นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เผยที่มาโครงกระดูกวาฬขนาดใหญ่ จ.สมุทรสาคร ช่วงพันปีถึงหลายร้อยปีก่อน อำเภอบ้านแพ้ว เคยเป็นชายฝั่ง อาจมีวาฬเกยตื้น แล้วดินตะกอนจากแม่น้ำทับถมซากวาฬเอาไว้ เตือนเก็บซากวาฬไว้ในครอบครองมีโทษปรับสูงสุด 3 แสน-1.5 ล้าน จำคุก 3-15 ปี
วันนี้ (8 พ.ย.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า มีการขุดพบกระดูกวาฬไม่ทราบชนิดที่อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร ห่างจากชายฝั่ง 15 กม. 😲 จึงมาเล่าแบบสั้นๆ ให้เพื่อนธรณ์ฟังว่าเป็นไปได้ไง ?
ขอเริ่มจากโลกเรา อุณหภูมิแกว่งตลอด
เมื่อประมาณ 1 แสน-1 หมื่นปีก่อน เราอยู่ในยุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย (LGP-last glacial period) ยุคนั้นน้ำทะเลลดต่ำ แผ่นดินโผล่พ้นน้ำเชื่อมต่อกัน จากไทยเดินไปเกาะบอร์เนียวสบายๆ เกาะบอร์เนียวมีช้างด้วยเหตุนี้
แต่เมื่อหมื่นปีเศษ อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นฉับพลัน
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ก๊าซมีเทนใต้พื้นทะเลหลุดมา ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและโลกร้อน (เป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนเป็นห่วงว่าจะเกิดอีกครั้งในปัจจุบัน เพราะเริ่มพบสัญญาณจากธรรมชาติ) น้ำแข็งละลายแบบต่อเนื่อง ทำให้น้ำสูงขึ้น ทะเลยึดแผ่นดินคืน และยึดคืนจนเลยกรุงเทพขึ้นไป
ทะเลเมื่อ 5,000 ปีก่อน ท่วมไปจนถึงลพบุรี จากนั้นน้ำค่อยๆ ลดระดับในยุค little ice age เมื่อ 1-2 พันปีก่อน ทะเลถอยไปอีกครั้ง และถอยไปเรื่อยๆ จนเริ่มเสถียร ก่อนจะเพิ่มอีกครั้งในยุคโลกร้อนครั้งใหม่
ในช่วงพันปีถึงหลายร้อยปีก่อน อำเภอบ้านแพ้วเคยเป็นชายฝั่ง ช่วงนั้นอาจมีวาฬเกยตื้น ดินตะกอนจากแม่น้ำ ฯลฯ ทับถมซากวาฬลงไป และฝังไว้อย่างนั้น จนถูกขุดเจออีกครั้งเมื่อวาน
ตอนนี้กรมทะเลกำลังพิสูจน์ชนิด ซึ่งน่าจะเป็นชนิดที่พบในปัจจุบันในอ่าวไทย ดูจากขนาดแล้ว อาจเป็นวาฬบรูด้า (ไม่ฟันธงนะจ๊ะ) ลองตามข่าวกันต่อไป หากมีอะไรน่าสนใจ จะนำมาบอกเพื่อนธรณ์ครับ
หมายเหตุ - วาฬและโลมาทุกชนิดเป็นสัตว์สงวน/คุ้มครอง รวมถึงซาก/กระดูก หากเจอไม่ว่าแบบไหนที่ใด รีบแจ้งกรมทะเลทันที การนำไปขาย เก็บไว้โชว์ ฯลฯ ผิด กม.
ถ้าบรูด้า/โอมูระ ปรับ 3 แสน-1.5 ล้าน จำคุก 3-15 ปี
ถ้าชนิดอื่นๆ ปรับไม่เกิน 1 ล้าน จำคุกไม่เกิน 10 ปี