xs
xsm
sm
md
lg

เหตุที่กรมพระยาดำรงฯต้องทิ้งกระทรวงศึกษามาว่าการมหาดไทย! ต้องเอาชาติไว้ก่อนใน ร.ศ.๑๑๒!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคที่มีการปฏิรูปโฉมหน้าของประเทศ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นทหารเข้ารับราชการตั้งแต่จบจากโรงเรียนนายร้อย จนเป็นนายพลก็ถูกย้ายไปทำงานด้านการศึกษา ทรงสร้างโรงเรียนขึ้นที่ตำหนักสวนกุหลาบ แล้วย้ายมาเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ กำกับการธรรมการ จนเข้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในสมัยที่ประเทศกำลังต้องการคนสร้างชาติ ซึ่ง ม.จ.หญิง พูนพิศมัย ดิศกุล ได้นิพนธ์ “ชีวิตและงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ในตอนนี้ไว้ว่า

“สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเอาใจใส่ในการศึกษาเป็นอันมากอยู่โดยปกติ เมื่อได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนสวนกุหลาบ แล้วบางครั้งต้องทรงสอนเอง เพราะในเวลานั้นครูก็หายากอยู่แล้ว ยังไม่มีใครเข้าใจคำว่าหลักสูตรอีกด้วย การสอบไล่ก็เพิ่งมีขึ้นในโรงเรียนนี้เป็นครั้งแรก สมเด็จกรมพระยาฯได้ทรงร่างข้อสอบ ทรงสอบ และจัดทำประกาศนียบัตรขึ้นเองทั้งนั้น หนังสือที่ทรงจัดให้เรียนยังทรงมัดไว้ดังมีอยู่ในหอสมุดดำรงฯ แล้วทรงเล่าว่าถ้าจะเอาเรื่องใดเข้าหลักสูตร จะต้องให้ทดลองสอนเด็กเสียก่อน ถ้าเป็นผลดีจึงจะเอาไปเข้ากระทรวง ฉะนั้นที่วังพระองค์ท่านจึงมีโรงเรียนเล็กๆห้องเดียวอยู่หลังหนึ่ง และพวกลูกๆตั้งแต่ของพระองค์ท่านและลูกคนในวัง ก็เป็นผู้สำหรับทดลองทั้งนั้น ทรงเล่าว่าครูก็มีต่างๆ บางคนสอนอย่างนั้นดี บางคนสอนอย่างนี้ดี มีขุนบัญญัติฯคนหนึ่งสอน ก.ข.ดีนัก แม้เด็กจะเกเรอย่างไรครูก็มีวิธีสอนจนอ่านได้ดี และเร็วด้วย

เมื่อเสด็จพ่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน เพราะขณะกำลังสร้างวัดนั้นเสด็จพ่อทรงเป็นราชองครักษ์ ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกวัน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่าวัดนี้เงียบสบาย เจ้านายทรงผนวชก็อยู่ได้ เสด็จพ่อจึงทูลรับว่า ถ้าถึงปีผนวชจะเสด็จมาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯให้ปลูกตำหนักถวายหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นหอสมุดในวัดนั้นบัดนี้

ในเวลาเสด็จอยู่ในวัดนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กชาวนามาเรียนหนังสือที่วัดด้วยหนังสือมูลบทบรรพกิจ และอ่านไม่ได้ นอกจากชี้ไปตามเรื่องว่า ก. ก่. ก้. ก๊. ก๋. ข. ข่. ข้. ข๊. ข๋. ฯลฯ แต่ชี้ก็ไม่ถูกตัว จึงตรัสถามพระผู้เป็นครูสอน ท่านอธิบายว่าเด็กมีเวลาเรียนเพียงปีละ ๓ เดือน ถึงหน้าทำนาก็ต้องกลับไปช่วยพ่อแม่ กลับมาเรียนใหม่ก็ลืมหมด ต้องตั้งต้นกันไปใหม่ เป็นเหตุให้ท่านทรงคิดแบบเรียนเร็วขึ้น เพื่อจะให้อ่านได้ภายใน ๓ เดือน และเอาของที่จำง่าย เช่น ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่งเด็กเห็นอยู่เสมอๆแล้วช่วยความจำให้เร็วขึ้น ส่วนในเนื้อเรื่องก็ทรงเลือกเอาแต่ที่จะจับใจเด็กเป็นประมาณ เพราะธรรมชาติของเด็กไม่สามารถจะเข้าใจคติธรรมได้นอกจากชอบการตื่นเต้น จึงทรงผูกเรื่องเช่น ตาโป๋ขาเป๋ ตาหวังหลังโกง เป็นต้น เพื่อให้เด็กเห็นว่าแม้คนพิการก็ยังทำอะไรๆได้ แต่ท่านก็ได้ตรัสอยู่เสมอว่า ถึงเวลาควรจะแก้ไขให้เหมาะแก่เวลายิ่งขึ้นแล้ว

