ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เผยครบรอบ 1 ปี พะยูนน้อย “มาเรียม” ชี้ทิ้งไว้ ซึ่งความรักบทเรียนที่คนไทยกำลังเรียนกำลังทำ และเชื่อประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ ทะเลไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เพราะพะยูนน้อย
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาเผยเรื่องราวที่เคยโด่งดัง ของ “มาเรียม” พะยูน ซึ่งทำให้ชาวไทยหลายคนหันมาใส่ใจรักธรรมชาติทางทะเล และใส่ใจลดการใช้ขยะจากพลาสติก รวมถึงเป็นห่วงสัตว์ต่างๆ มากขึ้นนั้น และไม่ทิ้งขยะลงทะเล จนทำให้เกิด “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ”
โดยระบุเนื้อหาว่า “17 สิงหาคม ปีที่แล้ว เลยเที่ยงคืนไม่เท่าไหร่ คือเวลาที่พะยูนน้อยจากพวกเราไป จึงอยากเล่าว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา เกิดอะไรบ้าง หนึ่งปีที่มาเรียมไปสวรรค์ หนึ่ง - วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ แม้ยังไม่ประกาศเป็นทางการ แต่ผ่านที่ประชุมทะเลชาติไปแล้ว และกรมทะเลนำมารณรงค์แล้ว
โดย วันพะยูน หมายถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับพะยูน พ่วง 4 สัตว์สงวน สัตว์คุ้มครองและสัตว์หายากทะเลไทย ซึ่งยังหมายถึงวันรณรงค์สู้ขยะทะเล เพราะอย่างที่ทราบกัน ในท้องมาเรียมมีเศษถุงพลาสติก กิจกรรมนี้ให้ความรู้ในการการรณรงค์ ทำวันไหนก็ได้
แต่ถ้าพร้อมใจกันทำวันนี้ มันมีความหมายมากกว่า
และยังหมายถึงการรวมตัวของนักวิชาการครึ่งร้อยในช่วงนี้ เพื่อสร้างมาตรฐานศึกษาวิจัยสัตว์หายาก ปีนี้เป็นปีแรก เจอโควิด และเป็นช่วงรอยต่อของกรรมการทะเลชาติ คณะทำงานสัตว์หายากยังประชุมไม่ได้ แต่ปีหน้า สัญญาไว้ จะทำให้ดีกว่านี้แน่นอน
สอง - มาเรียมโปรเจกต์ ยังรอคิวเข้า ครม. แต่หลายเรื่องก้าวหน้าไปตามแผนแล้ว โรงพยาบาลสัตว์หายากภูเก็ต เปิดแล้วแม้ยังไม่เต็มร้อย น้องเต่ามะเฟืองไปใช้บริการแล้ว โรงพยาบาลเต่าทะเล สัตหีบ ได้รับการปรับปรุงเยอะเลย (ภาคเอกชนช่วยกันครับ) โรงพยาบาลเต่าทะเล ระยอง กำลังเดินหน้า แม้ยังต้องไปอีกไกล แต่อย่างน้อยก็เริ่มต้น คุณหมอช่วยชีวิตเต่าได้สัปดาห์ละหลายตัว ศูนย์เต่าทะเลเกาะมันใน ระยอง กำลังอยู่ช่วงขยาย บ่อพักพิงเต่าทะเล 30 ไร่เริ่มมีคุณเต่าพิการไปอาศัย ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์หายาก เริ่มเกิดเครือข่าย ทั้งมหาลัยต่างๆ มาช่วยกัน จันทบุรี ระนอง ตรัง นคร ฯลฯ ขอรวมข้อมูลอีกนิด จะเล่าเรื่องนี้ยาวๆ แต่ยืนยันได้ว่า มาเรียมโปรเจกต์กำลังทำให้เมืองไทยเป็นผู้นำอาเซียนในเรื่องการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากอย่างแน่นอน
สาม - พื้นที่อนุรักษ์พะยูน ตรัง-กระบี่ เครือข่ายร่วมมือกันเต็มที่ ปีนี้เรามีพะยูนตายน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ยังมีการสำรวจแหล่งพะยูนใหม่ๆ ทั้งกรมทะเล กรมอุทยาน จนพบพะยูนที่คุระบุรี พังงาแบบมีหลักฐานชัดเจน ยังพบพะยูนในอ่าวพังงาตอนใน ที่น่าตะลึงคือ พะยูนที่บ้านเพ ระยอง โผล่มาทั้งที่ไม่มีรายงานมา 20-30 ปี ฝูงพะยูนกว่า 20 ตัวที่อันดามัน กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ต่อเนื่องถึงตอนนี้ การสำรวจยังดำเนินต่อไป ขยายผลไปพื้นที่อื่นๆ ที่มีเครือข่ายร่วมมือเต็มที่ เพื่อไปสู่การคุ้มครองพื้นที่สัตว์หายาก รักษาแหล่งอาหาร แหล่งอาศัย ให้ทั้งสัตว์ทั้งผู้คนข้างทะเล
สี่ - ขยะทะเล มาเรียมทำให้เกิดการเดินหน้าก้าวใหญ่ แบนถุงจากห้างร้านตั้งแต่ต้นปี ลดได้นับหมื่นล้านใบ ยังหมายถึงกิจกรรมมหาศาล ความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย มาเรียมจ๋า บอกเธอบนฟ้าไม่ได้หรอกว่า เพราะเธอผู้จากไป มีขยะหายไปจากทะเลเท่าไหร่ มีสัตว์รอดตายไปกี่ร้อยกี่พันชีวิต แต่บอกได้แน่นอน โลกนี้ยังไม่เคยมีสัตว์ทะเลตัวไหน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง หยุดขยะลงทะเลได้เท่าเธออีกแล้ว ขนาดดาราฮอลลีวู้ดยังโพสต์ภาพเธอ
ห้า - ความรักทะเลของคนไทย มากขึ้นมากมายมากอย่างไม่เคยปรากฏทุกครั้งที่คนไทยคิดถึงเธอ ขยะในมือเขาน้อยลงหนึ่งช้อน สองสามชิ้นหากคิดถึงมากหน่อย ยังหมายถึงความรักที่ทำให้เกิดการดูแลเด็กน้อยจูงมือพ่อแม่ไปเก็บขยะริมทะเล ลุงป้ารีบแจ้งข่าวเมื่อเจอสัตว์เจ็บ พี่ชายจูงน้องวิ่งแจ้นไปหาผู้ใหญ่บ้าน เพื่อบอกว่าเต่าขึ้นมาวางไข่ และคงมีน้อยประเทศในโลกที่ใครทำร้ายทะเล จะมากจะน้อย ล้วนเป็นกระแสในพริบตา เป็นข่าวใหญ่ ส่งผลให้เกิดการจัดการจับกุมรวดเร็ว
สุดท้าย อยากบอกง่ายๆ กว่าหนึ่งร้อยปีที่ประเทศไทยเริ่มอนุรักษ์ทะเล ยังไม่มีใครทำเหมือนมาเรียมได้ เมื่อเธออยู่ เธอสร้างความรัก เมื่อเธอจากไป เธอยิ่งสร้างความรัก หนึ่งปีผ่านไป ความรักไม่น้อยลงเลย
สองปี สามปี สี่ปี จะอีกกี่ปี ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ ทะเลไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อพะยูนน้อยตัวหนึ่งจากพวกเราไปสู่สวรรค์บนฟ้า ทิ้งไว้ซึ่งความรักและบทเรียน ที่คนไทยกำลังเรียน กำลังทำ เพื่อสร้างสวรรค์ในโลกแห่งความจริง สร้างสวรรค์ในท้องทะเลไทย ให้เพื่อนๆ ของเธอมาเรียม”