xs
xsm
sm
md
lg

โยนบก จิตร ภูมิศักดิ์ จากเวทีหอประชุมจุฬาฯสลบคาพื้น! คนโยนถูกลงโทษให้เดินลงน้ำ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดนักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ ที่มีผลงานอยู่มาก แม้เขาจะจบชีวิตลงในวัยแค่ ๓๖ ปี ในบรรดาหนังสือที่เขาเขียนไว้ได้รับการยกย่องอยู่ในรายชื่อ “หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน” ถึง ๓ เล่ม และเป็นผู้มีความมุ่งมั่นในอุดมคติอย่างสูง เมื่อเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากอำนาจรัฐ เขาก็เข้าป่าจับปืนต่อสู้ ซึ่งทำให้เขาต้องจบชีวิตลงในวัยหนุ่ม

ชื่อเสียงของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วเมืองในขณะที่เขาเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แค่ปีที่ ๓ ได้ตกเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ และเป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวขานกันมาก เมื่อเขาถูกจับโยนลงจากเวทีในหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระแทกพื้นถึงสลบ

พ. สุวรรณสุภา อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯร่วมสมัยกับจิตร ได้เขียนเล่าไว้ว่า
“ผู้เขียนยังจำวันพุธที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นวันที่จิตถูกโยนบกได้ดี เพราะในขณะนั้นผู้เขียนเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ ๒ และนั่งอยู่แถวหน้าของหอประชุม

วันนั้นเวลาประมาณเที่ยงวัน ทางมหาวิทยาลัยได้เรียกประชุมนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ คน เข้าประชุมพร้อมกัน ณ หอประชุมของมหาวิทยาลัย

ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ เลขาธิการมหาวิทยาลัย เป็นผู้แถลงถึงเหตุที่ต้องระงับการแจกหนังสือ ๒๓ ตุลา ซึ่งจิตเป็นสาราณียกร โดยแถลงว่า จิตรนำเรื่องและบทความ รวมทั้งกาพย์กลอน ที่ไม่เหมาะสมมาลงพิมพ์ อาทิเช่น เรื่องโจมตีพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ บทกลอนเรื่อง “แม่” วิจารณ์เรื่องผู้หญิงที่มีลูกเพราะรักสนุกทางเพศ แล้วไม่รับผิดชอบ เรื่องโจมตีรัฐบาล โดยเอาบทความของชาวต่างประเทศที่เขียนเกี่ยวกัยคอรัปชั่นในวงการข้าราชการไทยมาแปลเผยแพร่ รวมทั้งการที่ไม่พิมพ์ภาพพระบรมรูป ร.๕ ไว้ในเล่มและที่ปก

สรุปแล้ว ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ กล่าวหาว่าหนังสือ ๒๓ ตุลาเล่มนี้ มีบทความและเรื่องที่นำมาลงส่อไปในทาง “เอียงซ้าย” ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย

หลังจากที่ ม.ร.ว.สลับกล่าวจบ นายธวัชชัย ไชยยง นายกสโมสรจุฬาฯได้ขึ้นไปกล่าวเสริมต่อที่ประชุมอีกว่า จิตรเป็นคนทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมัวหมอง โดยการนำเอาสีแดงมาป้าย ต่อจากนั้น นายสีหเดช บุนนาค ประธานเชียร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ขึ้นไปกล่าวสนับสนุนคำพูดของนายกสโมสรอีกว่า จิตรตั้งใจจะทำหนังสือแนวคอมมิวนิสต์ ซึ่งตนเองได้เคยเตือนไปแล้วว่า อย่าเอาพระนามจุฬาลงกรณ์ไปแปดเปื้อน ส่วนใครจะเป็นแดงหรือไม่นั้น ก็ขอให้เรียนให้จบเสียก่อน

จิตรขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมเรื่องปกหนังสือว่า ปกหนังสือที่ไม่ได้ใช้ตราพระเกี้ยว เพราะเห็นว่าจำเจใช้กันมาทุกปี จึงได้ไปขอถ่ายพระราชวลัญจกร สยามินทร์ มาพิมพ์แทน ส่วนเนื้อหาในเล่มก็ได้ไปขอให้ผู้รู้นำของใหม่มาเขียน ไม่ให้ซ้ำซากอยู่กับเรื่องเก่า ซึ่งตรงกับความหมายที่ว่า “แหวกแนว” มิใช่การทำหนังสือคอมมิวนิสต์ การที่เลขาธิการมหาวิทยาลัยนำบางส่วนของเนื้อเรื่องหรือบทความมาอ่าน แล้วกล่าวหาใส่ร้ายนั้น เห็นว่าไม่เป็นธรรม ควรที่จะให้นิสิตได้เห็น ได้อ่านเนื้อหาของหนังสือทั้งหมด เพื่อจะได้วินิจฉัยได้ถูกต้อง ซึ่งเมื่อจิตรกล่าวจบก็ได้มีเสียงปรบมือสนับสนุนจากนิสิตดังสนั่น พร้อมกับเสียงตะโกนให้ตีแผ่หนังสือออกมา

ในขณะที่นิสิตในหอประชุมตะโกนให้ตีแผ่หนังสือ ๒๓ ตุลาออกมานั้น เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อนายสีหเดช บุนนาค ประธานเชียร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ นายศักดิ์ สุทธิพิศาล ผู้แทนคณะวิศวกรรมศาสตร์ กระโดดขึ้นไปบนเวที ตรงเข้าจับแขนจิตรคนละข้าง โดยมีนายชวลิต พรหมานพ เลขานุการคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตามขึ้นใปรวบขาจิต ช่วยกันโยนลงมาจากจากเวทีสูงประมาณ ๕ ฟุต ตกลงมายังพื้นไม้ชั้นล่าง ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของนิสิตหญิง

พอร่างของจิตรตกมาถึงพื้นก็สลบเหมือด พรรคพวกจึงนำส่งโรงพาบาลเลิศสิน บางรัก ทันใดนั้นเสียงตะโกน “ป่าเถื่อน...ป่าเถื่อน” ก็ดังขึ้นกึกก้องห้องประชุม จนเกือบจะเกิดวางมวยกันขึ่นระหว่างนิสิตรักความเป็นธรรมกับฝ่ายปฏิกิริยา ซึ่งต่างก็ฮือกันไปที่หน้าเวทีหอประชุม และจำได้ว่ามีนิสิตหญิงผู้หนึ่งได้ขึ้นไปบนเวที กล่าวถึงการกระทำอันป่าเถื่อนในครั้งนี้

ส่วนจิตรเอง หลังจากที่ได้ฟื้นขึ้นก็ได้แจ้งกับทางโรงพยาบาลว่า “ตกจากที่สูง” และไม่ยอมแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่จับเขาโยนลงมาแต่อย่างใด...”

นอกจากถูก “โยนบก” แล้ว จิตรยังถูกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยร่วมกันพิจารณาโทษสั่งพักการเรียน ๑ ปี ส่วนคู่กรณ๊ที่ช่วยกันจับจิตรโยนลงมายอมรับผิดว่ากระทำไปโดยอารมณ์ ไม่ทันยั้งคิด ก็ได้รับการพิจารณาโทษเหมือนกัน ที่ประชุมลงมติให้จับโยนน้ำตามเทรดดิชั่นของจุฬาฯ แต่เมื่อถึงเวลาลงโทษ กลับให้เดินลงน้ำไปเองไม่มีการโยน

ข่าว “โยนบก” ได้เป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเช้าวันรุ่งขึ้น นักข่าวยังตามขอสัมภาษณ์พลอากาศโทมุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฏ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย แต่ก็ถูกขัดขวางจากนิสิตกลุ่มหนึ่ง ถึงกับแย่งกล้องในมือและใช้ไม้ฟาดนักข่าวจนบาดเจ็บต่อหน้าอธิการบดี ทำให้เกิดข่าวพาดหัวตามมาอีกว่า “รุมสกรัม นสพ.ในจุฬาฯทารุณ ขณะเข้าไปสัมภาษณฺอธิการบดี” “จุฬาป่าเถื่อน เข้าแย่งกล้องนักหนังสือพิมพ์ต่อหน้าอธิการ” “นิสิตเผ่า “ซูลู” อาละวาดคนข่าว”

ส่วน ศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์ ดุษฎีบัณฑิตทางอักษรศาสตร์ ฝ่ายภาษาโบราณตะวันออก ซึ่งได้ทุนเข้ามาค้นคว้าวรรณกรมไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นเวลา ๒ ปี เมื่อครบกำหนดแล้วก็ตัดสินใจอยู่ต่อเพราะหลงรักเมืองไทย หาเลี้ยงตนด้วยการรับจ้างทำงานแปลให้แก่หน่วยงานต่างๆ เคยเป็นที่ปรึกษาหอสมุดแห่งชาติ และเป็นผู้ให้ที่พักอาศัยแก่จิตร ภูมิศักดิ์ระหว่างที่เป็นนิสิตจุฬาฯ ก็ถูกทางการสั่งให้กลับอเมริกาไปด้วย

