xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะม็อบปรับปรุงการใช้ภาษาเพื่อขยายแนวร่วม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.เกียรติอนันท์” แนะม็อบปรับปรุงการใช้ภาษาเพื่อขยายแนวร่วม ชูทฤษฎีดึงคนชุมนุมให้ได้ 3.5% ของประชากร ถึงจะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้จริง พร้อมเสนอชูแค่เรื่องปฏิรูปการศึกษาประเด็นเดียวก่อน แล้วค่อยปลดล็อกเรื่องอื่นมันจะง่ายขึ้น ชม “คนละครึ่ง” รัฐมาถูกทาง เชื่อหากท่าทีการเมืองสง่างาม บวกกับความแหลมคมด้านนโยบายเศรษฐกิจ จะประคองให้รัฐบาลอยู่ได้



วันที่ 24 พ.ย. 2563 ดร.เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “มองทิศทางม็อบ 3 นิ้ว ชุมนุม 25 พ.ย.”

โดย ดร.เกียรติอนันท์ กล่าวถึงข้อแนะนำต่อม็อบ ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในระยะสั้น ที่ทำให้การเคลื่อนไหวมีพลังร่วมมากขึ้น คือการใช้ภาษา ไม่ว่าสังคมไหนก็ตามมันจะมีระดับของภาษา อย่างการใช้ภาษาในบริบทหนึ่ง เมื่อไปใช้กับบริบทรอบตัว มันจะไม่ทรงพลังมากพอ เพราะฉะนั้นอยากให้มองตัวเองเป็นเซลส์แมนมาขายไอเดีย ต้องใช้ภาษาที่คนอยากจะฟัง ไม่ใช่ภาษาที่เขาอยากจะพูด

อย่าลืมการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังมันต้องมีแรงหนุนจากสังคมมากพอ ถามว่าประเทศต้องการการเปลี่ยนแปลงไหม ต้องการ แต่การเคลื่อนไหวแบบนี้มันไม่ได้เกิดจากคนกลุ่มเดียว การขยับประเทศมันคือการเข็นครกขึ้นภูเขา เข็นคนเดียวไม่ขึ้นแน่นอน การใช้ภาษาน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการขยับประเทศ

การเคลื่อนไหวช่วงหลังๆ ไม่ว่าจะภาษาการสื่อสาร หรือภาษาที่ใช้ตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งการเขียน การพ่นสี มันยิ่งทำให้ตัวเขาตัดขาดจากคนอื่น

ดร.เกียรติอนันท์ กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ใช้ภาษาที่ไม่ดีเข้าหากันทั้งคู่ ฉะนั้น ถ้าจะถอยก้าวแรก เริ่มจากใช้คำพูดดีๆ เข้าใจว่าใช้ภาษาแรงๆ แย่งชิงพื้นที่สื่อได้จริง แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ยิ่งเป็นการเพิ่มความแตกแยกและเกลียดชัง

มองย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในโลก จะเกิดแรงปะทะแบบนี้ คนกลุ่มหนึ่งต้องการเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ส่วนอีกกลุ่มก็ต้องการรักษาไว้ไม่ให้พลิกเลย แล้วถ้าเกิดมันยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทั้งสองฝ่ายจะปะทะกัน แล้วมันจะจบแบบเจ็บปวดและไม่สำเร็จ แต่ถ้าเราหาจุดร่วมกันได้ บางอย่างเจรจากันได้ นั่นคือ กระบวนการสำคัญของประชาธิปไตย เปิดพื้นที่ให้ต่อรองกัน ระบอบประชาธิปไตยที่ดี ทุกคนต้องผิดหวังบ้าง ไม่ใช่สมหวังทุกอย่าง ตราบใดเอาทุกอย่างที่ต้องการ นั่นคือการสูญเสียจิตวิญญาณของประชาธิปไตย