ส่วนการศึกษาของชาตินั้น ทรงพระดำริว่า ต้องดูความต้องการของประเทศว่าเรายังขาดคนชนิดใด ถ้ากระทรวงศึกษาธิการทำคนให้ประเทศได้ถูกตามเวลาแล้ว บ้านเมืองจะเจริญเร็ว และคนก็จะมีงานทำโดยทั่วถึงกัน เสด็จพ่อได้ทรงส่งหลานปู่คนใหญ่ไปหัดเป็นพ่อค้าในยุโรปราว ๓๐ ปีมาแล้ว เผอิญเด็กก็ไม่ค่อยชอบ แล้วซ้ำกลับมาตายเอาด้วย ก็เป็นอันเราไม่มีพ่อค้าในครอบครัว และคนโดยมากก็ยังสนุกกับการเป็นข้าราชการอยู่นั่นเอง ถ้าพวกไทยเราเอาใจใส่ในการเพาะปลูกและการเป็นพ่อค้าให้ถูกต้องตามควรแล้ว การเศรษฐกิจของเราจะเป็นผลดีแก่ประเทศสักเพียงไร

ในสมัยเริ่มจัดการปกครองแบบใหม่ใน พ.ศ.๒๔๓๕ นั้นการอ่านเขียนได้ยังไม่ค่อยมี เพราะไม่มีเหตุจำเป็น จะเขียนใบบอกราชการกันสักทีก็ต้องไปเขียนกันที่วัด เพราะพวกพระท่านต้องรู้หนังสือเพื่อแปลบาลีออกเป็นไทย ฉะนั้นในเวลาเจ้าพระยาพระเสด็จ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ท่านเป็นเสนาบดี ท่านจึงจัดผู้อ่านเขียนได้ส่งให้มหาดไทยไปได้ทั่วประเทศ คนจึงมีงานทำกันทั่วถึง

ถึง พ.ศ.๒๔๓๔ พระเจ้าซาร์นิโคลาซที่ ๒ เสด็จมาประพาสเมืองไทย ถึงวันเสด็จกลับจากบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเรียกเสด็จพ่อเข้าไปที่พระองค์ แล้วตรัสตบพระขนองเสด็จพ่อ ตรัสกับพระเจ้าซาร์ว่า “หม่อมฉันจะให้ดำรงไปเฝ้าเยี่ยมตอบแทนตัว” เสด็จพ่อทรงเล่าว่า “พ่อเองก็ตกใจ เพราะไม่รู้ตัว” เวลานั้นพระชันษา ๒๙ เท่านั้น โปรดเกล้าฯให้เสด็จพ่อทรงเลือกคณะผู้ตามเสด็จเอง ซึ่งในสมัยนั้นต้องอยู่ในข่ายพิจารณาว่า ต้องมีรูปร่างงาม มารยาทเรียบร้อน ไม่ให้เสียชื่อสัญชาติไทย และต้องมีสมองพอที่จะจำของดีๆกลับมาให้คุ้มค่าเสียเงินไป เสด็จพ่อออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๕ นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยไปถวายยังราชสำนักต่างๆในยุโรป และทอดพระเนตรการศึกษาต่างๆเมืองมาด้วย ครั้นพอเสด็จพ่อกลับมาถึงกรุงเทพฯภายใน ๗ วันก็ถูกพระราชประกาศย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยมิได้มีพระราชดำรัสมาก่อน ทรงเล่าว่าทั้งตกใจและเสียใจที่ต้องทิ้งการศึกษา ซึ่งทำแปลนมาในใจไว้เรียบร้อยแล้ว จึงรีบเข้าไปกราบทูลว่ากลัวจะเสียชื่อ เพราะทำงานมหาดไทยไม่สำเร็จ แต่มีพระราชดำรัสว่า

“กรมดำรง ฉันเชื่อว่าเธอจะทำการศึกษาได้สำเร็จ แต่บัดนี้บ้านเมืองอยู่ในอันตราย (ร.ศ.๑๑๒) ถ้าเราตกไปเป็นข้าเขาอื่น การศึกษาที่เธอรักจะอยู่ที่ไหน ใครเขาเป็นนายเขาก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพอใจเขา เรามาช่วยกันรักษาชีวิตประเทศไว้จะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเธอติดขัดอย่างไรก็มาปรึกษาฉันได้”

ด้วยเหตุนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงได้ทรงจากการศึกษามาแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๕”
กำลังโหลดความคิดเห็น