xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” เผยรูปแบบ กก.สมานฉันท์ยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังอ้าแขนรับฝ่ายค้านเพื่อความปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานรัฐสภา เผยรูปแบบการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังอ้าแขนรับฝ่ายค้านเพื่อความปรองดอง ศึกษาตัวอย่างงคณะกรรมการในอดีต ทำดีแต่ไม่มีผล ต้องเน้นหานักปฏิบัติ วันนี้ (13 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.20 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า จากการประชุมร่วมกัน 4 ฝ่ายที่ผ่านมาได้หารือกันในเรื่องนี้ว่ารูปแบบที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอมา 2 รูปแบบนั้นเดิมเราเล็งผลว่าอยากได้คณะกรรมการ 7 ฝ่าย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าคิดว่าคงทำทีเดียวไม่ได้ จึงคิดว่าถ้ารวมได้กี่ฝ่ายก็ให้ดำเนินการไปก่อน ซึ่งได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบแล้วเพื่อขอให้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาในสัปดาห์ว่าคณะกรรมการที่ต้องมา 7 ฝ่าย ถ้าได้กี่ฝ่ายแล้วก็ต้องคุยกันว่าแต่ละฝ่ายควรมีกี่คน ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเข้ามาร่วม ส่วนตัวจะหารือว่าควรจะเชิญใครมาร่วมด้วย

นายชวนกล่าวว่า นอกจากนี้ คิดว่าควรมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต บางเรื่องอาจจะป้องกันล่วงหน้าไม่ได้ เช่น ความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่บางเรื่องสามารถป้องกันล่วงหน้า เช่น ปัญหาที่อาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างกรณีปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรารู้ถึงต้นเหตุของปัญหา หรือความขัดแย้งที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติที่เป็นผลมาจากนโยบายและพฤติกรรมการกระทำของบางฝ่าย

ประธานรัฐสภากล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้ศึกษาคณะกรรมการหลายชุดที่ผ่านมา พบว่าทำงานดีแต่ไม่มีผล เพราะเชี่ยวชาญด้านทฤษฎีทำให้ต้องเน้นภาคปฏิบัติด้วย หลายคนที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอชื่อมานั้นพบว่าหลายคนเคยทำงานด้านนี้มาแล้วหลายครั้ง ทำมาดีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจำเป็นต้องเอานักปฏิบัติมาร่วมด้วย

เมื่อถามถึงท่าทีของฝ่ายค้านที่ยังไม่เห็นด้วยกับรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ นายชวนกล่าวว่า ส่วนตัวบอกไปแล้วตรงๆ ว่าการเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหานั้นไม่เคยห้าม แม้ว่าจะเคยขับไล่นายกฯ เพราะตรงนี้เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความปรองดอง โดยไม่ต้องการให้ลดการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน

เมื่อถึงความคืบหน้าในการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วม นายชวนกล่าวว่า ยังไม่ได้ทาบทามอย่างเป็นทางการ แต่มีหลายชื่อที่สถาบันพระปกเกล้า และ นพ.ประเวศ วะสี เสนอเข้ามา มีหลายคนที่ชื่อตรงกัน หลายคนเป็นอาจารย์ที่เคยทำงานลักษณะนี้มาก่อนแล้วหลายครั้ง แต่เราคิดว่าควรมีคนในภาคปฏิบัติเข้ามาทำงานด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น