ดร.เกียรติอนันท์ ยังกล่าวถึงทฤษฎีผู้ร่วมชุมนุมต้องมากถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ จากประชากรทั้งหมด ถึงจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ โดยผู้ศึกษาทฤษฎีนี้ (เอริกา เชโนเว็ธ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) เริ่มจากตอนแรกไม่เชื่อว่าสันติวิธีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ จึงศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา 200 ปีในโลก และพบว่าการเคลื่อนไหวโดยสันติวิธี ตั้งแต่การเลือกใช้คำ การตัดตัวเองให้ขาดจากพรรคการเมือง และใช้เป้าหมายหลักของประเทศเป็นตัวตั้ง ถ้าดึงคนมาได้ 3.5 เปอร์เซ็นต์ จากประชากรในประเทศ จะสำเร็จ ประเทศไทยก็ตีเป็นสัก 2 ล้านคน ในเชิงยุทธศาสตร์ คน 2 ล้านคนจริงๆ ที่ออกมาร่วมชุมนุม ไม่ใช่แฮชแท็ก 2 ล้านครั้ง ไม่ใช่ในโลกออนไลน์ และต้องมาจากคนที่หลากหลายด้วย หากเป็นคนแค่กลุ่มเดียวพลังไม่เกิด อาจผลักดันได้แค่แค่กฎหมายเล็กๆ

ข้อเสนออะไรที่ทรงพลังมากพอ ในการให้คนทั้งประเทศเห็นร่วมกัน 2 ล้านคนออกมา ไม่เช่นนั้น เดี๋ยวการเคลื่อนไหวก็จะอ่อนแรงลง น่าเสียดายประเด็นที่สำคัญ อย่างปฏิรูปการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ การปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ ฯลฯ

การเคลื่อนไหวทางการเมือง หากเสนอไป 10 ข้อ คนไม่เห็นด้วย 5 ข้อก็หนีแล้ว ไม่เหมือนการขายของ ยิ่งเสนอเยอะคนยิ่งชอบ แต่นี่เสนอเยอะคนยิ่งถอย ตนแนะนำให้หาข้อเสนอที่แหลมคม แล้วจี้ ขยี้ อย่าปล่อย การเคลื่อนไหวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ นี่แหละ เป็นตะปูแหลมคมขยี้กำแพงให้แตก แล้วเรื่องต่อไปก็จะง่ายขึ้น

ถ้าเป็นตน จะเอาเรื่องการศึกษาประเด็นเดียว แล้วขยี้ให้เละ ยุทธศาสตร์การต่อสู้ควรขยี้ 1 จุด และเป็นจุดที่ทำให้ประเทศไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน แล้วมันจะไปปลดล็อกข้อต่างๆ แม้ใช้เวลานาน ทำยากที่สุด แต่มีพลังมากที่สุด

ดร.เกียรติอนันท์ กล่าวถึงนโยบายคนละครึ่ง ว่า แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของนโยบาย ครั้งนี้เพิ่มโอกาสในการกระจายรายได้ สร้างบรรยากาศคึกคักให้ตลาด คนกล้าจ่ายเงินมากขึ้น เป็นการฟื้นความเชื่อมั่น บางทีเศรษฐกิจฟื้นได้ ไม่ใช่แค่ตัวแปรเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่ฟื้นได้จากจิตวิทยา แต่ประเด็นคืออันนี้เป็นการต่อออกซิเจน แค่ทำให้ดีขึ้น แต่เชิงโครงสร้าง หลังจากนี้ทำอย่างไรให้ลดการผูกขาด ที่สำคัญ รัฐจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากการลงทะเบียนของประชาชนอย่างไร ถ้าบริหารจัดการดีๆ สามารถเอามาทำนโยบายเศรษฐกิจที่แหลมคมขึ้นได้

“หากท่าทีการเมืองที่สง่างาม บวกกับความแหลมคมด้านนโยบายเศรษฐกิจ สถานการณ์จะประคองให้รัฐบาลอยู่ได้ แต่ถ้าเกิดขาใดขาหนึ่งมันไม่แข็งแรงพอ จะพาให้อีกขาแบกภาระมากเกินไป และสุดท้ายจะเดินไม่มั่นคง นโยบายนี้ถือว่ามาถูกทาง แต่จะไปต่ออย่างไร แล้วผลของนโยบายแบบนี้ ถ้าใช้ซ้ำประสิทธิภาพจะลดลง ต้องคิดต่อว่าจะทำอะไร เพื่อให้มั่นคงทั้งสองขา” ดร.เกียรติอนันท์ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น