xs
xsm
sm
md
lg

“นันทิวัฒน์” ถาม 2 ข้อก่อนแก้ รธน. เสนอทำประชามติสะท้อนความต้องการที่แท้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ แนะ NGO ทำประชามติในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าประชาชนต้องการและไม่ต้องการให้แก้ในประเด็นใด ชี้เป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่สุด และสะท้อนความต้องการทึ่แท้จริงของประชาชน

จากกรณีเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศนัดชุมนุมล้อมสภา ในวันที่ 17 พ.ย.นี้ ติดตามการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตั้งแต่ 15.00 น.ยาวไปจนกว่าจะรู้ผลลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อนำกษัตริย์กลับลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Nantiwat Samart” ในวันนี้ โดยมีการตั้งคำถาม 2 ข้อ ก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอร่างหลายฉบับ​ ทั้งร่างของรัฐบาล​ ร่างของพรรคการเมืองและร่างของเอ็นจีโอที่มีประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอร่าง ในวันที่ 17 พ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยทั้ง 2 คำถาม คือ

“1. เอ็นจีโอที่รวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ยอมรับว่าได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติหลายองค์กร​ แต่ที่สำคัญคือ​ องค์กร​ Open​ Society Foundation OSF. ซึ่งมีนายจอร์จ​ โซรอส​ เป็นเจ้าของเงินทุน​ นายคนนี้ไม่เคยหวังดีกับใคร จ้องแต่จะสูบเงินจากต่างประเทศ​ คงจำกันได้​ นายโซรอสคนนี้ได้มาทุบค่าเงินบาทของไทยจนเสียหายเมื่อปี​ 2540 จะมีใครเชื่อมั้ยว่า​ คนหิวเงินอย่างนายโซรอสคนนี้จะมีความหวังดีกับประเทศไทย​ OSF. ถูกขับไล่ไม่ให้ดำเนินกิจการในหลาย​ประเทศ​ บางประเทศล่มจม​ แตกแยกเพราะการทำงานของ​ OSF. ด้วยข้ออ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

2. ในความเข้าใจ​ การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ​ การแก้ไขรายมาตรา​ ไม่ใช่ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ​ หากมีการตั้ง​ ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ​ ต้องไม่เรียกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบมาจากประชาชน​ 16.8​ ล้านเสียง​ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับประชาชน​ และเป็นวิถีประชาธิปไตย​ ขอเสนอให้กลับไปสอบถามประชาชนด้วยการแสดงประชามติ​ ประชาชนจะยินยอมให้แก้ไขหรือไม่​ มีประเด็นอะไรที่ประชาชนต้องการและอยากให้แก้ไข​ มีประเด็นอะไรที่ประชาชนไม่ต้องการหรือไม่ยินยอมให้แก้ไข

นี่คือประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่สุด​ อาจจะช้าไปบ้างแต่ชัวร์​ เพราะได้รับฉันทามติจากประชาชนให้แก้ไข​ และเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว​ ให้นำกลับไปขอให้ประชาชนลงประชามติรับร่างแก้ไขหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง​ ประชาธิปไตยแบบนี้อาจต้องใช้เงินมากหน่อย​ อาจจะเสียเวลา​ แต่ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด​ สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน”



กำลังโหลดความคิดเห็น