xs
xsm
sm
md
lg

คลิปหาดูยาก!! ชาวบ้านเกาะลิบงช่วยพะยูนเกยตื้น น้ำหนักกว่า200 กิโล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พะยูนเกยตื้นตัวนี้ เป็นเพศเมีย น้ำหนักประมาณ 220 กก. ความยาวประมาณ 1.80 ม. นายเลิศ ยอดศรี ชาวบ้านเกาะลิบงจังหวัดตรัง พบพะยูนตัวนี้เกยตื้นบริเวณชายหาดแหลมโต๊ะชัย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากพะยูนตัวโตไม่สามารถพาลงทะเลได้ จึงขอความช่วยเหลือจากพี่น้องชาวบ้านเกาะลิบงมาช่วยชีวิตพะยูน และช่วยเหลือลงทะเลอย่างปลอดภัย สามารถชมคลิปวิดีโอการช่วยเหลือพะยูนตัวนี้ได้ที่ https://www.facebook.com/177283235750504/videos/465945974378098

ทั้งนี้ พะยูนเป็นสัตว์น้ำชนิดแรกของประเทศไทยที่ได้รับการกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เมื่อพบ “พะยูน โลมา วาฬ เต่าทะเล” เกยตื้น บาดเจ็บ หรือป่วย สามารถแจ้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. ได้ทุกหน่วยงานและศูนย์วิจัย ทช. ในทุกพื้นที่ หรือทาง DMCR : Mobile Application เมนู #แจ้งเหตุทางทะเล เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้สัตว์ทะเลหายาก

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat”ว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชาวบ้านช่วยพะยูน มีคำถามว่าหากเจอสัตว์ทะเลเกยตื้นควรทำอย่างไร ? คำแนะนำคือ อันดับแรก แจ้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่บางพื้นที่ห่างไกล กว่าจะไปถึงอาจใช้เวลานาน หากเป็น “เต่าทะเล” มีอาการป่วยจนดูออก อย่ารีบนำกลับลงน้ำ อาจจมได้ วิธีช่วยคือใช้ผ้าเปียกคลุมไว้ และใส่ภาชนะมีน้ำทะเลแล้วรอเจ้าหน้าที่

ภาพ - ขั้นตอนการช่วยสัตว์ทะเลเกยตื้น
ปัญหาคือสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น พะยูน โลมา จะต้องระวังมาก ถ้ามีอาการป่วย/บาดเจ็บเห็นชัด ไม่ควรรีบนำปล่อยกลับลงทะเล ให้รอเจ้าหน้าที่ ทำตามวิธีต่างๆ ตามภาพ เท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ สัตว์ไม่ป่วย แค่เกยตื้น ให้ประสานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อขอคำแนะนำเบื้องต้น สามารถชมคลิปขั้นตอนการช่วยเต่าเกยตื้น ได้ที่ https://youtu.be/n5Rc1bXNpOc และขั้นตอนการช่วยโลมา/วาฬเกยตื้น ได้ที่ https://youtu.be/Zq4aWbwgMfQ

สิ่งหนึ่งที่คณะทำงานสัตว์ทะเลหายากกำลังพยายามทำคือ ขยายศูนย์ช่วยชีวิตฉุกเฉินไปตามจังหวัดต่างๆ รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์เบื้องต้น เช่น เปล เพื่อใช้ในการขนย้ายสัตว์ แม้ปัจจุบันนี้กรม ทช.จะมีรถ mobile unit แต่ชายฝั่งยาว 2,300+ กิโลเมตร คงไม่พอเพียง อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสถิติแล้วประเทศ ไทยถือเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ในการช่วยสัตว์ทะเลเกยตื้นให้รอด


ผศ.ดร.ธรณ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการอนุรักษ์สัตว์หายากว่า กำลังดำเนินการเรื่อง “แผนพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งขนอม” เป็นเรื่องที่กำลังจะได้รับการพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทะเลชาติต่อไป ทั้งนี้ หากประกาศชายฝั่งขนอมเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล จะเป็นประโยชน์มาก “คุ้มครอง” ในที่นี้ไม่ใช่ห้าม แต่ชาวบ้านยังหากุ้งหอยปูปลาได้

โดยมีมาตรการช่วยดูแลแหล่งหญ้าทะเล เช่น ห้ามเปลี่ยนสภาพ ห้ามทิ้งตะกอน มลพิษ ห้ามทำการประมงที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบนิเวศ สัตว์หายาก ฯลฯ รวมถึงควบคุมการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน เช่น ห้ามให้อาหารโลมา มีกติกาในการนำเรือเข้ามาชมสัตว์ ที่สำคัญคือให้คนท้องที่มีส่วนร่วมจริงจัง ตามแผนคือจัดตั้งอนุกรรมการขนอมภายใต้กฎหมาย ขึ้นตรงกับกรรมการทะเลจังหวัด

หากทุกอย่างราบรื่น ทะเลไทยจะมีพื้นที่คุ้มครองเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีเกาะกระ เกาะมันใน เกาะโลซิน และกำลังจะมีการพิจารณาอีก 4 แห่ง (รวมขนอม) ตามเป้า SDG 14 และยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยควรมีพื้นที่คุ้มครอง 10% ของพื้นที่ทะเล ภายในปี ค.ศ.2030 ตอนนี้ทำได้เกือบ 7% แล้ว หากช่วยกันผลักดันต่อไป อีก 10 ปียังเป็นไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น