เมื่อปี ๒๕๔๒ กองกำลังติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงนับถือศาสนาคริสต์กลุ่มหนึ่ง ได้สร้างข่าวดังสนั่นในเมืองไทยและดังไปทั่วโลก เมื่อเข้ายึดสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ โดยมีเด็กฝาแฝดอายุเพียง ๑๒ ขวบคู่หนึ่งซึ่งถือได้ว่ายังไร้เดียงสาที่จะเป็นนักรบ เป็นหัวหน้าขบวนการ ตามความเชื่อของชาวคริสต์กลุ่มนี้ว่าเป็นผู้ถือสารมาจากพระเจ้า กระสุนปืนและระเบิดไม่สามารทำอันตรายได้
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ในเวลา ๑๑.๔๕ น. นักศึกษาพม่าจำนวน ๑๒ คนพร้อมอาวุธปืนและระเบิด บุกเข้าไปที่สถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทร จับเจ้าหน้าที่สถานทูตและผู้มาติดต่อเป็นตัวประกันรวม ๒๐ คน แล้วชักธงชาติพม่าลงจากยอดเสา ชักธงของพรรคสันนิบาติเพื่อประชาธิปไตยขึ้นแทน
ต่อมาตำรวจได้จับนักศึกษาพม่าที่เกร่อยู่หน้าสถานทูตมาสอบสวน และเจรจากับกลุ่มนักศึกษาที่ยึดสถานทูตขอให้ปล่อยตัวประกัน จึงทราบว่านักศึกษาพม่ากลุ่มนี้มี นายจอห์นนี่ เป็นหัวหน้า ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี ๒๕๓๓ แต่ถูกควบคุมตัวอยู่ ทางฝ่ายรัฐบาลไทย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาสั่งการ
การเจรจาไม่เป็นผล แต่ก็มีตัวประกันหลบหนีออกมาจากสถานทูตได้เรื่อยๆ จนเหลือเพียง ๕ คน ประมาณ ๑๕.๐๐ น.นายจอห์นนี่ได้ต่อรองขอเฮลิคอปเตอร์ให้ไปส่งตนและพวกที่ชายแดนพม่าด้านจังหวัดราชบุรี ทางรัฐบาลไทยตอบรับเงื่อนไข โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ เสนอตัวจะนั่ง ฮ.ไปด้วย เพื่อเป็นตัวประกันรับรองความปลอดภัยจนถึงที่หมาย และปิดถนนตามเส้นทางที่นำนักศึกษาพม่าออกจากสถานทูตไปขึ้น ฮ. ที่โรงเรียนเตรียมทหาร นำไปสู่จุดหมายได้เรียบร้อย โดยใช้เวลาในเหตุการณ์นี้จากเริ่มต้นจนสิ้นสุดลงภายใน ๒๕ ชั่วโมง
หลังจากนั้น สื่อมวลชนทั้งหลายต่างขุดคุ้ยเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุกรณ์นี้อย่างกว้างขวาง ทำให้ทราบว่านักศึกษาพม่ากลุ่มนี้ได้ลี้ภัยจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่าเมื่อปี ๒๕๓๓ มาพักอยู่ที่ศูนย์มณีลอย ค่ายอพยพในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบรี ต่อมาได้ไปร่วมกับกองกำลัง “ก็อดอาร์มี่” หรือ “กองกำลังของพระเจ้า” ซึ่งเป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่า ตั้งฐานอยู่ที่หมู่บ้านกำมะปลอในเขตพม่า ติดชายแดนไทยด้านเขากระโจมในอำเภอสวนผึ้ง มีผู้นำเป็นเด็กชายอายุแค่ ๑๐ ขวบลิ้นดำ ชื่อ จอปาซูปรี เป็นหัวหน้า แต่ต่อมาจอปาซูปรีได้เสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจ จึงให้ฝาแฝดคู่หนึ่งมีอายุเพียง ๑๒ ปี ชื่อว่า อาเธอร์ ทู และ จอห์นนี่ ทู แม้ลิ้นไม่ดำ ขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนเด็กลิ้นดำ เมื่อเข้าปะทะกับกองทหารพม่าที่มาปราบปราม ก็จะให้เด็กแฝดทั้ง ๒ ถือปืนเอ็ม ๑๖ ขี่คอนำหน้าไปรบ
ต่อมาอีกเพียง ๓ เดือนกว่าจากยึดสถานทูตพม่า และหลังจากหมู่บ้านกำมะปลอถูกทหารพม่าถล่ม นักศึกษาพม่า ๘ คน นำโดย นายเบดาห์ หรือ ปรีดา ร่วมกับกองกำลังก๊อดอาร์มี่อีก ๒ คน รวมเป็น ๑๐ คน ปลอมเป็นผู้โดยสารรถประจำทางสายสวนผึ้ง-ราชบุรี แล้วใช้ปืนเอ็ม ๑๖ กับระเบิดมือบังคับคนขับให้ไปที่โรงพยาบาลราชบุรี เข้ายึดโรงพยาบาล จับแพทย์ พยาบาล และคนไข้กว่า ๕๐๐ คนเป็นตัวประกัน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจะเข้าไปช่วยตัวประกันก็ไม่อาจเข้าไปได้ เพราะผู้ก่อการได้วางระเบิดไว้รอบด้าน จึงเปิดการเจรจา กลุ่มผู้ก่อการว่าต้องการแพทย์พยาบาลไปรักษาทหารกะเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บจากการปราบปรามของทหารพม่า การเจรจาผ่านไปเกือบ ๒๐ ชั่วโมงก็ยังไม่เป็นผล ผู้ก่อการจึงขอเฮลิคอปเตอร์ ๒ ลำให้พาเขาไปส่งที่ชายแดนด้านอำเภอสวนผึ้ง
เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเห็นว่า ไม่อาจปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายใช้วิธีนี้อีก ซึ่งอาจจะเกิดครั้งต่อๆไปได้ จึงต้องการจะจัดการโดยเด็ดขาด
ในเวลา ๐๔.๐๐ น.ของวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๓ กองกำลังผสมของหน่วยนเรศวร ๒๖๑ กับหน่วยอรินทราช ๒๖ จำนวน ๕๐ นายได้บุกเข้าไปช่วยเหลือตัวประกันทั้งหมดอย่างปลอดภัย ส่วนกลุ่มผู้ก่อการทั้ง ๑๐ คนเสียชีวิตทั้งหมด
หลังเหตุการณ์สงบ สื่อมวลชนหลายสำนักได้ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ทำเกินเหตุไปหรือไม่ ในเมื่อผู้ก่อการทั้งหมดได้ยอมแพ้แล้ว ก็ยังถูกสังหารเรียบ
พล.อ.สุรยุทธิ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้บัญชาการในเรื่องนี้ได้ชี้แจงว่า
“ยืนยันว่าไม่มีการจำนน ไม่มีใครบอกว่ายอมจำนนในตอนนั้น ช่วงนั้นก็ถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้วในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ช่วงที่ตัดสินใจว่าให้ใช้กำลังก็ประมาณตี ๑-ตี ๒ ที่คิดว่าต้องใช้กำลังเพราะว่า หนึ่ง เราต่อรองกันมานานแล้ว และทั้งหมดก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะอ่อนข้อลงมาเลย ประการที่สอง ถ้าหากรอให้ถึงเช้าวันรุ่งขึ้นการใช้กำลังเข้าไปจู่โจมก็จะทำไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้คนที่บาดเจ็บ หมอ พยาบาล ก็ผ่านเหตุการณ์มา ๒๔ ชั่วโมงแล้ว เขาจะเป็นยังไง ผอ.โรงพยาบาลที่อยู่ด้วยกันในตอนนั้น ก็ยังบอกว่า ช่วยเถอะ…ช่วยทำเถอะ เพราะคนที่ตกเป็นตัวประกันนั้น แย่หมดแล้ว”
“หากจะถามว่าบาปไม่บาป ก็ต้องยอมรับบาป แต่นั่นก็คือบาปที่ทหารต้องยอมรับ เราในฐานะที่เป็นผู้บังคับการเหตุการณ์ก็ต้องทำใจว่านั่นคือบาปที่เราต้องยอมรับ แต่ก็เป็นการทำเพื่อบ้านเมือง เราไม่ได้ทำเพื่อคนหนึ่งคนใด แต่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่ที่เขาไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แต่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องยอมบาป ด้วยการใช้กำลังเข้าดำเนินการ”
ส่วนนายชวน หลีกภัย ที่ไปดูแลเหตุการณ์ด้วย ก็ต้องทำบุญใส่บาตร อุทิศส่วนกุศลไปให้
หลังจากนั้น กองกำลังทหารพม่าก็เข้าปราบปรามหมู่บ้านกำมะปลอ และเผาทุกหลังคาเรือนจนไม่มีเหลือ เป็นการปิดฉากกองกำลังก๊อดอาร์มี่
ต่อมาในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ ลูเธอร์และจอห์นนี่คูแฝด พร้อมกับกองกำลังอีก ๕๕ คนก็เข้ามอบตัวต่อทางการไทย ถูกส่งตัวไปอยู่ค่ายอพยพที่บ้านต้นยาง ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ต่อมาลูเธอร์ได้ลี้ภัยไปอยู่ประเทศสวีเดนเมื่ออายุ ๒๑ ยอมรับว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุขเหมือนบ้านเกิด จึงได้กลับมาอยู่พม่าเมื่อวัย ๒๗ ปี ตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านประวัตศาสตร์ให้เด็กกะเหรี่ยง และแต่งงานกับสาวกะเหรี่ยง เป็นคุณพ่อลูกแฝดหญิงทั้งคู่ไปแล้ว
ส่วนจอห์นนี่ มอบตัวต่อรัฐบาลพม่า เข้าทำงานในหน่วยเกี่ยวกับความมั่นคง แต่งงานมีลูก ใช้ชีวิตอยู่ที่ทวาย และติดต่อไปมาหาสู่กับพี่ชายเป็นประจำ ส่วนแม่ของแฝดทั้งสอง ลี้ภัยไปอยู่นิวซีแลนด์
นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของมนุษยชาติ ที่คนกลุ่มหนึ่งถูกบีบคั้นจนไม่สามารถหาทางออกให้ชีวิตได้ ต้องดิ้นรนไปตามกำลัง จนทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อนไปด้วย แต่ก็ได้รับความเห็นใจจากคนอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน