xs
xsm
sm
md
lg

“แพทย์ รพ.จุฬาฯ” เร่งขยายเครือข่ายรักษา-พัฒนานวัตกรรมการแพทย์ รณรงค์ใน World Stroke Day 29 ต.ค.ของทุกปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์
“แพทย์ รพ.จุฬาฯ” เผยโรค “สโตรค” คร่าชีวิตคนไทยปีละ 3 หมื่นราย เร่งขยายเครือข่ายรักษา พัฒนานวัตกรรมการแพทย์ พร้อมร่วมรณรงค์ใน World Stroke Day 29 ต.ค.ของทุกปี

สถานการณ์โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรค (Stroke) ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญคือผู้เสียชีวิตมากกว่าปีละ 30,000 ราย โดยประเทศไทยร่วมกับทั่วโลกจัดกิจกรรมเนื่องในวันหลอดเลือดสมองโลก หรือ World Stroke Day วันที่ 29 ต.ค.ของทุกปี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง (สโตรค) เป็นภาวะที่สมองคนเราขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดทำงานผิดปกติใน 2 แบบ คือ โรคหลอดเลือดสมองตีบตันและโรคหลอดเลือดสมองแตก นับเป็นภาวะที่ใกล้ตัวคนไทยมาก เพราะ มีคนไข้ใหม่ประมาณ 2.5-3 แสนรายต่อปี ทำให้เสียชีวิต 3-5 หมื่นรายต่อปี และยังเป็นสาเหตุให้เกิดการพิการอีกจำนวนมาก

สำหรับอาการหลักที่พบก็คือ “พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น” โดยผู้ป่วยจะมีอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบาก โดยคนไข้ที่แพทย์พบส่วนใหญ่จะมีภาวะอ่อนแรงครึ่งซีก ที่เรียกอัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งถ้าพบอาการผิดปกอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้ผู้ป่วยรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะโรคหลอดเลือดสมอง สามารถรักษาได้ ป้องกันได้ ยิ่งคนไข้มาถึงโรงพยาบาลเร็ว สมองยังไม่เสียหาย การรักษาจะมีประสิทธิภาพ

ศ.พญ.นิจศรี กล่าวด้วยว่า โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เกิดจากลิ่มเลือดบริเวณอื่นไหลไปอุดตันหรือหลอดเลือดหนาตัวขึ้นจากการสะสมของไขมัน มีวิธีรักษาคือฉีดยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยาสลายลิ่มเลือด แต่ผู้ป่วยควรมาถึงภายใน 4.30 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ และอีกวิธีคือการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือด ซึ่งเป็นอุปกรณ์พิเศษที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และคนไข้ควรมาภายใน 24 ชั่วโมง

“ปัจจุบันการรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองไม่ค่อยมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ส่วนมากจะเป็นแบบฉับพลัน โรคเกิดได้ทุกช่วงวัย มีโอกาสสูงในวัย 55-60 ปี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ซึ่งการป้องกันสามารถเริ่มทำได้เองที่บ้าน เช่นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงรสเค็ม หวานจัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้าบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปี โดยปัจจุบันระบบสาธารณสุขดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองพัฒนาขึ้นมาก มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้” ศ.พญ.นิจศรี ระบุ

ทั้งนี้ องค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization : WSO) พบว่าในปี 2563 มีผู้ป่วยกว่า 80 ล้านคน เสียชีวิต 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 14.5 ล้านคนต่อปี โดยทุกๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคนี้ 1 คน และกำหนดให้ทุกวันที่ 29 ต.ค. เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก หรือ World Stroke Day นำหลักการ F.A.S.T. มาใช้ หากพบว่าใบหน้าอ่อนแรงหรือหน้าเบี้ยว (FACE) แขนอ่อนแรง (ARM) พูดผิดปกติ (SPEECH) ให้นึกถึงเวลา (TIME) ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที.


กำลังโหลดความคิดเห็น