xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ขอทุกฝ่ายร่วม กก.สมานฉันท์ ย้ำใช้หลักฉันทมติ ไม่บังคับเสียงข้างน้อย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หน.ปชป.ระบุพรรคชัดเจนหนุนร่างรัฐบาล-ฝ่ายค้านแก้ รธน. ไม่ควรมีอะไรสะดุด พร้อมเรียกร้องทุกฝ่ายร่วม กก.สมานฉันท์ ย้ำใช้หลักฉันทมติที่เป็นเอกฉันท์ ไม่ใช่เสียงข้างมากบังคับเสียงข้างน้อย

วันนี้ (13 พ.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่จะมีการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนแล้วว่าเราสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แล้วก็มีความเห็นว่าไม่ควรจะมีอุปสรรคอะไรที่จะมาทำให้การพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดต่อไปอีก

ส่วนการที่มีผู้ให้ความเห็นว่าควรจะมีการทำประชามติหรือไม่นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ต้องทำประชามติ แต่รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 นั้น การทำประชามติจะต้องไปทำหลังจากผ่านที่ประชุมร่วมวาระที่ 3 แล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะทำก็ต้องไปทำตรงนั้น จะมาทำก่อนด้วย-หลังด้วย ก็จะกลายเป็นถูกข้อหาว่าถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่จำเป็น ซึ่งเราก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญคือ พอผ่านวาระ 3 เราก็ไปทำประชามติ ก็น่าจะเป็นที่ยุติได้

นอกจากนี้ ในเรื่องของการตรวจสอบว่าร่างของรัฐบาล กับร่างของฝ่ายค้าน และอีก 2-3 ร่างนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ได้มีการยื่นเรื่องให้ประธานรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างทั้งหมดนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 หรือมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระบุไว้ชัดอยู่แล้วว่า การตรวจสอบสามารถทำได้ แต่ให้ไปทำหลังจากผ่านวาระ 3 และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเช่นกัน ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการเวลาของมันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมาทำเดี๋ยวนี้ แต่ก็เป็นสิทธิถ้าหากว่าใครจะยื่นไป แต่ก็อาจจะทำให้โดนข้อหาว่าตั้งใจจะถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่โดยไม่จำเป็นได้เช่นกัน

ส่วนประเด็นคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีผู้สื่อข่าวสอบถามนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้อย่างน้อยที่สุดตนรวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเห็นคณะกรรมการสมานฉันท์เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นทางออกทางหนึ่งของประเทศที่เป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่คิดได้ในเวลานี้ และจะมีส่วนช่วยที่จะทำให้คนไทยทั้งประเทศได้เห็นว่ารัฐสภายังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ไม่จำเป็นต้องหันไปหาระบบอื่น อันนี้คือหัวใจและเหตุผลสำคัญ และท่านประธานรัฐสภาก็เห็นด้วย จึงเป็นที่มาที่ได้ขอให้สถาบันพระปกเกล้าไปคิดรูปแบบว่าคณะกรรมการสมานฉันท์หรือจะชื่ออะไรก็ตาม ควรมีรูปแบบอย่างไร ปรากฏว่าขณะที่ได้คำตอบกลับมาแล้วว่า สถาบันพระปกเกล้าเสนอมา 2 รูปแบบ

รูปแบบที่ 1 คือ รูปแบบของคณะกรรมการ 7 ฝ่ายเหมือนที่ตนและพรรคประชาธิปัตย์เสนอ เกือบจะเรียกได้ว่าเหมือนกันทุกประการ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น หรือแก้ปัญหาเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน สำหรับรูปแบบที่ส 2 ก็คือ รูปแบบให้มีตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ไปเป็นคณะกรรมการ ซึ่งก็คงจะประกอบด้วยคนนอก 1-2-3-4-5-6 ส่วนตัวบุคคลจะเป็นอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องอนาคต เพื่อหาทางออกให้กับประเทศในระยะกลางระยะยาว

สำหรับคณะกรรมการสมานฉันท์ 7 ฝ่าย ที่ตนและพรรคประชาธิปัตย์เสนอนั้น มีบางฝ่ายมีความเห็นคล้ายๆ กับว่าไม่ประสงค์จะเข้าร่วมเพราะเกรงว่าจะเป็นเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการชุดนั้น หรือมีบางฝ่ายมีเสียงมากกว่า อันนี้ขอเรียนว่าไม่อยากให้กังวลและอยากให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม ที่ไม่อยากให้กังวลเพราะว่าคณะกรรมการชุดนี้โดยเจตนารมณ์ที่ตนเสนอนั้น ไม่ใช่การลงมติในแต่ละประเด็นแล้วใช้เสียงข้างมากบังคับเสียงข้างน้อยให้ยอมตาม แต่เจตนารมณ์คือต้องการให้ทั้ง 7 ฝ่าย หรือ 8 ฝ่ายก็แล้วแต่ ไปแสวงหาความเห็นพ้อง ที่ตนเคยเรียนย้ำหลายครั้ง คำว่าเห็นพ้องแปลว่าไปแสวงหาความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ หรือที่เรียกว่าฉันทามติ ถ้ามี 7 ฝ่าย ก็แปลว่าต้อง 7:0 ไม่ใช่ 6:1 ไม่ใช่ 5:2 หรือ 4:3 ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องทำเพราะถือว่าไม่เห็นพ้อง ไม่เป็นฉันทามติหรือเอกฉันท์

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ตนคิดว่าจะมีเสียงข้างมากข้างน้อยไม่สำคัญขอให้เห็นตรงกัน เห็นพ้องกัน ประเด็นนั้นก็จะได้รับการพิจารณา แล้วถ้าประเด็นใดเห็นพ้องกันแล้ว มีฉันทามติร่วมกันแล้ว 7:0 แล้ว ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติ เช่นสมมติว่าถกกันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เห็นตรงกันแล้ว 7:0 ว่าจะต้องไปแก้ ห้ามโยกโย้ ควรจะดำเนินการโดยเร็วอย่างไร อันนี้ถ้าเห็นตรงกันก็ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการให้เป็นไปตามนั้นได้ อะไรที่ถ้ายังเห็นไม่ตรงกันก็จับเข่าคุยกันต่อไป อาจจะมีความเห็นตรงกันเพิ่มเติมมาอีกก็ได้ หรืออะไรที่สุดท้ายแล้วไม่ตรงกันจริงๆ ก็อาจจะขึ้นบัญชียกยอดไปให้คณะกรรมการชุดที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการระยะกลางระยะยาวได้พิจารณาต่อไปอีกก็ได้

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ตนคิดว่าเป็นแนวคิดที่ตนได้คิดร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ครบวงจรแล้วพอสมควร และเข้าใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ จึงไม่อยากให้กังวลว่าไม่อยากเข้าร่วมเพราะกลัวว่าจะใช้เสียงเสียงข้างมากมาบังคับ คงไม่เกิดสิ่งนั้นสำหรับแนวคิดที่ตนเสนอ


กำลังโหลดความคิดเห็น