xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนซ้ำซาก “จุดตัดทางรถไฟมรณะ” ปัญหาเดิมที่ควรจะแก้ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบัติเหตุที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟ เฉกเช่นกรณีล่าสุด ที่สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความสูญเสียอย่างมาก ประเด็นทางกายภาพที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือ “ทางลักผ่าน”


รายงานพิเศษ

เกิดเหตุสลดขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลาประมาณ 09.00 น. วันนี้ (11 ต.ค.) เมื่อรถบัสที่นำคณะทัวร์ประมาณ 60 ชีวิต จากจังหวัดสมุทรปราการ ไปเกิดเหตุชนกับรถไฟขนตู้คอนเทนเนอร์ บนจุดตัดทางรถไฟ ที่บริเวณใกล้สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 20 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก

จากภาพวงจรปิดในขณะชน แสดงให้เห็นว่า จุดที่ชนคือบริเวณช่วงกลางค่อนไปทางท้ายของรถบัส ก่อนที่รถบัสจะหมุน ทำให้ช่วงหน้าวนกลับมาฟาดกับรถไฟอีกรอบ โดยรถบัสทั้งคันขึ้นไปอยู่บนรางรถไฟแล้ว บริเวณจุดตัดที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ส่วนรถไฟที่เป็นรถขนตู้คอนเทนเนอร์ มาจากทางด้านซ้ายของรถบัส

ข่าวจากกู้ภัยยังรายงานว่า รถไฟได้พยายามเปิดหวูดเตือนแล้ว และบริเวณนี้ เป็นจุดตัดที่เรียกว่า “ทางลักผ่าน” มีป้ายสัญญานไฟเตือน แต่ไม่มีไม้กั้น


จากเหตุการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่า ปัญหาอุบัติเหตุที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความสูญเสียอย่างมาก

ที่สำคัญ คือ เราจะพบได้ว่า มีข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับเหตุการณ์เช่นนี้ไม่มากนัก

เหตุการณ์รถไฟชนกับรถบัสครั้งใหญ่ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559 ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ถ้าดูภาพเหตุการณ์เปรียบเทียบกันจะเห็นได้ชัดว่า รูปแบบการเกิดเหตุมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก คือ รถบัส ขึ้นไปอยู่บนทางรถไฟทั้งคันแล้ว และรถไฟมาจากทางฝั่งซ้ายของรถบัส รถไฟบอกว่าเปิดหวูดเตือนแล้วก่อนจะชนเหมือนกัน จุดที่เกิดเหตุ มีป้ายเตือน แต่ไม่มีไม้กั้นเช่นเดียวกัน

ซึ่งในเหตุการณ์ที่จังหวัดนครปฐม เมื่อปี 2559 มีการพิสูจน์พบว่า ขณะอยู่ในรถบัส จะไม่ค่อยได้เสียงหวูดจากรถไฟ

และที่สำคัญที่สุด คือ หากมองแทนสายตาของคนขับรถบัสในจังหวะที่กำลังจะข้ามทางรถไฟ จะพบว่า “มองไม่เห็นรถไฟ” เพราะมีตู้ควบคุมตั้งไว้บังสายตา และพื้นที่นั้นมีหญ้าขึ้นสูงรกทึบ จนบดบังทัศนวิสัย ทำให้มองไม่เห็นรถไฟจากฝั่งซ้าย จนกว่าจะขยับขึ้นไปอยู่บนรางรถไฟ

แต่ข้อมูลเรื่องทัศนวิสัยในเหตุการณ์ล่าสุดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา คงต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป


ส่วนประเด็นปัญหาทางกายภาพที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ “ทางลักผ่าน” ซึ่งหมายถึงทางที่เป็นจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ จากการเจริญเติบโตของชุมชน ความจำเป็นต้องใช้เส้นทางสัญจรเพิ่มมากขึ้น

แม้หลายจุดที่พยายามติดป้ายสัญญาณเตือนและพยายามปรับปรุงกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่การเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ก็ทำให้กลายเป็นจุดตัดทางรถไฟที่ไม่มีไม้กั้น เพราะจุดตัดเช่นนี้มีหลายร้อยจุดทั่วประเทศ และการทำไม้กั้นหนึ่งจุดต้องใช้เงินถึงประมาณ 4 ล้านบาทต่อ 1 จุด

มาดูในมุมปัญหาของรถบัสกันบ้าง นพ.ธนพงษ์ จิณวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน ตั้งข้อสังเกตว่า รถบัสคันที่เกิดเหตุ เป็นรถบัสที่จะเดินทางไปทำบุญ ออกจากจังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่เช้ามืด ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงออกพรรษา และมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว

จึงมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รถบัสคันนี้มีผู้โดยสารมากกว่า 60 คน น่าจะเข้าข่ายบรรทุกเกิน ซึ่งส่งผลให้ผู้โดยสารไม่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้ทุกคน และทำให้ความเสียหายรุนแรงขึ้น โดยสังเกจได้จากการมีผู้เสียชีวิตเพราะกระเด็นออกมานอกรถ


ประเด็นต่อมา ช่วงที่เวลาที่เกิดเหตุ คือประมาณ 09.00 น. ทำให้ นพ.ธนพงษ์ มองว่า รถคันนี้น่าจะออกเดินทางจากต้นทาง คือ จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เช้ามืด หากเป็นรถที่เหมามาจากต่างจังหวัด หมายถึง คนขับ จะต้องขับรถมาตั้งแต่ค่ำ อาจพักผ่อนไม่เพียงพอ

ส่วนประเด็นเรื่องจุดตัดทางรถไฟ นพ.ธนพงษ์ ตั้งข้อสังเกตโดยให้ความสำคัญกับสภาพพื้นที่ ที่พบว่า จุดเกิดเหตุมีลักษณะเป็นทางคู่ ซึ่งมีจุดอ่อนที่ทัศนวิสัยการมองเห็น

จึงมีข้อเสนอว่า ทุกจุดตัดทางรถไฟที่เป็นลักษณะทางคู่ จำเป็นจะต้องทำให้เป็นจุดที่มีไม้กั้น มึควรปล่อยให้ต้องฝากชีวิตผู้โดยสารไว้กับความสามารถในการมองเห็นของคนขับ
กำลังโหลดความคิดเห็น