ผอ.รพ.นพรัตนฯ เผย กทม.มีผู้ป่วยคาดป่วยจากฝุ่นเข้า รพ. 200 ราย คัดกรองส่งเข้าคลินิกมลพิษ 30 คน วินิจฉัยตามหลักอาชีวเวชศาสตร์ พบมาจากฝุ่น PM 2.5 รวม 7 ราย ส่วนใหญ่มีอาการทางเดินหายใจ ระคายผิวหนัง เคืองตา แต่อาการไม่รุนแรง ชี้เลือดกำเดาไหล บอกยากมาจากฝุ่นหรือไม่ ต้องเข้าพบแพทย์ร่วมกันวินิจฉัย เพราะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนผลกระทบระยะยาว ทั้งเส้นเลือดสมองตีบ ตัน มะเร็ง ยังพิสูจน์ไม่ได้
วันนี้ (22 ม.ค.) นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวถึงกรณีสถานการณ์เจ็บป่วยจากภาวะฝุ่นพิษ ว่า สำหรับผู้ป่วยที่เข้าถึงคลินิกมลพิษ รพ.นพรัตนราชธานี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังมีไม่มาก แต่ในต่างจังหวัดพบเพิ่มขึ้น เนื่องจากเรามีระบบการคัดกรองก่อนส่งเข้าไปยังคลินิกมลพิษ โดยพบว่า มีผู้ป่วยเข้ามาที่ รพ.นพรัตนฯ ประมาณ 200 ราย แต่คัดกรองโดยอายุรแพทย์ แล้วต้องส่งต่อเข้าคลินิกมลพิษ 30 คน ในจำนวนนี้เมื่อตรวจวิเคราะห์ด้วยหลักการอาชีวเวชศาสตร์แล้วพบว่า เป็นผลกระทบมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จำนวน 7 ราย ส่วนใหญ่มาด้วยอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตา ระคายผิวหนัง เป็นต้น แต่ยังไม่มีอาการรุนแรง
นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีพบว่าเลือดออกโพรงจมูก หรือมีเลือดกำเดาไหล ตามที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก และระบุว่าเกิดจาก PM 2.5 นั้นเนื่องจากทางแพทย์ไม่ได้เห็นเคสจริง การจะบอกว่า ไม่ได้เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ก็พูดไม่ได้ ถ้าหากประชาชนสงสัยก็เข้ามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยร่วมกัน จึงจะสามารถบอกได้อย่างละเอียดว่า เกิดจากฝุ่น PM 2.5 จริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะมีปัญหาสุขภาพเดิมอยู่แล้ว แล้วฝุ่น PM 2.5 ไปทำให้อาการรุนแรงขึ้น หรือการที่เลือดออกจมูกนั้นอาจจะเกิดจากการล้วง แคะ แกะ เกา จนเกิดแผลหรือไม่ ซึ่งกรณีแม้คนปกติก็เกิดขึ้นได้ แต่มีจำนวนน้อย แต่อีกแง่หนึ่งการมีฝุ่นอาจทำให้ระคายเคือง จึงต้องแคะ แกะ เกา ก็ได้
นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า ผู้ที่เข้ามายังคลินิกมลพิษเป็นเพียงผลกระทบกับสุขภาพระยะสั้นเท่านั้น ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาว ยังเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องให้คำแนะนำกับประชาชน เพราะในทางทฤษฎีแล้วฝุ่น PM 2.5 สามารถก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาได้ ไม่ว่าจะโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือกระทบกับหญิงตั้งครรภ์ หรือมีโอกาสเป็นสารก่อมะเร็งได้ แต่ในทางปฏิบัติเรายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าในรายที่มีเส้นเลือดสมองตีบ ตัน หรือมีการคลอดผิดปกติ หรือมีปัญหากับทารก หรือว่าโรคมะเร็งต่างๆ นั้นเกิดจาก PM 2.5 หรือไม่ ยังพิสูจน์ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีทฤษฎีออกมาก็ต้องเผยแพร่ให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนได้ดูแลตัวเอง
"ปีนี้ไม่เหมือนปีที่แล้วที่ประชาชนสวมหน้ากากเยอะมาก เพราะว่าตกใจกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 แต่วันนี้ปัญหาฝุ่นไม่ได้น้อยลง แต่เขาจะรู้สึกว่ารับมือได้อีกครั้งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้นอย่างที่พบที่คลินิกก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดได้กับทุกคน จึงอาจจะไม่ได้ดูแลใส่ใจสุขภาพเท่าที่ควร” นพ.สมบูรณ์ กล่าวและว่า การดูแลรักษาเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปลายทางเท่านั้น แต่ต้นทางคือจุดกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 คือการเผา การจราจร ต้องได้รับการแก้ไขด้วย ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แต่การปลุกจิตสำนึกให้คนช่วยกันลดฝุ่นนั้นอาจจะได้ผลไม่เร็วนัก ตนมองว่าควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การจับรถที่ปล่อยควันดำ ต้องจับจริงลงโทษจริง โดยประชาชนมือโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือก็ถ่ายคลิปรถควันดำส่งเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดำเนินการเอาผิด พอจับปรับได้แล้วก็ให้รางวัลคนประชาชนที่ส่งหลักฐานด้วย เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ขับรถจะรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจ้องตลอดเวลาก็จะดูแลสภาพเครื่องยนต์ของตัวเองให้เป็นไปตามกฎหมายไม่ปล่อยมลพิษ เป็นต้น