xs
xsm
sm
md
lg

รศ.ดร.วิษณุ ห่วง PM 10 สร้างความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์แก่ประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงว่าฝุ่นพิษ PM 10 อาจสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ให้กับประเทศไทย

วันนี้ (18 พ.ย.) รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Witsanu Attavanich” แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาของฝุ่นพิษ หรือ PM 10 ว่าอาจจะสร้างความเสียหายในด้านเศรษฐศาสตร์ได้ โดยได้ระบุข้อความอธิบายว่า

“มูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์จากฝุ่นพิษทุบสถิติใหม่! มาลองติดตามกันนะครับว่า ปี 2562 ที่ผ่านมามูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM 10 ของประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่? แล้วจังหวัดไหนบ้างที่มีมูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์จากฝุ่นพิษในระดับสูง? จังหวัดไหนที่มีพัฒนาการดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา? และจังหวัดไหนบ้างที่มีพัฒนาการที่แย่ลง?

การประเมินมูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์หรือที่มักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าต้นทุนทางสังคมในครั้งนี้ ได้ประยุกต์ใช้แนวคิด Subjective Well-Being เหมือนกับงานศึกษาของ Attavanich (2019) ที่เคยประเมินต้นทุนทางสังคมจากฝุ่นพิษ PM10 ไว้ในปี 2560 และ 2561 โดยปรับค่าจำนวนครัวเรือนของไทยให้เป็นปี 2562 และปรับค่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนให้เป็นปี 2562 ซึ่งเพิ่งมีการเผยแพร่ได้ไม่นานมานี้

โดยย่อแนวคิด Subjective Well-Being มีข้อสมมติว่าสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดคุณภาพชีวิตที่วัดจาก “ความพึงพอใจในชีวิต” (Life satisfaction) ที่ถูกประมาณให้เป็นฟังก์ชันของปัจจัยต่างๆ อาทิ รายได้ สิ่งแวดล้อม โดยมีการควบคุมปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชากรศาสตร์ และปัจจัยเชิงพื้นที่ จากนั้นใช้วิธีทางเศรษฐมิติเพื่อประมาณมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายหน่วยสุดท้าย (Marginal Willingness to Pay : MWTP) ที่แอบแฝงอยู่กับความพึงพอใจ โดยใช้หลายรูปแบบของการประมาณค่า และข้อมูลมลพิษทางอากาศจากกรมควบคุมมลพิษรายสถานีทั่วประเทศ ปี 2562 ที่ผ่านมาต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM10 ของประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่? (ภาพที่ 1)

ผลการศึกษาพบว่า ถ้าใช้ค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO Guideline) เป็นเครื่องบ่งชี้ความอันตรายของฝุ่นพิษต่อสุขภาพ และหากสมมติให้ทุกครัวเรือนได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ ต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM10 ของไทย ปี 2562 จะมีมูลค่าความเสียหายถึง 2.26 ล้านล้านบาท หรือ 13.37% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเบื้องต้น (GDP) ซึ่งทำสถิติสูงสุดใหม่! โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2561 และ 2560 ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายเท่ากับ 2.06 ล้านล้านบาท และ 1.79 ล้านล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากค่าฝุ่นพิษที่ปรับตัวสูงขึ้นในหลายพื้นที่ในปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 (ภาพที่ 2) หากสมมติให้ 75% และ 50% ของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ ต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM 10 ของไทย ปี 2562 มีมูลค่าความเสียหายเท่ากับ 1.69 ล้านล้านบาท (10.03% ของ GDP) และ 1.13 ล้านล้านบาท (6.69% ของ GDP) ตามลำดับ แล้วจังหวัดไหนบ้างที่มีต้นทุนทางสังคมจากฝุ่นพิษในระดับสูง? (ภาพที่ 1 และ 2)

