต้องมีผู้แทนพระองค์ทำให้เพื่อที่จะรักษาพระมหากษัตริย์ไว้ไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่ในเมื่อพระองค์ลงมาตรงนี้เอง ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า ท่านไม่ได้ลงมาเอง น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า มองว่าการจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องมีผู้แทนที่มาทำหน้าที่แทน ไม่ใช่ว่าท่านมาลงเอง ไม่ได้ตั้งผู้แทนมาตั้งแต่แรก ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า แล้วจะให้ประชาชนเลือกแทนเจ้าของ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า แต่ท่านไม่เคยเลือกผู้แทนพระองค์ ผศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า ก็สำนักงานทรัพย์สิน บอร์ดทรัพย์สินไง