จิตรได้กลับมาเรียนต่อในปี ๒๔๙๘ จนสำเสร็จรับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิในปี ๒๕๐๐ จากนั้นก็เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และเป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและวิทยาลัยประสานมิตร แต่ก็ถูกเพ่งเล็งติดตามความเคลื่อนไหวจากสันติบาลเป็นประจำ พอถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัฐเป็นนายกรัฐมนตรี จิตรก็ถูกจับในการกวาดล้างใหญ่ในเดือนตุลาคม ๒๕๐๑ ด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์และทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ถูกจำคุกอยู่ถึง ๗ ปีเศษในระหว่างพิจารณาคดี ในที่สุดศาลก็ตัดสินยกฟ้องพ้นข้อหาในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๗ หลังจอมพลสฤษดิ์อสัญกรรม

เมื่อพ้นโทษออกมาไม่นาน จิตรจึงตัดสินใจเดินทางขึ้นเทือกเขาภูพานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ จับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐในนามของ “สหายปรีชา” แต่แล้วในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ขณะที่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร กำลังมีงานบุญพระเวส จิตรได้เข้ามาเพียงคนเดียวเพื่อขออาหารไปให้พรรคพวก จึงถูกกำนันซึ่งเป็นสมาชิกรักษาดินแดนพร้อมกับเหล่าสมาชิก ล้อมยิงเสียชีวิตกลางทุ่งนา

เป็นการจบชีวิตของนักคิดนักเขียนที่มีแนวคิดผิดแผกจากยุคสมัยอย่างน่าเสียดาย

ผู้เขียนมีเรื่องจะขอเล่าต่อจากเรื่องนี้อีกหน่อย ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมจัดทำหนังสือของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๐๐

ทุกปีทางมหาวิทยาลัยจะมีงบประมาณให้แผนกบรรณกรของทุกคณะทำหนังสือแจกภายในคณะ ประมาณ ๕,๐๐๐ หรือ ๖,๐๐๐ บาท แต่ในปีนั้นเป็นปีพิเศษที่จะมีงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่ สุวิทย์ ปิติกาญจน์ บรรรกรคณะนิติศาสตร์ จึงคิดทำหนังสือให้พิเศษกว่าทุกปี เป็นหนังสือปกแข็ง ทั้งยังมีขนาดหนาเป็นพิเศษ เมื่อนำออกแจกก็สร้างความฮือฮาได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทันที นอกจากขนาดแล้ว เนื้อหาของหนังสือยัง “แหวกแนว” ประเภทเดียวกับหนังสือที่จิตร ภูมิศักดิ์ถูกโยนบก ในยามนั้น คนที่คิดไม่เหมือนกับคนที่คิดแบบเก่าๆ ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” หรือเป็น “คอมมิวนิสต์” และมีหลายกลุ่มไปสุมหัวนับหน้าตีราคาค่าพิมพ์กัน ก็ได้ตัวเลขว่าต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเกินกว่าที่มหาวิทยาลัยให้ไปมาก ความสงสัยจึงเกิดขึ้นว่า เงินจำนวนที่เกินนี้มาจากไหน ในที่สุดก็สรุปเอาเองว่า “ต้องมีคอมมิวนิสต์สนับสนุน”

เมื่อรู้ตัวว่าตกเป็นผู้ต้องสัยในเรื่องร้ายแรง แต่พวกเราคณะจัดทำกลับยิ้มอยู่ในใจ แม้ถูกว่าซึ่งหน้าก็ได้แต่ยิ้มให้ ไม่ได้ตอบโต้ใดๆ เพราะก่อนหน้าจะทำหนังสือเล่มนี้ บรรณกรได้พาทีมงานกลุ่มหนึ่งไปขอพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกความประสงค์จะขอร่วมงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษโดยทำหนังสือประจำปีของคณะนิติศาสตร์เป็นพิเศษ และขอความอนุเคราะห์สนับสนุน ท่านอธิการก็ให้เงินมา ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมกับบอกว่า

“คุณจะไปซ้ายไปขวาก็ไปของคุณเลย ผมก็อยากรู้ความคิดของพวกคุณเหมือนกัน แต่ผมขอเอย่างเดียว ขอให้เป็นความคิดของคุณเอง อย่าให้ใครเขาชักนำ”

นี่คือนายกรัฐมนตรีเผด็จการคนหนึ่งของเมืองไทย








กำลังโหลดความคิดเห็น