เมื่อวิเคราะห์ระดับจังหวัดจะพบว่ากรุงเทพฯ ยังครองแชมป์มูลค่าความเสียหายจากฝุ่นพิษ โดยมีมูลค่าสูงถึง 4.51 แสนล้านบาท ทิ้งห่างอันดับ 2 ขาดลอยเช่นเคย แต่มูลค่าความเสียหายได้ปรับลดลงจากปี 2561 ที่มีมูลค่าสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท จากความเข้มข้นของฝุ่นพิษที่ลดลงและรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในปี 2562 ที่ลดลงจากปี 2561 โดยจังหวัดชลบุรีขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แทนนนทบุรีที่ตกลงไปอยู่อันดับ 4 โดยมีมูลค่าความเสียหาย 9.4 หมื่นล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ นครราชสีมายังคงรั้งอันดับไว้เหนียวแน่น โดยมีมูลค่าความเสียหาย 9.3 หมื่นล้านบาท ส่วนอันดับ 5 ได้แก่ สระบุรี มีมูลค่าความเสียหาย 7.4 หมื่นล้านบาท ถัดมาคือ เชียงใหม่ที่ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6 มีมูลค่าความเสียหาย 7.0 หมื่นล้านบาท และปทุมธานีอยู่อันดับที่ 7 ขยับขึ้นมาถึง 8 อันดับ มีมูลค่าความเสียหาย 6.7 หมื่นล้านบาท

จังหวัดไหนที่มีอันดับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา? (ภาพที่ 3 และ 4)
สำหรับจังหวัดที่มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างมาก คือ น่านซึ่งอันดับขยับลงไปถึง 24 อันดับ ตามด้วยจันทบุรีที่อันดับขยับลดลงไปถึง 14 อันดับ ถัดมาคือ ประจวบคีรีขันธ์ที่อันดับขยับลดลงไป 13 อันดับ ตามด้วยฉะเชิงเทรา สงขลา ชัยนาท กระบี่และสิงห์บุรี ซึ่งอันดับขยับลดลงไปถึง 10 อันดับ
จังหวัดไหนบ้างที่มีอันดับที่แย่ลง? (ภาพที่ 3 และ 4)

สำหรับจังหวัดที่มีพัฒนาการแย่ลงจากต้นทุนทางสังคมที่สูงขึ้นอย่างมาก คือ เชียงรายซึ่งอันดับขยับขึ้นไปถึง 27 อันดับ! จากอันดับที่ 44 ในปี 2561 เป็นอันดับที่ 17 ในปี 2562 แม้จะมีการเผาในพื้นที่น้อยมาก แต่ก็ถูกฝุ่นพิษจากพื้นที่ใกล้เคียงและฝุ่นพิษข้ามแดน ตามด้วยนครพนมที่อันดับขยับเพิ่มขึ้นไปถึง 16 อันดับ ถัดมาคือ ลำปางที่อันดับขยับขึ้นไป 15 อันดับ ตามด้วยมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และภูเก็ต ซึ่งอันดับขยับเพิ่มไปถึง 14 อันดับ
แม้ว่าจะใช้ค่าฝุ่นพิษ PM 10 เป็นข้อมูลในการคำนวณ แต่ต้นทุนทางสังคมที่คำนวณก็น่าจะเป็นตัวแทนของฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นส่วนหนึ่งใน PM 10 ตอนนี้กำลังคำนวณมูลค่าความเสียหายจากฝุ่นพิษ PM 2.5 เกือบเสร็จแล้ว ยังไงจะนำมาเล่าให้ฟังกันนะครับ และต้องมาลองลุ้นกันต่อนะครับว่ามูลค่าความเสียหายจากฝุ่นพิษในปี 2563 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กับฤดูฝุ่นพิษที่กำลังเริ่มขึ้นด้วยค่าฝุ่นพิษที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รักษาสุขภาพและไม่ประมาทกับมัจจุราชมืดนะครับทุกคน”




กำลังโหลดความคิดเห็น